POLITICS

นายกฯ ย้ำ รับฟังทุกความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ ยัน ต้องกล้าเหมือนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ

นายกฯ ปาถกฐาพิเศษ พร้อมขยายโอกาส ทำคนไทย-ประเทศ มีอนาคตที่ดี ย้ำ รับฟังทุกความเห็นโครงการแลนด์บริดจ์ ยัน ต้องกล้าทำแลนด์บริดจ์ เหมือนสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ เพื่อความก้าวหน้า เผยข่าวดี ลงนามฟรีวีซ่าไทย-จีน 26 ม.ค.นี้ พร้อมผลักดัน E-Government ร่นเวลาติดต่อราชการ-ลดการสูญเสียโอกาส

วันนี้ (24 ม.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ขึ้นกล่าวปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา “Thailand 2024 The Great Challenge เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย ขยายโอกาส” ซึ่งจัดขึ้นโดย บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ ถนนรางน้ำ เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร

สำหรับงานดังกล่าว มีนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.นิพัทธ์ ทองเล็ก ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี และอดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม น.ส.พิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และนายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เข้าร่วมสัมมนา

นายเศรษฐา กล่าวเปิดปาฐกถาว่า ตนอยากเน้นเรื่องการขยายโอกาสให้คนไทยทุกคนว่าอีก 4 ปีข้างหน้าเราจะเห็นอะไรบ้าง หากพูดถึงเรื่องการขยายโอกาส ต้องพูดถึงเรื่องการลงทุน เมื่อมองไปอีก 20-30 ปีข้างหน้า ตนไม่อยากให้กลับมาพูดว่า “รู้งี้ เราน่าจะทำเช่นนั้นเช่นนี้” หากต้องรอให้ทุกอย่างรอบรู้หมด เชื่อว่ามีรายจ่ายที่ต้องใช้ ซึ่งรายจ่ายและต้นทุนที่สูงขึ้นจะเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เราต้องเสียโอกาส

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาตนได้เข้าร่วมการประชุม World Economic Forum (WEF) ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งประเทศไทยไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีไปเลยในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ได้ไปพบกับผู้นำประเทศต่าง ๆ ผู้นำด้านธุรกิจ และผู้นำองค์กรที่มีชื่อเสียงระดับโลก โดยการประชุมพูดถึงเรื่องการลงทุนพื้นฐาน ซึ่งประเด็นที่เลี่ยงไม่ได้ที่ต้องพูดถึง คือ ‘โครงการแลนด์บริดจ์’ ที่มีทั้งผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย รัฐบาลรับฟังทุกข้อท้วงติง มีการศึกษาอย่างเป็นธรรมโดยองค์กรอิสระไม่มีการไปก้าวก่าย เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชน ซึ่งการไปพูดคุยครั้งนั้นมีนักลงทุนหลายราย ไม่ว่าจะมาจากประเทศอินโดนีเซีย ดูไบ ที่สนใจและพร้อมมาพูดคุย มาดูสถานที่จริง

นายเศรษฐา กล่าวว่า เมื่อวานนี้ (23 ม.ค. 67) ตนได้ลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็น ยืนยันว่ารัฐบาลรับฟังทุกเรื่อง ทุกครั้งที่รับฟังเรื่องแลนด์บริดจ์ หลายคนไม่ทราบว่าองค์ประกอบต่าง ๆ มีอะไรบ้าง จะรู้คร่าว ๆ แต่การจะใช้งบประมาณลงทุนน้อยที่สุด ให้คนมาลงทุนที่นี่ ไม่ใช่ว่าเราจะรับฟังแค่ความคิดเห็นของประชาชนเท่านั้น แต่ต้องรับฟังความคิดเห็นของนักลงทุนด้วย เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องมาไตร่ตรอง เรายังไม่ทราบว่าจะมีท่อส่งน้ำมันหรือไม่ แต่เราก็เปิดกว้างว่าอาจจะเป็นธุรกิจหนึ่งที่ให้นักลงทุนมาลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ฉะนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ยังต้องพูดคุยกันอีกเยอะ ต้องใช้เวลา และคิดว่าน่าจะต้องใช้เวลาอีกประมาณ 10 กว่าปีจึงจะเสร็จ อยากให้มองเหมือนเรื่องสนามบินสุวรรณภูมิ

