POLITICS

‘ไอลอว์’ โต้ ‘พรเพชร’ ส.ว.ตั้งญาติเป็นคณะทำงานอาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม

‘ไอลอว์’ โต้ ‘พรเพชร’ ส.ว.ตั้งญาติเป็นคณะทำงาน ทั้งของตนเอง-ฝากเลี้ยง-สูตรไขว้ อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรม มองเป้าระยะยาวแก้ รธน. ม.272 ‘ปิดสวิตช์ ส.ว. เลือกนายกฯ’

เมื่อวันที่ 21 มิ.ย. 65 นายยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการ และนายรัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์) ให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว The Reporters ภายหลังไอลอว์ เปิดเผยข้อมูลกรณีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) แต่งตั้งญาติของตนเองหรือของ ส.ว. คนอื่นเป็นคณะทำงานประจำตำแหน่ง จากคณะทำงานทั้งหมด 1,830 คน ตามข้อมูลจากเอกสารคณะทำงาน ส.ว. เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 63 ซึ่ง ส.ว. 1 คนจะมีโควตาคณะทำงานได้ 8 คนใน 3 ตำแหน่ง ประกอบด้วย ผู้เชี่ยวชาญประจำตัว 1 คน รับเงินเดือน 24,000 บาทต่อคน ผู้ชำนาญการประจำตัว 2 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน และผู้ช่วยดำเนินงานประจำตัว 5 คน รับเงินเดือน 15,000 บาทต่อคน โดยนายรัชพงษ์ ชี้แจงสาระสำคัญของข้อมูลที่พบได้ ดังนี้

  1. ส.ว. แต่งตั้งเครือญาติซึ่งมีนามสกุลเดียวกันอย่างน้อย 50 คน เป็นคณะทำงานของตนเอง หรือของ ส.ว. คนอื่น จำนวนนี้ยังไม่รวมเครือญาติที่นามสกุลไม่เหมือนกันที่ยังไม่ถูกตรวจสอบอีก ซึ่งจำนวนอาจมีมากกว่านั้นก็ได้ในความเป็นจริง

ทั้งนี้ พบว่า ส.ว. ที่มีญาติตัวเองเป็นคณะทำงานมากที่สุดคือ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ และ นายถาวร เทพวิมลเพชรกุล ซึ่งมี 3 คนเท่ากัน สำหรับนายกิตติศักดิ์ แต่งตั้งญาติตัวเอง 2 คน และบุคคลนามสกุลรัตนวราหะ 1 คนอยู่ในคณะทำงานของนายกรรณภว์ ธนภรรคภวิน ส่วนนายถาวร แต่งตั้งญาติทั้ง 3 คนเป็นคณะทำงานของตัวเอง

  1. ส.ว. แต่งตั้งเครือญาติของ ส.ว. คนอื่นเป็นคณะทำงาน หรือเรียกว่า “ฝากเลี้ยง” พบว่ามีจำนวนมาก สิ่งที่น่าสนใจคือในสมัย สนช. มีการเปิดโปงเรื่องนี้ไปแล้วในปี 2558 แต่เมื่อ สนช. กลายมาเป็น ส.ว. ก็ยังตั้งเครือญาติตนเองมาทำงานอีกกับ ส.ว. อีกคนอยู่ เช่น กรณีนายนิอาแซ ซีอุเซ็ง แต่งตั้ง นางพรรณวีนินทร์ รัตนวานิช ญาติของพลเอก เลิศรัตน์ รัตนวานิช เป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัว

ทั้งนี้ นายยิ่งชีพ ยังกล่าวเสริมถึงกรณี “ฝากเลี้ยง” ในลักษณะ “แลกกันเลี้ยง” หรือ “สูตรไขว้” อย่างกรณี นายสมชาย แสวงการ แต่งตั้งนางสาวอามาจรี เสริมสุข ญาติของนายจัตุรงค์ เสริมสุข เป็นผู้ช่วยดำเนินงาน ขณะที่นายจัตุรงค์ เสริมสุข ก็แต่งตั้งนายเอกชัย แสวงการ เป็นผู้ช่วยดำเนินงานเช่นกัน

  1. ส.ว. แต่งตั้งพลทหารจำนวนมากกว่า 400 นาย ทำให้มีทหารตำรวจไปแล้วมากกว่า 1 ใน 3 ซึ่งนายรัชพงษ์ตั้งคำถามว่าทำไมทหารถึงอยู่ตรงนั้นมากขนาดนี้ ในสัดส่วนที่ไม่สะท้อนต่อประชากรจริง และหลายคนเป็นเพื่อนกันก็แต่งตั้งกันเข้าไปเป็นระบบ
  2. คณะทำงานหลายคนเกี่ยวข้องกับ คสช. ทั้งจากการรัฐประหาร การร่างรัฐธรรมนูญ เป็นคนของคสช. ทั้งหมด
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์
ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

“จึงเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมการลากตั้งที่เป็นระบบ ขนาดใหญ่และทำกันมานาน” นายรัชพงษ์ กล่าว

นายยิ่งชีพ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าว The Reporters ถึงขั้นตอนการขอข้อมูลก่อนการเปิดเผยคณะทำงาน ส.ว. ว่า ลำบากมาก ลี้ลับอย่างไม่จำเป็น ใครเข้าประชุมบ้างไม่เข้าบ้างไม่มีประกาศผ่านทางเว็บไซต์ ในสมัย สนช. ยังมีการเปิดเผยอย่างชัดเจน แต่ตอนนี้มา ส.ว. ไม่เปิดเผยข้อมูลทั้งการโหวตและการเข้าร่วมประชุม ถ้าอยากรู้ต้องไปยื่นหนังสือขอเอง เสียเงินค่าถ่ายเอกสารเป็นหมื่นบาท และข้อมูลใครแต่งตั้งใครมาทำงานก็ควรจะมีในเว็บ ซึ่งหลังจากไปยื่นขอข้อมูล ก็ไม่บอกข้อมูลเพราะอ้างว่าเป็นข้อมูลส่วนบุคคลตามกฎหมาย PDPA ซึ่งเราคิดว่าไม่ถูกต้อง ส่วนข้อมูลที่เปิดเผยออกมาก็เป็นของปี 2563 ก็นับว่ายังไม่อัปเดต และยังจะรอดูข้อมูลล่าสุดจากการอุทธรณ์

ส่วนกรณี ศาสตราจารย์พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ชี้แจงว่าเรื่องนี้ไม่ผิด เพราะไม่ผิดกฎหมาย นายยิ่งชีพ กล่าวว่า จริงที่ไม่ผิดกฎหมาย และข้อบังคับของ ส.ว. ที่ ส.ว. เป็นคนเขียนเอง ไม่มีข้อบังคับที่ห้ามตั้งลูกเมียมาทำงานด้วย และห้ามตั้งลูกเมียเพื่อนมาทำงานให้ตัวเอง

แต่ด้านนายรัชพงศ์ กล่าวว่า เมื่อปี 2558 ศาสตราจารย์พรเพชรก็พูดแบบนี้ ไม่ผิดกฎหมายเหมือนกัน แต่อาจเข้าข่ายผิดจริยธรรมอยู่ ตามข้อบังคับว่าด้วยประมวลจริยธรรมสมาชิกวุฒิสภา มาตรา 12 ห้ามผลประโยชน์ส่วนตนขัดผลประโยชน์ส่วนรวม ซึ่งต้องไปดูว่า ขัดกันหรือไม่อย่างไร ในตอนนั้น วิปมีมติแนะนำกับสมาชิก สนช. ว่าให้นำญาติออกไปเพื่อสร้างบรรทัดฐานใหม่ แต่หลายคนไม่ทำตาม ซึ่งอย่างน้อยในปี 2558 ก็เห็นแล้วว่าไม่ยอมรับ ไม่ถูกต้อง

เมื่อผู้สื่อข่าวถามถึงกลไกในข้อบังคับซึ่งมีคณะกรรมการจริยธรรมตรวจสอบได้นั้น นายรัชพงษ์ เห็นว่าคณะกรรมการนั้นเป็น ส.ว. ด้วยกันเอง มีการตักเตือนได้หากมีการผิดจริยธรรมร้ายแรง แต่กรณีนี้ไม่เข้าข่าย คาดหวังจากกรรมการจริยธรรมคงยาก

นายยิ่งชีพ ให้ความเห็นต่อไปว่า ระบบการแต่งตั้งต้องถูกตั้งคำถามอยู่แล้วในจำนวนที่มากเพียงนี้ ถ้าเป็น ส.ส. แล้วเราเป็นคนเลือกเข้ามาทำงาน ถ้ามีเหตุการณ์แบบนี้เราเลือกได้อยู่แล้วว่าในอนาคตจะเลือกต่อไปหรือไม่ แต่ ส.ว. เราไม่ได้เลือกเข้ามา ถ้าบางคนเห็นว่าไม่ถูกต้อง ก็เลื่อน ส.ว. คนใหม่ขึ้นมาตามบัญชีรายชื่อสำรองก็จะมาแทน ทำให้ไม่ได้สนใจในเรื่องการถอดถอนจากตำแหน่ง เนื่องจากเป็นเพียงการเลือกคนเดิมขึ้นมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ที่ควรสนใจคือมีการปิดบังข้อมูลไม่ให้ประชาชนได้รับทราบ

ผู้สื่อข่าวจึงถามว่าในอนาคตควรมีการกำหนดกฎเกณฑ์มาควบคุมกรณีนี้หรือไม่ นายยิ่งชีพ เห็นว่า หากมีข้อกำหนดก็ดี แต่ฝากเลี้ยงห้ามไม่ได้ สมมตินะว่าส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยถูกต้อง ดูแลพื้นที่ในสภา พื้นที่ที่อยู่ด้วย ไว้ใจน้องชาย ก็แต่งตั้งได้ จะได้ช่วยงานแทน แต่ถ้าจะกำหนดว่าถ้าเป็น ส.ว. แล้วเมียลูกห้ามเข้าสภาเด็ดขาดก็เกินไปหน่อย

