ENVIRONMENT

ชาวบ้านบางสะพาน คุยรองอธิบดีโยธาฯ เคาะตั้งคณะกรรมการร่วมศึกษาความเหมาะสมกำแพงกันคลื่น

วันนี้ (22 มิ.ย. 65) กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เดินทางมายังกรมโยธาธิการและผังเมือง ถนนพระราม 6 กรุงเทพมหานคร เพื่อเรียกร้องให้กรมโยธาฯ ทบทวนโครงการก่อสร้างเขื่อนป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง (กำแพงกันคลื่น) ที่หาดแม่รำพึง อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์

หลังจากเมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมามีการ เวทีรับฟังความคิดเห็นในพื้นที่ แต่รองผู้ว่าราชการจังหวัดซึ่งเป็นประธานในเวที ประกาศยุติเวทีก่อนที่จะได้ลงมติ จึงทำให้กลุ่ม Saveหาดแม่รำพึง ประกาศให้เวทีเป็นโมฆะและต้องการเดินทางมาพูดคุยกับกรมโยธาธิการโดยตรงในฐานะเป็นเจ้าของโครงการเพื่อหาทางออก นำข้อมูลเชิงวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ระบุว่าชายหาดแม่รำพึงมีการกัดเซาะในระดับต่ำ เฉลี่ยปีละ 0.6 เมตร ไม่เหมาะสมกับการทำโครงสร้างกันคลื่นขนาดใหญ่

พงศ์นรา เย็นยิ่ง รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เป็นประธานในการประชุมวันนี้ ยืนยันว่า การปิดเวทีเมื่อวันที่ 11 มิถุนายน ทางกรมไม่ได้มีส่วนสั่งการให้เร่งรีบปิดเวทีเร็วแต่อย่างใด คาดว่าอาจเป็นเพราะทางรองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ประเมินว่าได้พูดคุยกันครบถ้วนและถึงเวลา 16:30 น. เลยปิดเวที พร้อมยืนยันว่า พร้อมจะรับฟังเสียงจากท้องถิ่น ประชาชนในพื้นที่ หากคนส่วนใหญ่คิดว่าไม่ต้องการทางกรมไม่มีนโยบายจะตั้งธง จัดจ้างคนไปโหวต หรือกระบวนการอื่นใด

อภิศักดิ์ ทัศนี กลุ่ม Beach for life กล่าวว่า วันนี้ต้องการมาพูดคุยเพื่อหาทางออกไม่ใช่มารับฟังอย่างเดียว ต้องการมาบอกว่าการศึกษาเรื่องการกัดเซาะชายฝั่งเป็นเรื่องที่ต้องใช้ข้อมูลทางวิชาการและการประเมินผลกระทบเชิงสิ่งแวดล้อมในการพิจารณา และไม่เชื่อในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของกรมโยธาฯอีกต่อไปแล้ว เพราะครั้งที่แล้วก็เห็นชัดว่าไม่ฟัง รีบตัดจบเวที แล้วคืนนั้นก็เกิดเสียงปืนดังยิงขู่ชาวบ้าน รวมถึงข้อมูลการกัดเซาะชายฝั่งของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง(ทช.) ระบุชัดว่าหาดแม่รำพึงเป็นหาดสมดุล จัดเป็นพื้นที่สีฟ้าและสีเหลือง มีการกัดเซาะเฉลี่ยปีละ 0.6 เมตร และเป็นหาดฟื้นฟูตัวเองได้

“…ท่านจะจัดเวทีให้ชาวบ้านมาทะเลาะกันจะเอาชาวบ้านมาทะเลาะกับกรมโยธาทำไม อยากให้ท่านยึดเอาแนวทางในการจัดการชายฝั่งของกรมทรัพยากรชายฝั่งมาดูก็จะรู้แล้วว่าขัดกับหลักการในการสร้างกำแพงกันคลื่น …หากยังยืนยันจะตัดสินการสร้างไม่สร้างกำแพงจากจำนวนคนเห็นด้วย ขอถามว่า กรมฯจะเอาจำนวนคนโหวตหรือจะเอาหลักการที่ถูกต้องในการทำโครงการ…” อภิศักดิ์ กล่าว

พงศ์นรา รองอธิบดีกรมโยธาฯ ยืนยันว่าสิ่งที่กลุ่มฯพูดมาเป็นข้อมูลที่ได้ฟังมาทั้งหมดแล้วหลายรอบแล้ว จึงต้องการหาทางออกร่วมกัน ว่าจะมีทางออกร่วมกันอย่างไร จะเอาข้อสรุปในวันนี้ไปหาทางออกร่วมกัน สำหรับโครงการนี้ขอให้ฟังทั้ง 2 ฝ่ายทั้งคนที่สนับสนุนและคัดค้านแล้วมาคุยร่วมกัน

ส่วนเรื่องหนังสือของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่เคยส่งมาถึงกรมโยธาฯ บอกว่าให้ทบทวนโครงการ คือให้ไปดูว่าจะทำอย่างไรต่อ จะเปลี่ยนรูปแบบ จะทำอย่างอื่นได้หรือไม่ ยืนยันว่า หนังสือเป็นการขอให้ทบทวน แต่หากขอให้ยกเลิก ต้องยกเลิก แต่นี่เป็นการขอให้ทบทวนแปลว่าจะยกเลิกก็ได้หรือไม่ยกเลิกก็ได้

พงศ์นรา ยังกล่าวตอนหนึ่งด้วยว่าตนพร้อมจะทำทุกอย่างที่ไม่ขัดต่อกฎหมายที่ต้องฟังแต่โครงการนี้มีการดำเนินการไปแล้วและมีเอกชนที่ต้องเสียหายจากการยกเลิกสัญญาก่อสร้าง จนมีตัวแทนประชาชนที่เดินทางมาด้วยขอนำเสนอความคิดเห็นว่า “…ท่านเดือดร้อนจากสัญญากับเอกชน แต่พวกท่านกำลังเอาทะเลบ้างผมเป็นเดิมพัน ท่านกำลังเอาวิถีชีวิตคนริมทะเล ชาวประมงชายฝั่ง และทุกสิ่งทุกอย่างเป็นเดิมพัน มันเทียบไม่ได้เลยกับความสูญเสียเหล่านี้…”

หลังชี้แจงปัญหาที่ผ่านมาร่วมกัน ด้วยการยกเหตุผลด้านวิชาการที่ยืนยันว่าหาดแม่รำพึงไม่ใช่หาดที่เกิดการกัดเซาะรุนแรง และประชาชนที่เดินทางมาด้วยต่างยืนยันว่า มีความหวั่นกลัวจะเกิดความขัดแย้งในพื้นที่

ที่ประชุมร่วมฯ จึงมีมติร่วมกัน ตั้งคณะทำงานหาทางออกพิจารณาความเหมาะสมในการสร้างกำแพงกันคลื่น โดยมี นายกิตติพงศ์ สุขภาคกุล รองผู้ว่าราชการจังหวัดประจวบคีรีขันธ์อเป็นประธาน และประกอบด้วยนักวิชาการ ตัวแทนกลุ่มคัดค้านและสนับสนุน และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พงศ์นรา รองอธิบดีกรมโยธาฯ ยืนยันว่าหากมติคณะทำงานสรุปความเหมาะสมอย่างไร กรมจะยึดถือตามนั้นอย่างเคร่งครัด

Related Posts

Send this to a friend