POLITICS

‘มณเฑียร’ ยัน ยกมือโหวตตามเสียงข้างมาก ชี้ ประเทศอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยปกติแล้ว

‘มณเฑียร’ ยัน ยกมือโหวตตามเสียงข้างมาก ชี้ ประเทศอยู่ในสภาวะประชาธิปไตยปกติแล้ว ชี้ การสลายขั้วไม่ผิดอะไร เข้าใจประเทศไทยเพิ่งวิวัฒนาการหมาด ๆ เผย อยากให้แคนดิเดตมาตอบข้อซักถามด้วย

วันนี้ (22 ส.ค 66) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา (สว.) อภิปรายถึงคุณสมบัตินายเศรษฐา ทวีสิน หลังได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรดำรงนายกรัฐมนตรี ว่า ตนเองจะยกมือโหวตให้แบบเดียวกันกับเมื่อวันที่ 13 ก.ค. 66 เพราะระบบการปกครองประเทศไทยเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีเกิดจากการรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร แต่กรณีที่เราอยู่ในห้วงเวลาพิเศษนี้ รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาทำหน้าที่ร่วมกับสภาผู้แทนราษฎรในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อลงมติเห็นชอบ เพราะฉะนั้นเราก็จำเป็นต้องทำหน้าที่

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่าเพียงแต่เห็นแล้วว่าการทำหน้าที่ในครั้งนี้เป็นการทำหน้าที่ในสถานการณ์การเมืองที่เป็นประชาธิปไตยที่ปกติแล้ว เราไม่ได้อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลรักษาการหลังการยึดอำนาจไปสู่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่เราอยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่านจากรัฐบาลประชาธิปไตยที่มาจากการเลือกตั้งชุดหนึ่งไปยังอีกชุดหนึ่ง ดังนั้น จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นที่ สว.จะทำหน้าที่วินิจฉัยผิดแผกแตกต่างไปจากเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร จึงเป็นหลักการเดิมที่ตนเองใช้

นายมณเฑียร ระบุว่าขอเรียนว่าไม่ค่อยสบายใจเท่าไหร่นัก ต่อเหตุการณ์ที่กำลังเกิดขึ้น ข้อกล่าวหาต่าง ๆ นานา การเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนฝ่าย สลายขั้วจริงๆ โดยหลักการก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่เสียหายอะไร เพราะในระบบรัฐสภาในประเทศไหนก็มีการจับคู่ เปลี่ยนขั้ว สลายขั้ว ระหว่างซ้ายกับขวา กลางกับขวา กลางกับซ้ายอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่ว่าของไทยเราเพิ่งจะมีวิวัฒนาการหมาด ๆ ประชาชนมีความคาดหวังสูงว่าพรรคการเมืองที่จับกลุ่มกัน ตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง มาจนถึงการเลือกตั้งเสร็จ ก็ถูกเข้าใจแล้วว่าได้มีการกำหนดยุทธศาสตร์ อุดมการณ์ทางการเมืองร่วมกันไปแล้ว

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า เมื่อสะดุดหยุดลงถึงขั้นต้องมีการเปลี่ยนก็ต้องทำให้เกิดความผิดหวังเป็นธรรมดา แต่แม้จะมีความไม่สบายใจขนาดไหนก็ตาม และแม้จะมีข้อกล่าวหาใด ๆ ต่อบุคคลผู้ได้รับการเสนอชื่อในขนาดไหนก็ตาม ก็ไม่อาจลบล้างหลักการได้ ว่าสมาชิกวุฒิสภาในสถานการณ์การเมืองที่เป็นปกติเหมือนเช่นปัจจุบันนี้ ไม่ควรเป็นอุปสรรคต่อการจัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดที่จะใช้ความไม่สบายใจ หรือความรู้สึกนึกคิดหรือความเข้าใจต่อพรรคการเมืองต่อจุดยืนทางการเมืองของพรรคเหล่านั้น หรือต่อทัศนะที่มีต่อบุคคลที่ได้รับการเสนอชื่อแต่ประการใด

นายมณเฑียร กล่าวต่อว่า ประการต่อมา แม้ว่าจะได้ใช้สิทธิ์ในฐานะประชาชนในวันที่ 14 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งผมก็เป็นคนหนึ่งที่ต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลง ต้องการเห็นการปรับปรุงโครงสร้าง การบริหารราชการแผ่นดิน ถ้าเป็นความเห็นโดยสุจริตและตนทำหน้าที่ของประชาชนไปแล้ว

“พูดอย่างตรงไปตรงมาว่าผมไม่ได้เลือกพรรคใดเลยที่ร่วมกับการจัดตั้งรัฐบาลในวันนี้ แต่ความรู้สึกนึกคิดไม่อาจลบล้างหลักการได้ ว่าในสถานการณ์ทางการเมืองที่เป็นปกติ ไม่ใช่หน้าที่ของสมาชิกวุฒิสภาที่จะไปวินิจฉัยว่าใครสมควรเป็นนายกรัฐมนตรี แม้ว่าก็ได้ตัดสินใจไปแล้ว แต่ก็เหมือนกับสมาชิกหลายท่าน พี่น้องประชาชนหลายท่าน ที่ใครอยากจะรับฟังคำชี้แจงการแสดงจุดยืนบางประการของผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ หรือตัวแทนผู้ที่ได้รับการเสนอชื่อ ในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการแก้ไขหรือปรับปรุงยกร่างรัฐธรรมนูญใหม่” นายมณเฑียร กล่าว

นายมณเฑียร ระบุว่า ในสภาวะที่สังคมไทยไม่มีฉันทามติเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ เรื่องนี้อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง แต่ตนก็พร้อมที่จะยกมือให้ และยกมือให้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ไม่ว่าจะเป็นแก้รัฐธรรมนูญ 272 ตัดอำนาจ สว. เลือกนายกรัฐมนตรี

“ผมก็ยกมือให้มาโดยตลอด แต่ผมก็อยากจะฟังคำชี้แจงว่าท่านจะใช้ศิลปะ ใช้เทคนิควิธีการใด ที่จะเสนอให้มีการลงประชามติ อันจะนำไปสู่การยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยปราศจากความขัดแย้ง พาสังคมไทยไปสู่สังคมที่มีสันติสุข มีสันติภาพ มีความสร้างสรรค์ต่อไป” นายมณเฑียร กล่าว

นายมณเฑียร ระบุว่า อีกเรื่องที่อยากจะทราบ คือเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล ไม่แน่ใจว่าเงินที่ได้มาเป็นเงินตราที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทยหรือไม่ มันเป็นเวอร์ชั่นดิจิทัลของเงินบาทที่มีอยู่แล้วหรือเป็นเงินดิจิทัลโดยกำเนิด ถ้ามันเป็นดิจิทัลโดยกำเนิด ถ้าจะใช้ จะใช้บล็อกเชนในการเก็บรักษา จะกำกับควบคุมการใช้เงินอย่างไร เพราะย้อนแย้งกฎระเบียบ

Related Posts

Send this to a friend