ราเมศ เตือน รัฐบาลประกาศขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศไม่สนใจหลักกฎหมาย
ย้ำสนับสนุน แต่ต้องเป็นไปตามความเหมาะสม ชี้ พิจารณาตามอำเภอใจไม่ได้ ถาม กกต. พรรคการเมืองกำหนดเป็นนโยบาย ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่
วันนี้ (10 พ.ค. 67) นายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า รัฐบาลประกาศชัดว่ามีนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคมนี้ เมื่อจะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ กฎหมายจึงมีเจตนารมณ์ที่กำหนดกลไกให้มีคณะกรรมการค่าจ้าง หรือไตรภาคี จะมีภาครัฐ ผู้แทนนายจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง ผู้แทนรัฐบาล ที่ต้องพิจารณาอัตราค่าจ้างที่ลูกจ้างได้รับอยู่ โดยคำนึงถึงดัชนีค่าครองชีพ มาตรฐานการครองชีพ อัตราเงินเฟ้อ ต้นทุนการผลิต ราคาของสินค้าและบริการ ความสามารถของธุรกิจ ผลิตภาพแรงงานผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ และอื่น ๆ นำมาร่วมพิจารณา
นายราเมศ ย้ำว่าสนับสนุนให้รัฐบาลพิจารณานโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำประจำปี ให้เป็นไปตามมาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน ตามที่คณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ได้พิจารณาแล้ว แต่ควรต้องแยกการพิจารณาออกไปในแต่ละพื้นที่ แต่ละจังหวัด เพราะการขึ้นค่าแรงไม่เหมือนกันทั้งหมด เมื่อได้ความเหมาะสมแล้วจะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เป็นขั้นตอนที่ต้องเป็นไปตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานและกลไกการพิจารณา พรรคการเมืองและรัฐบาลจะพิจารณาตามอำเภอใจไม่ได้ แม้แต่กำหนดเป็นนโยบายพรรคการเมือง อยากถาม กกต.ว่าเป็นนโยบายที่ทำได้จริงถูกต้องตามกฎหมายแล้วหรือ
นายราเมศ กล่าวต่อว่า สิ่งที่ห่วงคือรัฐบาลบริหารราชการโดยไม่สนใจหลักเกณฑ์กฎหมาย ประกาศล่วงหน้าทั้งที่ยังไม่ผ่านขั้นตอนตามที่กฎหมายกำหนด สุดท้ายถ้าไปคนละทางกับไตรภาคีใครจะรับผิดชอบ รัฐบาลก็โยนบาปให้คนอื่นอีก อย่าทำการเมืองแบบเอาแต่ตัวเองได้ ควรคิดให้ละเอียดรอบคอบก่อน คิดให้ครบ ต้องคิดควบคู่กับเรื่องสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือเพื่อให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน ก็จะเพิ่มมูลค่าทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้าง