POLITICS

‘อนุทิน’ ย้ำ ไม่นำกัญชากลับเป็นยาเสพติด

‘อนุทิน’ ย้ำ ไม่นำกัญชากลับเป็นยาเสพติด แนะ ฝ่ายการเมือง ดูกฎหมายให้ชัด ก่อนเสนอความเห็น

วันนี้ (16 ก.ย. 65) ที่ทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพมหานคร นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงกรณีที่สมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ และเพื่อไทยบางคน เสนอให้นายอนุทิน แก้กฎหมาย ให้กัญชา กลับไปเป็นยาเสพติด ว่า คนที่เสนออย่างนั้นไม่ได้ศึกษากฎหมายในเรื่องของกัญชาอย่างละเอียด โดยหลังจากการที่กัญชาได้รับการปลดจากบัญชียาเสพติด ซึ่งมีผลตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย.ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศต่างๆ มาควบคุมการใช้กัญชา เพื่อคลายความกังวลของประชาชน และที่จริงกระทรวงสาธารณสุขสามารถใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข ในการควบคุมการใช้ประโยชน์จากกัญชา เพราะวัตถุประสงค์ของการปลดล็อกกัญชาก็เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ จึงต้องอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงสาธารณสุข ส่วนการกระทำอะไรที่อยู่นอกเหนือประกาศกระทรวงสาธารณสุข หรือไม่ใช่การใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ ก็ถือว่าผิดกฎหมาย

“ผมไม่มีสิทธิ์ไปทำอะไรทั้งนั้น การประกาศปลดชื่อกัญชาออกมาจากความเป็นยาเสพติด มันมาจากคณะกรรมการ ปปส.พิจารณา เมื่อทางนั้น มีมติอย่างไร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จึงลงนาม ในสภาก็มีการพูดกันไป ไม่อยากเถียง แต่เรื่องนี้ มันเป็นอย่างไร ก็เห็นอยู่ แล้วคนที่ออกมาต่อต้านร่างกฎหมาย สภาพพรรคเขาเป็นอย่างไรบ้าง”

ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมถึงข้อสงสัยว่าเรื่องนี้ มีการเมืองเกี่ยวข้อง นายอนุทิน ตอบว่า ผู้สื่อข่าวเองก็ยังสงสัย ถามเอง ตอบเอง แล้ว จากนั้น ผู้สื่อข่าวถามเพิ่มเติมว่า กังวลเรื่องสุญญากาศด้านกฎหมายหรือไม่ นายอนุทิน ตอบว่า ปัจจุบันมี พ.ร.บ.สาธารณสุขดูแลอยู่ และมีประกาศของกระทรวงฯ ด้วย การที่เข้าสภาแล้วมีความขลุกขลัก เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย ถึงได้ต้องแก้เกมด้วยการเร่งออกประกาศของกระทรวงฯ มาแก้ทาง

ทั้งนี้ สำหรับกฎหมายสำคัญ ซึ่งทำให้กัญชา ไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีค่า THC สูงกว่า 0.2% คือ ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 หรือ ยส. 5

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดออกประกาศไว้ ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 ให้ยาเสพติดให้โทษที่ระบุชื่อดังต่อไปนี้ เป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด

(1) พืชฝิ่น พืชซึ่งมีชื่อพฤกษศาสตร์ว่า Papaver somniferum L. และ Papaver bracteatum Lindl. หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้ฝิ่นหรือแอลคาลอยด์ของฝิ่น

(2) เห็ดขี้ควายหรือพืชเห็ดขี้ควาย ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Psilocybe cubensis(Earle) Singer หรือที่มีชื่ออื่นในสกุลเดียวกันที่ให้สาร psilocybin หรือ psilocin

(3) สารสกัดจากทุกส่วนของพืชกัญชาหรือกัญชง ซึ่งเป็นพืชในสกุล Cannabis ยกเว้น สารสกัดดังต่อไปนี้

(ก) สารสกัดที่มีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล(tetrahydrocannabinol, THC)ไม่เกินร้อยละ 0.2 โดยน้ำหนัก เฉพาะที่ได้รับอนุญาตให้สกัดจากพืชกัญชาหรือกัญชงที่ปลูกภายในประเทศ

(ข) สารสกัดจากเมล็ดของพืชกัญชาหรือกัญชง ที่ได้จากการปลูกภายในประเทศ

ข้อ 2 กรณียาเสพติดให้โทษตามข้อ 1 ที่เป็นสารควบคุมคุณภาพในการตรวจวิเคราะห์และควบคุมคุณภาพของการตรวจสารเสพติดในร่างกาย ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยเครื่องมือแพทย์ และต้องใช้ตามวัตถุประสงค์ของเครื่องมือแพทย์นั้น ให้ยกเว้นจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5

ข้อ 3 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

Related Posts

Send this to a friend