“อยากฝากไว้ว่า ให้มองไปด้านหน้าว่าหากไม่เริ่มต้นวันนี้ โอกาสในอนาคตที่จะเกิดขึ้นก็จะเสียไป และเรื่อง GO Politics ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนใหญ่ๆ เช่นนี้ ประเทศไทยยืนยันว่าจุดยืนด้านการต่างประเทศ เราเป็นกลางตลอด เราไม่เป็น Parties of conflict กับประเทศใด ๆ ไม่ว่าจะมหาอำนาจระหว่างสหรัฐอเมริกาหรือประเทศจีนก็ตาม หรืออินเดียที่กำลังขยับเข้ามาเป็นมหาอำนาจอีกประเทศ เชื่อว่าโครงการเมกะโปรเจ็กต์ที่เรากำลังทำขึ้นมา แสดงชัดเจนว่าเราเป็นมิตรกับทุกประเทศ เรายินดีร่วมทำธุรกรรมกับหลายประเทศ การที่เรามีเมกะโปรเจ็กต์ระดับโลกตั้งอยู่ในประเทศ เราสามารถสร้างอำนาจต่อรองให้กับทุกประเทศ ตราบใดที่เรายังเป็นคนคอนโทรลทั้งหมด ทุกประเทศก็อยากเข้ามา” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า เรื่องการทำสนธิสัญญาการค้าระหว่างประเทศ (FTA) ที่นายปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เริ่มทำ ถือเป็นการเริ่มต้นที่จะนำประเทศไทยไปทัดเทียมกับต่างประเทศ ดึงนักลงทุนกลับเข้ามา นอกจากนี้ การทำธุรกิจของเราหรือปัญหาที่เกิดขึ้นที่มีขั้นตอนเยอะ เช่น ประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีการทำวิจัยเรื่องยารักษาโรคใหม่ ๆ และอยากใช้ประเทศไทยเป็นตลาดสินค้า แต่ต้องผ่าน อย. ถือเป็นอีกเรื่องที่รัฐบาลต้องให้ความสำคัญ ซึ่งเมื่อการประชุม WEF จบลง ตนคิดว่าปีหน้าต้องไปอีก โดยต้องเชิญรัฐมนตรีอีกหลายคนที่เกี่ยวข้องไปด้วย เชื่อว่าจะสร้างความเชื่อมั่นให้ไทยเป็นที่น่าสนใจอย่างแน่นอน

นายเศรษฐา กล่าวอีกว่า นโยบายหลักของประเทศไทย คือ การท่องเที่ยว มีหลายมิติที่เกี่ยวข้อง สิ่งที่ทำได้ก็ทำก่อน อย่าง ‘นโยบายวีซ่าฟรี’ ก็เริ่มใช้แล้วในหลายประเทศ โดยตั้งแต่วันศุกร์นี้ (26 ม.ค. 67) จะมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศของประเทศจีน มาเซ็นเอกสารให้เป็นถาวรทั้ง 2 ประเทศ ทั้งเราให้เขา และเขาให้เราด้วย นอกจากนี้ ตนได้เจอกับประธานสภาฯ อียู และประธานาธิบดีของเบลเยียม โดยพูดคุยถึงเรื่องวีซ่าเพื่อให้เข้าออกฟรีทั้งสองประเทศเช่นกัน

ทั้งนี้ จะมีการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Aviation Asian Hub ยกระดับตั้งแต่สายการบิน การเข้าเมือง การขนส่งกระเป๋า จัดการบินใหม่ ขยายสนามบินในเมืองรอง หรือเพิ่มสนามบินในเมืองหลัก ซึ่งการที่เราต้องการยกระดับประเทศไทยให้เป็น Aviation Asian Hub นั้น เป็นเรื่องที่เราต้องทำ ไม่เช่นนั้นจะไปสู่จุดศูนย์กลางไม่ได้