“จึงต้องขึ้นอยู่กับคุณธรรมจริยธรรมในใจ ว่าเข้ามาแล้วเป็นประโยชน์กับประชาชนมากกว่าคนอื่น ๆ ใช่ไหม ก็อธิบายมา ถ้าทำงานดี แต่งตั้งกันมาก็ออกมาอธิบาย แต่ถึงวันนี้หลายคนแต่งตั้งคนเป็นญาติมาแล้วไม่ได้ทำงาน มาเอาเงินเดือนเฉย ๆ ก็ต้องถามละอายใจหรือไม่” นายยิ่งชีพ กล่าว

ทั้งนี้ นายยิ่งชีพ ในฐานะผู้จัดการไอลอว์ กล่าวถึงประเด็นที่จับตาของ ส.ว. ว่า พวกเขาส่วนหนึ่งมาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในสมัยก่อนหน้า ใช้ทรัพยากรของรัฐไปอย่างมาก ที่ถูกเปิดเผยไป 2 พันกว่าล้านเป็นเพียงค่าตอบแทนหรือเงินเดือนที่รัฐตั้งไว้เท่านั้น อาจมีสวัสดิการที่เหนือกว่าข้าราชการธรรมดา สิ่งอำนวยความสะดวกที่ไปลงพื้นที่พบปะประชาชน เลยเรียกได้ว่าทำเป็นอุตสาหกรรม

นายรัชพงศ์ กล่าวเสริมว่า ตลอด 3 ปีที่ผ่านมา การทำงานของ ส.ว. ทำหน้าที่แค่เลือก พลเอก ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี และยังไม่มีการตรวจสอบ สว. อย่างเป็นระบบและมีเอกสารมายืนยัน เป็นช่องว่างขนาดใหญ่ เป็นจุดที่สำคัญที่ทำให้เราอยากรู้ว่า 3 ปีที่ผ่านมา ส.ว. ทำอะไรบ้าง เราจึงอยากได้คำตอบ และตอนนี้เหลือเวลาอีกไม่นานในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 272 เพื่อปิดสวิตช์ ส.ว. หากร่างฯ ไม่ผ่านก็มีโอกาสมากที่การเลือกตั้งครั้งต่อไป ส.ว. ชุดเดิมจะเข้ามาโหวตเลือกนายกอีก

รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล เจ้าหน้าที่ โครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (ไอลอว์)

นายรัชพงศ์ ตอบชี้แจงถึงกรณี นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. ตอบโต้กรณีไอลอว์เปิดเผยข้อมูลว่าเป็นการล็อกเป้านั้นว่า ไม่ได้ล็อกเป้ารายคน แต่ข้อมูลออกมาเป็นแบบนี้เอง หลายคำวิพากษ์วิจารณ์ไม่ได้ขึ้นอยู่กับเรื่องนี้แต่อยู่กับความไม่ไว้วางใจของประชาชนอยู่แล้ว เนื่องจากที่มาของ ส.ว. ไม่ชอบธรรม ก็ต้องทำให้เห็นว่าโปร่งใส พอมีเรื่องนี้มาทำให้เห็นว่าคนเหล่านี้ไม่ทำงาน แต่งตั้งมารับเงินเดือนเฉย ๆ

“ไอลอว์หวังว่า สำหรับแคมเปญ มาตรา 272 อีกไม่นานต้องทำข้อมูลออกมาให้คนรับรู้มากขึ้น อาจเป็นครั้งสุดท้ายที่ได้เสนอเรื่องนี้ ไม่อยากให้ ส.ว. มาเลือกนายกคนเดิมอีก ต้องหมดเวลาแล้วของ ส.ว. แล้ว” นายรัชพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายถึงเป้าหมายของไอลอว์

นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ยังมีความเคลื่อนไหวในฝั่งสภาผู้แทนราษฎร เมื่อนายตรีรัตน์ ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการกองการสื่อสาร พรรคไทยสร้างไทย เปิดเผยถึงการล่ารายชื่อเพื่อยื่นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบ ส.ว. ที่แต่งตั้งเครือญาติเข้ามาเป็นคณะทำงาน และมีรายงานล่าสุดว่า นายตรีรัตน์ จะยื่นต่อ พล.ต.อ. เสรีพิสุทธิ์ เตมียเวส ประธาน กมธ. ในวันพุธหน้า (29 มิ.ย. 65) ต่อไป

เรื่อง: ณัฐนนท์ เจริญชัย
ภาพ: พุฒิพงศ์ ธัญญพันธุ์

Related Posts

Send this to a friend