กกต.ปัดตอบ ‘ชูวิทย์’ แฉคลิปซื้อเสียง ชี้ หากพบการกระทำผิดสามารถร้องสอบได้ทันที
กกต.เน้นย้ำพรรคการเมือง แจงบัญชีรายรับ-รายจ่าย หลังวันเลือกตั้ง ภายใน 90 วัน – ปัดตอบ ‘ชูวิทย์’ แฉคลิปซื้อเสียง ชี้ หากพบการกระทำผิดสามารถร้องสอบได้ทันที ชี้ นายกฯ เตรียมขออนุมัติงบช่วยค่าไฟแพง เป็นไปตามกฎหมาย ไม่มีอะไรซับซ้อน
วันนี้ (21 เม.ย. 66) สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อชี้แจงการจัดทำบัญชีรายรับและรายจ่าย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่โรงแรมเซ็นทรา บายเซ็นทารา ศูนย์ราชการ แจ้งวัฒนะ เขตหลักสี่ โดยมี พ.ต.ต. ณัฐวัฒน์ เสงี่ยมศักดิ์ รองเลขาธิการกกต. เป็นประธานในพิธี
พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ กล่าวแสดงความชื่นชมการจัดประชุมการชี้แจงบัญชีรายรับ-รายจ่ายในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร มาตรา 67 ภายในกำหนด 90 วัน ผู้สมัครแต่ละคน และหัวหน้าพรรคการเมือง ที่ส่งผู้สมัครแบบบัญชีรายชื่อ ต้องยื่นบัญชีรายรับ-รายจ่ายต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งที่กำหนดไว้ อย่างน้อยต้องประกอบด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่ได้จ่ายไปแล้ว และที่ยังค้างชำระรวมทั้งเอกสาร หรือหลักฐานที่เกี่ยวข้องให้ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง และผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรคการเมือง แล้วแต่กรณี ต้องลงลายมือชื่อรับรองความครบถ้วนถูกต้อง พร้อมบัญชีรายรับ-รายจ่าย
พร้อมกันนี้ พ.ต.ต.ณัฐวัฒน์ ได้กล่าวถึงความจำเป็นในการจัดประชุม ว่า เพื่อชี้แจงการจัดทำบัญชีรายรับ-รายจ่าย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากกำหนดการที่ได้จัดเตรียมไว้ ความสำคัญในการปฎิบัติหน้าที่ของทุกคน น่าจะเป็นเรื่องของระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และวิธีการจัดทำบัญชีของพรรคการเมือง จำเป็นที่จะต้องรับทราบ การประชุมในวันนี้ จะทำให้พรรคการเมืองได้รับประโยชน์ และเชื่อว่าจะเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนภารกิจของสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งให้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี มีความสุจริต เที่ยงธรรม และชอบด้วยกฎหมาย เป็นที่ยอมรับของประชาชน คณะกรรมการการเลือกตั้งมีความเป็นห่วงพรรคการเมืองให้ปฏิบัติตามกฎการเลือกตั้ง และเป็นช่วงในการหาเสียงเลือกตั้ง ที่ทุกพรรคการเมือง จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎกติกา ว่าอะไรทำได้หรือไม่ได้ ซึ่งจะมีพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่กำหนดข้อห้ามต่างๆไว้ รวมทั้งประกาศที่เกี่ยวข้องในการหาเสียง
ส่วนของการรายงานค่าใช้จ่ายก็มีความสำคัญตามที่กฎหมายได้บัญญัติไว้ เรื่องแรก คือการยื่นที่กฎหมายกำหนดก็ต้องยื่นภายใน 90 วัน นับจากวันเลือกตั้ง หรือวันที่ 14 พ.ค. เมื่อปี 2562 มีผู้สมัครหลายท่านยื่นไม่ทัน หากดำเนินการไม่ครบถ้วน ก็จะมีการดำเนินคดี ฉะนั้น วันนี้จึงมีความจำเป็น ต้องชี้แจงให้พรรคการเมืองทุกพรรครับทราบข้อกฎหมาย และวิธีการต่างๆ ในการจะทำอย่างไรให้ถูกต้องครบถ้วน และเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเลือกตั้งระดับประเทศยังไม่เคยมีกรณีที่แต่ละพรรคการเมืองส่งบัญชีรายรับ-รายจ่ายไม่ครบถ้วน หรือมีการจัดทำขึ้นโดยไม่เป็นไปตามความจริงเกิดขึ้น เพราะมีการติดต่อสื่อสารกันอยู่โดยตลอด แต่จะพบในการเลือกตั้งระดับท้องถิ่นเป็นส่วนใหญ่
ขณะเดียวกัน พ.ต.ต.ณัฐวัตน์ ปฎิเสธตอบคำถามกรณีที่นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ โพสต์คลิปวิดีความยาว 1.10 นาที อ้างว่า เป็นเทศกาลจ่ายเงินซื้อเสียงเลือกตั้งว่า กรณีดังกล่าวอยู่นอกเหนืออำนาจหน้าที่ของตนเอง และประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง มอบหมายให้นายแสวง บุญมี ตอบคำถามในเรื่องนี้ แต่ตามขั้นตอนของกฎหมาย หากมีบุคคลใดพบการกระทำผิดกฎหมายเลือกตั้ง สามารถที่จะยื่นร้องมาที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือส่งผ่านแอพพลิเคชันตาสับปะรด รวมถึง กกต.จังหวัดได้ เพื่อเข้าสู้กระบวนการสอบสวน ส่วนระยะเวลาการตรวจสอบก็ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของแต่ละเรื่อง หากไม่ซับซ้อนก็อาจจะเร็ว แต่ถ้าซับซ้อนก็อาจต้องใช้เวลา
ส่วนกรณีที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์เรื่องการช่วยเหลือค่าไฟจะต้องขออนุมัติจาก กกต. เนื่องจากเป็นการใช้งบประมาณในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง พ.ต.ต.ณัฐวัตน์ กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นไปตามกฎหมาย หากเรื่องใดที่คณะรัฐมนตรีช่วงรักษาการณ์ อนุมัติเกี่ยวกับเรื่องเงิน ก็ต้องผ่านความเห็นชอบจาก กกต. ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนและ กกต.ก็จะพิจารณา ไม่มีอะไรซับซ้อน