‘ถวิล’ วอน อัยการยื่นอุทธรณ์คดี ’ยิ่งลักษณ์‘ หวังให้คดีดำเนินไปถึงที่สุด
‘ถวิล’ วอน อัยการยื่นอุทธรณ์คดี ’ยิ่งลักษณ์‘ หลังศาลฯ พิพากษายกฟ้อง ย้ำชัดไม่ได้โกรธแค้นส่วนตัว แต่หวังให้คดีนี้ดำเนินไปถึงที่สุด
วันนี้ (24 ม.ค. 67) ที่อาคารรัฐสภา นายถวิล เปลี่ยนศรี สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แถลงยื่นจดหมายด่วนที่สุด ถึงอัยการสูงสุด ลงเมื่อวันที่ 23 มกราคม 2567 เพื่อขอให้อัยการสูงสุด ทำการยื่นอุทธรณ์คดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง กรณีศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) แม้ทางศาลฎีกายกฟ้อง แต่คดีนี้ยังไม่ถึงที่สุด เพราะว่าตามกฎหมายยังสามารถที่จะอุทธรณ์ได้ และเนื่องจากอัยการเป็นผู้ฟ้องในคดีนี้ หน้าที่ในการที่ยื่นอุทธรณ์จึงอยู่ที่อัยการตามกฎหมาย ยืนยันว่าไม่ได้ต้องการจะเอาชนะ หรือเจ็บแค้นอะไรต่าง ๆ เป็นการส่วนตัว แต่เมื่อกฎหมายเปิดให้คดีนี้ไปถึงที่สุดได้ จึงอยากให้คดีนี้ไปถึงที่สุด และควรจะยื่นอุทธรณ์เพื่อให้สิ้นสุดความสงสัยว่า คดีนี้จะไปจบตรงไหน
นายถวิล กล่าวว่าตนเองเปรียบเหมือนนักมวย เพราะไม่ได้ไปฟ้องเอง แต่เป็นผู้เสียหายในคดี ส่วนอัยการเปรียบเทียบก็เหมือนโปรโมเตอร์ การแพ้ในครั้งแรกก็อยากจะแก้มือ แต่นายถวิลขอแก้มือเองไม่ได้ เพราะคนที่จะทำให้ไปแก้มือได้ในชั้นศาลฎีกาแผนกคดี และนักการเมืองในชั้นอุทธรณ์ก็คืออัยการ และจากเมื่อวานนี้ก็ได้ไปยื่นเรื่องเรียบร้อยแล้ว หวังว่าทางสำนักงานอัยการสูงสุด จะเห็นถึงความสำคัญในเรื่องนี้ไม่ปล่อยให้คดีนี้จบไปในชั้นต้น ในขณะที่ยังมีความสงสัยกันอยู่ พร้อมเดินหน้าจะเดินทางเข้ายื่นเรื่องต่อคณะกรรมการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.) โดยให้ช่วยประสานงานกับทางสำนักงานอัยการสูงสุด เพื่อให้เรื่องนี้ดำเนินการถึงที่สุด
ด้าน ดร.สมชาย แสวงการ สมาชิกวุฒิสภา กล่าวว่า เรื่องนี้ยังไม่สิ้นสุด แต่อำนาจหน้าที่เป็นของอัยการสูงสุด ถือเป็นหนึ่งในความสำคัญของการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม คือได้รับความยุติธรรม และด้านนายถวิลไม่ได้รับความยุติธรรมตั้งแต่ต้นในการถูกโยกย้าย แม้ศาลจะตัดสินแล้วก็ตาม ฉะนั้นอัยการสูงสุดมีหน้าที่และอำนาจในการที่ตรวจสอบ ส่วนความยุติธรรมล่าช้า คือความไม่ยุติธรรม จึงอยากฝากเรื่องนี้ไปยังอัยการสูงสุด ซึ่งเห็นว่าเป็นส่วนสำคัญการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบตั้งแต่ศาลอัยการ ตำรวจราชทัณฑ์ และในวันนี้ก็มีความสั่นคลอนมากในประเทศไทย ในเรื่องกระบวนการยุติธรรมทั้งระบบที่มีความเสื่อมศรัทธา ดร.สมชาย กล่าวว่า ไม่อยากเห็นองค์กรอัยการถูกกล่าวหาจากการไม่อุทธรณ์คดี และอยากให้ช่วยอนุเคราะห์ทำหน้าที่ให้เต็มกำลังในการยื่นอุทธรณ์ ส่วนศาลจะตัดสินอย่างไรคิดว่า มองว่าทุกคนรับได้ แต่อย่าตัดตอนกระบวนการยุติธรรมด้วยการไม่อุทธรณ์