“ผมกลับมานั่งคิดว่าทำไมอยู่ดี ๆ ประธานาธิบดีเวียดนามถึงมาเสนอยกของดีให้เรา แต่เมื่อกลับมานั่งคิดดี ๆ ก็รู้ว่าไม่มีอะไรฟรี ๆ ในโลก เพราะแอร์ไลน์ที่ขยายตัวเร็วที่สุดที่เป็น Local แอร์ไลน์คือเวียดเจ็ต หากเราทำให้เราเป็นศูนย์กลางได้ เขาก็สามารถใช้ประเทศไทยเป็นฮับและขยายตัวเร็ว ไปเมืองรองต่าง ๆ ได้ นี่ถือเป็นการอยู่ร่วมกัน มีผลประโยชน์ร่วมกัน” นายเศรษฐา กล่าว

นายเศรษฐา หยิบยกกรณีสนามบินหนองงูเห่า หรือสนามบินสุวรรณภูมิ มาเปรียบเทียบกับโครงการแลนด์บริจด์ ถ้าไม่กล้าสร้างกล้าลงทุนเมื่อกว่า 20 ปี ทุกวันนี้ต้องพึ่งสนามบินดอนเมืองสนามบินเดียว การมีรัฐบาลที่เห็นโอกาส ต้องลงมือทำด้วย การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ต้องพูดคุยกันในทุกมิติให้ดี เรื่องของโอกาสเป็นสิ่งสำคัญ ไม่อยากให้เสียโอกาสอีก

นายเศรษฐา กล่าวว่า โอกาสข้างหน้าเราต้องพึ่งคนที่มีอายุน้อย ซึ่งปัจจุบันมีปัญหาในสังคมจำนวนมาก หนึ่งในนั้นคือยาเสพติดที่บั่นทอนสังคมมายาวนาน และไตรมาส 4 ปีที่แล้ว ไตรมาสเดียวสามารถจับยาบ้าได้มากกว่าปีก่อนหน้านั้นทั้งปี เราตัดซัพพลายได้มาก แต่ราคาต่อเม็ดก็ยังไม่ขึ้น แสดงว่ามีการรั่วไหลเข้ามาอีกเยอะ เข้ามาทางเมียนมา ซึ่งตนพูดคุยถึงปัญหานี้กับหน่วยงานในภาคเหนือ แต่กลับไปโผล่ที่ จ.กาญจนบุรี แทน สิ่งสำคัญคือความแข็งแรงของสถาบันครอบครัว ผู้ป่วยแทนที่จะเป็นผู้ผิด นำมาอบรมสร้างอาชีพคืนเขาสู่อ้อมกอดของครอบครัว มีการติดตามจากกระทรวงสาธารณสุข

นายเศรษฐา กล่าวต่อว่า สาธารณสุขก็เป็นเรื่องสำคัญ ในเรื่องของ อย. หากย้อนไป 20 ปีที่ผ่านมา โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค มีวลีที่ไม่น่าฟังเยอะ แต่เชื่อว่าหลายคนได้รับประโยชน์ และชื่นชมกับนโยบายนี้เยอะ หากไม่กล้าลงทุน ประชาชนอาจต้องใช้เงินรักษาจำนวนมหาศาล รัฐบาลจึงต้องยกระดับโครงการขึ้นมา ต้องรอดูว่าจะทำอย่างไรกันต่อไป จะมีการพูดคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้การทำธุรกิจดีขึ้น ทั้งการลงทุนจากต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ยาก็ต้องรักษาไว้ เช่น มีสินค้าหลายประเภทที่ต้องผ่าน อย.อยู่ ทำให้การนำเข้าสินค้าหรือการผลิต ผลประโยชน์ที่ควรได้ก็ถูกยืดระยะเวลาออกไป รัฐบาลจะดูว่าสินค้าที่ถูกควบคุมโดย อย. จะนำออกจากรายการบ้างหรือไม่ หรือหาก อย. ต่างประเทศเข้ามาแล้ว จะสามารถลดขั้นตอนได้บ้างหรือไม่

