POLITICS

มัลลิกา-พัชรินทร์ ชงสภาฯ แก้กฎหมายอาญา เพิ่มนิยาม ‘คุกคามทางเพศ’ ไม่ต้องรอให้ถูกกระทำ

มัลลิกา-พัชรินทร์ แถลงชงสภาฯ แก้กฎหมายอาญา เพิ่มนิยาม ‘คุกคามทางเพศ’ ไม่ต้องรอให้ถูกกระทำ พร้อมแก้บทนิยาม ‘กระทำชำเรา’ ให้ครอบคลุมทุกเพศทุกกลุ่ม

วันนี้ (20 ธ.ค. 66) ที่อาคารสัปปายะสภาสถาน นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สส.ลพบุรี นำสมาชิกพรรคภูมิใจไทย แถลงข่าวเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็นเรื่องการคุกคามทางเพศ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ค้างในสมัยประชุมที่แล้ว ซึ่งเสนอโดย นางสาวพัชรินทร์ ซำศิริพงษ์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร

นางสาวพัชรินทร์ กล่าวว่า กฎหมายฉีดไข่ฝ่อ หรือกฎหมายการป้องกันการกระทำผิดซ้ำ ที่สมัยที่แล้วผ่านสภาฯ และบังคับใช้แล้ว ในช่วงเวลานั้น ตนเสนอแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ให้มีบทบัญญัติเพิ่มคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ ซึ่งคณะกรรมาธิการแก้ไขปัญหาข่มขืนกระทำชำเราศึกษาไว้ วันนี้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคภูมิใจไทย เห็นด้วยที่จะผลักดันเรื่องความปลอดภัยที่ไม่เพียงแต่เฉพาะสุภาพสตรี แต่เป็นความปลอดภัยของสังคม

สำหรับสาระสำคัญมีอยู่ทั้งหมด 3 ประเด็น ประกอบด้วย

1.การแก้ไขบทนิยาม คำว่า ‘กระทำชำเรา’ ที่ในอดีตมีลักษณะครอบคลุมเฉพาะเพศหญิง แต่ปัจจุบันเด็กเยาวชนที่เป็นผู้ชายก็สามารถถูกล่วงละเมิดทางเพศ ข่มขืน กระทำชำ จึงเสนอแก้ไขบทนิยาม ‘การกระทำชำเรา’ ให้ครอบคลุม ‘ทุกเพศทุกกลุ่ม’ มากขึ้น

2.ในอดีตไม่ได้มีการนิยามคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ ไว้ หากเหยื่อถูกติดตาม รู้สึกไม่ปลอดภัยทางเพศ เหยื่อต้องรอจนกว่าเป็นผู้เสียหาย ถูกล่วงละเมิดทางเพศ ถูกข่มขืน ถึงจะเอาผิดได้ จึงเสนอคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ เป็นบทนิยาม เป็นกฎหมายอาญา โดยคำว่าคุกคามทางเพศ ได้พิจารณาศึกษาเปรียบเทียบกับส่วนบทบัญญัติของ ก.พ., พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน มาตรการของกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เพื่อให้สอดคล้องกับสังคมไทยมากขึ้น ไม่ต้องรอให้เกิดเหตุจึงจะเอาผิดได้ บางครั้งการทำผิดที่ไม่ได้โดนเนื้อโดนตัว ก็อาจเข้าข่ายสร้างความเดือดร้อนรำคาญใจ ซึ่งเป็นลหุโทษ สามารถยอมความกันได้

3.บทลงโทษของคุกคามทางเพศ เดิมเป็นลหุโทษ และยอมความกันได้ หากนิยามคำว่า ‘คุกคามทางเพศ’ และกำหนดบทลงโทษในประมวลกฎหมายอาญาให้เป็นบทลงโทษทางอาญา จะช่วยปิดช่องว่างทางกฎหมายมากขึ้น เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ช่วยสังคมให้ปลอดภัย

Related Posts

Send this to a friend