พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง ส.ส.และเลขาธิการพรรคประชาชาติ ในฐานะกรรมาธิการ (กมธ.) ศึกษาและพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับเพิ่มเติม ร่วมเสวนา เรื่อง “สสร. กับก้าวต่อไปในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ” ที่จัดโดยคณะรณรงค์เพื่อรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน (ครช.) และองค์กรเครือข่าย ที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ วิทยาเขตท่าพระจันทร์ โดยมีผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย รศ.ดร. อนุสรณ์ อุณโณ ประธานครช., นายนิกร จำนง เลขานุการ กมธ., นายพนัส ทัศนียานนท์ นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ และนายคํานูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ กมธ.
พันตำรวจเอก ทวี สอดส่อง กล่าวในระหว่างการเสวนาว่า ประเด็นการเสวนาว่า วันนี้เป็นวันรัฐธรรมนูญ หลังจากคณะราษฏรยึดอำนาจโดยคณะราษฎร ประมาณ 5 เดือนมีการจัดทำรัฐธรรมนูญเสร็จในวันที่ 10 ธันวาคม 2457 จึงกำหนดเป็นวันรัฐธรรมนูญ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ จาก ‘รัฐสมบูรณาญาสิทธิราช’ เป็น ‘รัฐราษฎร ‘ แต่ผมจะชอบพูดว่า ‘รัฐประชาชาติ ชาติหมายถึงประชาชน’ ที่หมายถึงประชาชนพลเมืองของประเทศทุกคน การเกิดรัฐธรรมนูญทำให้เกิดชุมชนใหม่ที่มาจากราษฎร ชุมชนที่หนึ่งคือ ‘คณะรัฐมนตรี’ ซึ่งเดิมอาจจะมาโดยรัฐสมบูรณาญาสิทธิราช แต่คณะรัฐมนตรีใหม่มีโอกาสมาจากราษฎรสามารถเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐมนตรีที่มาจากชาวบ้านชุมชน ที่สองคือ ‘สภาผู้แทนราษฎร’ ในขณะนั้นมี ’สภาเดียว’ มาจากชาวบ้าน เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชาติเราภาคภูมิใจคือได้มีคนที่มีชาติพันธุ์มลายูได้ก้าวเข้ามาเป็นผู้แทนราษฎรจากผลพวงของรัฐธรรมนูญที่เป็นรัฐประชาชาติ นั่นคือท่านอาจารย์วันมูหะมัดนอร์ มะทา และยังเกิดรัฐข้าราชการที่มาจากระบบการศึกษา ที่ไม่ได้มาจากระบบสมบูรณาญาสิทธิราช การศึกษาของราษฎรแข่งขันกันศึกษา เกิดนักเรียนทุนขึ้นมามากมาย นี่คือจุดเปลี่ยน รัฐธรรมนูญฉบับ 2475 เป็นรัฐธรรมนูญที่ยาวที่สุด ใช้มานานเกือบ 14 ปี แต่จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือวงจรอุบาทว์ คือการรัฐประหารเมื่อปี 2490
หลังจากนั้นมา เราจะเห็นวงจรนี้มาตลอดเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน คือการยึดอำนาจ เขียนรัฐธรรมนูญ มีรัฐสภา มีรัฐมนตรีหรือรัฐบาล แต่สถานการณ์วันนี้คิดว่าเป็นจุดเปลี่ยนของศตวรรษได้คือเงื่อนไขของสังคมประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไป และสภาพที่คนมองเห็นภัยว่ามาจากรัฐธรรมนูญ 60 เป็นภัยของมวลมนุษย์ จึงมีการเรียกร้องให้แก้ไข ทั้งที่ใช้ไปไม่ถึง 3 ปี และเงื่อนไขที่เป็นตัวแปรสำคัญมากคือผู้นำ ถ้าผู้นำประเทศ ที่ไม่ศรัทธาต่อประชาธิปไตย เป็นผู้ฉีกรัฐธรรมนูญ และยังมีเงื่อนไขสำคัญอีกข้อหนึ่งที่มองไม่เห็นและผมเดาไม่ออก คือเงื่อนไขของยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่น่าเชื่อเลยว่าวันนี้การชุมนุมของประชาชนพูดถึงรัฐธรรมนูญและปัญหาความไม่เสมอภาค สมัยก่อนนั้นการชุมนุมแค่ขับไล่ แต่คราวนี้พูดถึงรัฐธรรมนูญ พูดถึงรัฐสวัสดิการ สิ่งแวดล้อม ความเหลื่อมล้ำ สิทธิที่ไม่เสมอกัน และมีประเด็นพูดที่สภาว่าทำไมมีลิฟต์แยกชนชั้น คือลิฟต์เฉพาะ ส.ส. และ ส.ว.แยกกับประชาชน ทั้งที่เป็นเงินภาษีของประชาชน เป็นคนไม่เท่ากันหรือเปล่า วันนี้เหมือนคนด้านบนจะอ้างว่าเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ แต่ยุคสมัยนี้หรือการตื่นรู้ของสังคม รัฐธรรมนูญไม่ใช่เรื่องของคนที่นั่งอยู่ข้างบน แต่เป็นเรื่องของประชาชนทุกคน เราก็ยังมีความเชื่อมั่นว่า รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จะคืนอำนาจให้แก่เจ้าของอำนาจอธิปไตยเป็นผู้จัดทำ เพราะเป็นพื้นฐานระบอบประชาธิปไตย
ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ฝ่ายค้านเสนอได้ศึกษากันมาเป็นปี เราจัดทำร่างให้แก้ไขได้ เงื่อนไขชองรัฐธรรมนูญฉบับปี 60 ไม่เป็นประชาธิปไตย และมีจำนวนหมวดมากที่สุดคือ 17 หมวด และนอกจากจะมีหมวดที่เป็นรัฐธรรมนูญ รัฐสภา ยังมีรัฐอิสระ นั่นคือศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งถ้าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฝ่ายค้านมี 212 เสียง ซึ่งครึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 375 ฝ่ายค้านแก้ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ฝ่ายค้านจะหวังจากพรรคร่วมรัฐบาลเช่นพรรคประชาธิปัตย์ พรรคภูมิใจไทย จะสนับสนุนเพราะพรรคพลังประชารัฐสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรี จึงคงไม่อยากแก้ เมื่อจะแก้รัฐธรรมนูญเสียงครึ่งหนึ่งของรัฐสภาคือ 366 เสียง
ร่างเสนอแก้รัฐธรรมนูญของฝ่ายรัฐบาลเกิดจากการแคร์ความรู้สึกของ ส.ว.ต้องการเอาใจ ส.ว.ก็เลยกำหนดเสียง 3 ใน 5 นั่นคือ ประมาณ 440 คน มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ฝ่ายค้านเสนอให้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง เพราะอาจจะแก้ให้นายกรัฐมนตรีมาจาก ส.ส.ตัดอำนาจ ส.ว.แต่หาก ส.ว.มาจากการคัดสรรตามรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มาจากการแต่งตั้ง ก็ไม่จำเป็นต้องแก้
แต่บนความโชคร้ายก็มีความโชคดี ผมให้เครดิตแก่คนนอกสภาที่ออกมาชุมนุมเรียกร้อง ที่เห็นว่ารัฐธรรมนูญ 60 เป็นภัยคุกคาม เมื่อฝ่ายค้านเสนอแก้ไข ฝ่ายรัฐบาลเสนอตาม กับ ส.ว.เห็นว่าชาติบ้านเมืองมีความสำคัญ ก็มาร่วมกันแก้ไขรัฐธรรมนูญ
พรรคร่วมฝ่ายค้านเน้นย้ำจุดยืนว่าต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยมี สสร.ที่มาจากกระบวนการทางประชาธิปไตยมากขึ้น ต้องยอมรับว่าเสียงของพรรคร่วมฝ่ายค้านมีน้อยกว่าเสียงฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้านมี 212 เสียง ส่วนฝ่ายรัฐบาลรวมกับ ส.ว.มี 522 เสียง ในรัฐสภา ส.ส.ฝ่ายค้านเราต้องมีเหตุและผล เราควรจะไปโน้มน้าวให้เขาโหวตสนับสนุนด้วยคงยาก แต่เชื่อมั่นว่าเขาจะนึกถึงประชาชน
พันตำรวจเอก ทวี มองออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ประชาชน 2.รัฐธรรมนูญ 3.ผู้บริหาร โดยปกติเราต้องให้ความสำคัญสูงสุดแก่ประชาชน ต้องสูงสุดกว่ารัฐธรรมนูญและองค์กรต่างๆ เพราะประชาชนเป็นมนุษย์ เราจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีความรักความหวงแหนและมีส่วนในรัฐธรรมนูญ รัฐธรรมนูญที่ผ่านการร่างโดย สสร.มีรัฐธรรมนูญฉบับปี 2492 มีอายุแค่ 2 ปีกว่า, ฉบับปี 2511 มีอายุ 3 ปี, ฉบับปี 2540 มีอายุ 8 ปี, ฉบับปี 2550 มีอายุ 7 ปี แต่รัฐธรรมนูญปี 2475 ที่ไม่ได้มาจาก สสร.มีอายุ 14 ปี แสดงว่าการจะทำรัฐธรรมนูญมันไม่ใช่แค่ สสร.อย่างเดียว แต่ตัวรัฐธรรมนูญจะต้องทำให้ประชาชนได้ประโยชน์ ได้คุณค่าจากรัฐธรรมนูญ คิดว่ากระบวนการประชาธิปไตยในส่วนของ สสร.มีความสำคัญ รัฐธรรมนูญที่เราคิดว่าเป็นประชาธิปไตย ได้แก่รัฐธรรมนูญปี 40 ยังไม่ผ่านประชามติ แต่รัฐธรรมนูญที่คนไม่ชอบ เห็นว่ามีความเลวร้าย อย่างรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ผ่านประชามติ ดังนั้นกระบวนการประชาธิปไตยในการมีส่วนร่วมในการจัดทำรัฐธรรมนูญมีความสำคัญ จะทำอย่างไรให้ทุกภาคส่วนมีการขับเคลื่อนและมานำเสนอเป็นกฎหมายให้ สสร. อาจ ตั้งกรรมาธิการสามัญหรือวิสามัญที่เผยแพร่ให้แสดงความคิดเห็นร่วมยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อประชาชนมีส่วนกำหนดชะตากรรมตนเองแล้ว ประชาชนจะมีความรัก ความหวงแหนรัฐธรรมนูญของตนเอง
Send this to a friend