PUBLIC HEALTH

กรมควบคุมโรค เผย ปีนี้มีผู้เสียชีวิตจากอากาศร้อนแล้ว 61 ราย

ชี้ ปัจจัยเสี่ยงมาจาก โรคประจำตัว-ดื่มสุราเป็นประจำ-ทำงานกลางแจ้ง แนะวิธีช่วยเหลือผู้ป่วย เน้นทำให้อุณหภูมิลดก่อนส่งโรงพยาบาล

วันนี้ (10 พ.ค. 67) นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลายพื้นที่ของประเทศยังคงมีอากาศร้อนอบอ้าว ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคลมร้อน หรือ ‘ฮีทสโตรก’ ซึ่งเกิดจากภาวะที่ร่างกายร้อนเกิน 40 องศาเซลเซียส จนกระทบต่ออวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ต้องอยู่กลางแจ้งเป็นเวลานาน

จากข้อมูลกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ช่วงปี 2561 จนถึงวันที่ 7 พฤษภาคม 2567 มีรายงานการเสียชีวิตที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะอากาศร้อน รวม 200 ราย โดยปี 2567 มีรายงานผู้เสียชีวิต 61 ราย มีการรายงานเหตุการณ์จากทุกภาคทั่วประเทศ แต่มีรายงานสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 33 ราย ภาคกลางและภาคตะวันตก 13 ราย และภาคเหนือ 10 ราย ผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในช่วงวัยทำงานและสูงอายุ เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง และเกษตรกรรม

สำหรับปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เสียชีวิต คือ มีโรคประจำตัว ร้อยละ 49.2 ดื่มสุราเป็นประจำ ร้อยละ 62.1 และทำงานกลางแจ้ง ร้อยละ 27.6 โดยกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ คนอ้วน และผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ตลอดจนผู้ที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นักกีฬา คนงานก่อสร้าง เกษตรกร หรือทหารที่ต้องทำกิจกรรมกลางแจ้งเป็นเวลานาน

ทั้งนี้ หากพบเห็นผู้ป่วยที่มีอาการตัวร้อนจัดแต่ไม่มีเหงื่อ ผิวหนังแดง หัวใจเต้นเร็วและแรง ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ สับสน พูดจาไม่รู้เรื่อง เป็นลม หมดสติ ให้สงสัยเบื้องต้นว่าเป็นฮีทสโตรก ซึ่งการปฐมพยาบาลจะต้องทำให้อุณหภูมิร่างกายลดลงให้เร็วที่สุดก่อนนำส่งโรงพยาบาล เช่น ย้ายผู้ป่วยมาในที่ร่ม จัดท่าให้ผู้ป่วยนอนหงาย ยกขาสูง ถอดเสื้อผ้า ใช้ผ้าชุบน้ำเย็นหรือน้ำแข็งประคบตามร่างกายโดยเฉพาะบริเวณหลังคอ รักแร้ ขาหนีบ และใช้พัดลมเป่าระบายความร้อน หากผู้ป่วยยังรู้สึกตัวอยู่ให้ดื่มน้ำ/น้ำเกลือแร่ เพื่อชดเชยภาวะขาดน้ำ จากนั้นรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

สำหรับการป้องกันฮีทสโตรกด้วยตัวเอง สามารถปฎิบัติได้ดังนี้

1.ลดหรือเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งในช่วงที่มีอากาศร้อนที่สุดของวัน (โดยเฉพาะช่วงเวลา 11.00-15.00 น. จะมีอากาศร้อนที่สุด)

2.ดื่มน้ำเปล่าในระหว่างวันอย่างน้อย 2-4 แก้ว/ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอกระหายน้ำ หากสูญเสียเหงื่อมากควรดื่มเครื่องดื่มประเภทเกลือแร่

3.หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ชา กาแฟ หรือเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง

4.สวมใส่เสื้อผ้าที่ระบายอากาศได้ดีมีสีอ่อน หลวม น้ำหนักเบา

5.ผู้ที่ต้องทำงานกลางแจ้ง ควรเข้ามาพักในที่ร่มที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวกเป็นระยะ

6.ห้ามทิ้งใครไว้ในรถที่จอดอยู่กลางแดด โดยเฉพาะเด็กเล็ก รถที่จอดตากแดดโดยไม่เปิดเครื่องปรับอากาศ อาจมีอุณหภูมิสูงขึ้นได้เร็วมากภายใน 10-20 นาที

7.สังเกตอาการ หากมีอาการผิดปกติ เช่น หน้ามืด เวียนศีรษะ คลื่นไส้ หายใจเร็วให้รีบแจ้งบุคคลใกล้ชิด พาเข้าไปพักในที่เย็น มีอากาศถ่ายเทสะดวก หากมีอาการรุนแรง หรือหมดสติควรรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที

Related Posts

Send this to a friend