สำหรับเรื่อง E-Government ที่จะนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ก็เป็นเรื่องสำคัญ เพราะประชาชนที่มีมากขึ้น Volume of business ที่เข้ามาในหน่วยงานรัฐก็เพิ่มมากขึ้น ทำให้การดูแลประชาชนมีปัญหา เสียเวลาหลายชั่วโมงในการติดต่อราชการ ต้องศึกษาการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบคลาวด์ ที่จะช่วยให้ระบบการทำงานรวดเร็วขึ้น ซึ่งรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะทำงาน นำโดย ศาตราจารย์พิเศษธงทอง จันทรางศุ จะมีประโยชน์อะไรหากลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแสนล้าน แล้วต้องเสียเวลาในกระบวนการต่าง ๆ เราอย่าดูแค่การลงทุนอย่างเดียว วิธีการลงทุนต่าง ๆ ก็สำคัญ

เรื่องของพลังงานสะอาด เป็นอีกจุดแข็งของประเทศไทย ประเทศไทยมีพลังงานไฟฟ้าที่มาจากเขื่อน แต่ใครจะรู้บ้างว่าเขื่อนเป็นกำลังสำคัญที่จะสร้างพลังงานสะอาด เพราะสามารถสร้าง Floating solar ขึ้นมาเหนือเขื่อนได้ จึงเป็นเรื่องดี เพราะจะได้เปรียบคู่แข่งต่างชาติ อย่างเวียดนาม และอินโดนีเซีย ขณะเดียวกันก็จะพยายามทำราคาค่าไฟฟ้าให้ดีด้วย เพื่อดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในประเทศ

ด้ารการเกษตร การสร้างโอกาสให้เกษตรกรไทยเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งการให้องค์ความรู้ เพื่อสนองกับนโยบายเพิ่มรายได้สามเท่าภายใน 4 ปี สังคมไทยมีการจัดหลักสูตรสัมมนากันมาก เป็นเรื่องที่ดีหากทำให้ถูกต้อง ตนได้รับเชิญจากสถาบันรวมมิตรไปกล่าวปาฐกถา ซึ่งตนขอให้นักเรียนเหล่านั้นลงพื้นที่ไปกับตน เริ่มต้นจากโครงการพระราชดำริในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อดูว่าโครงการเหล่านี้ดำเนินการอะไรบ้าง หากสามารถนำสินค้าในโครงการพระราชดำริ หรือความฝันของชาวบ้าน ไปลงขายในห้างระดับโลกได้ ตนถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

นายเศรษฐา กล่าวทิ้งท้ายว่า เรื่องที่กล่าวมาทั้งหมด เชื่อว่าหลายคนทราบดีอยู่แล้วว่าเรามีความตั้งใจจริงที่จะทำ แต่ปัญหาอุปสรรคก็มีเยอะ ต้องค่อยเป็นค่อยไป ส่วนเรื่อง Illegal, Unreported and Unregulated Fishing (IUU Fishing) หรือการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม ถูกปลดล็อกไปแล้วส่วนหนึ่ง สินค้าเกษตรก็เริ่มมีราคาสูงขึ้น เกิดจากการที่รัฐมนตรีทุกคนลงพื้นที่จริง ทำงานจริง เรื่องราคาสินค้าเกษตรเป็นเรื่องสำคัญ เราพยายามหลีกเลี่ยงการเข้าไปแทรกแซง หรือการเข้าไปสงเคราะห์เงิน อยากให้เกษตรกรมีความภาคภูมิที่สินค้ามีราคาดี รายได้ดี โดยไม่ต้องพึ่งรัฐบาล แต่เป็นที่รัฐบาลสร้างโอกาสให้กับทุกคน

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าความท้าทายในปัจจุบัน มีหลายเรื่องที่ยังไม่ได้พูด ทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญ สิทธิในการเลือกเพศสภาพ เชื่อว่ารัฐบาลให้ความสำคัญ กฎหมายหลายฉบับก็เริ่มผ่านบ้างแล้ว เรามีความตั้งใจจริง อยากเห็นชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น การสร้างโอกาสต่าง ๆ ที่พูดไป เชื่อว่าจะเป็นการสร้างฐานรากที่ดี ให้ประเทศไทยต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว และส่งต่ออนาคตที่ดีกว่าให้ลูกหลานทุกคน

Related Posts

Send this to a friend