POLITICS

‘ยุทธพงศ์’ ฉะ ‘สันติ’ ทุจริต-เอื้อเอกชน เหตุคัดเลือก คกก.ท่อส่งน้ำ EEC ไม่โปร่งใส

‘ยุทธพงศ์’ ฉะ ‘สันติ’ ทุจริต-เอื้อประโยชน์เอกชน เหตุคัดเลือก คก.ท่อส่งน้ำ EEC ไม่โปร่งใส ลดศักยภาพการแข่งขัน ค่าน้ำประปาพุ่ง ย้ำเรื่องนี้ต้องถึง ป.ป.ช. พร้อมเล็งสอยถึง ‘อาคม’

วันนี้ (20 ก.ค. 65) ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล นายยุทธพงศ์ จรัสเสถียร สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดมหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กรณีสืบเนื่องจากระบบท่อส่งน้ำสายหลักในภาคตะวันออก ซึ่งกรมธนารักษ์ได้รับมอบจากกรมโยธาธิการและผังเมือง ก่อนจะมอบหมายให้บริษัท อีสต์ วอเตอร์ เป็นผู้บริหาร โดยมีผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทคือ การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) สิ้นสุดในวันที่ 31 ธ.ค. 2566 จนกระทั่งเมื่อ 11 มิ.ย. 2564 คณะกรรมการที่ราชพัสดุ มีมติเห็นชอบให้รวมสัญญาการบริหารของทั้ง 3 โครงการไว้เป็นสัญญาเดียวกัน เป็นเหตุให้กรมธนารักษ์ต้องคัดเลือกบริษัทเอกชนเพื่อมาบริหารจัดการระบบ แต่ไม่เปิดประมูลทั่วไป

นายยุทธพงศ์ อภิปรายว่า การคัดเลือกเอกชนมาบริหาร สะท้อนเจตนาจะหนี พ.ร.บ.ร่วมทุนฯ จงใจทำผิดกฎหมาย ขัดต่อระเบียบกระทรวงการคลัง ถือเป็นใบเสร็จของ นายสันติ ในฐานะประธานคณะกรรมการในที่ราชพัสดุ ซึ่ง นายยุทธพงศ์ ยังได้เตือนถึง นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ยังไม่รอดพ้นข้อกล่าวหา แม้ว่าท่านจะเป็นผู้มอบหมาย นายสันติ ก็ตาม

นอกจากนี้ ยังเป็นการทุจริตเอื้อประโยชน์ให้เอกชน จนได้เอกชนที่ไม่มีศักยภาพมาบริหารโครงการ และเป็นเหตุให้ประชาชนเดือดร้อนต้องจ่ายค่าน้ำแพง พร้อมเป็นการทำลายศักยภาพการแข่งขันของท่อส่งน้ำ EEC

จากนั้น คณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีอธิบดีกรมธนารักษ์เป็นประธานฯ ได้ออกประกาศเชิญชวน 5 บริษัทเอกชนที่มีคุณสมบัติ จำนวน 5 ราย เข้าร่วมการคัดเลือก ในจำนวนนั้นมีบริษัท อีสต์ วอเตอร์ รวมอยู่ด้วย อย่างไรก็ตาม นายยุทธพงศ์ ชี้ข้อพิรุธว่า มีบริษัท 2 รายที่เป็นนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึง บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง จำกัด และยังไม่ได้มีการเชิญชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวกับการทำน้ำประปาในประเทศไทยโดยตรงเข้าร่วมการคัดเลือกแต่อย่างใด โดยเมื่อ 13 ส.ค. 2564 คณะกรรมการคัดเลือกฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า บริษัท อีสต์ วอเตอร์ ได้รับคะแนนสูงสุดตามเกณฑ์การคัดเลือก หรือ TOR

ต่อมา คณะกรรมการคัดเลือกฯ กลับมีหนังสือแจ้งว่าหลักเกณฑ์ TOR นั้นมีความไม่ชัดเจน ส่งผลให้ บริษัท อีสต์ วอเตอร์ เป็นผู้ชนะอย่างมีนัยสำคัญ จึงต้องมีการยกเลิกผลการคัดเลือก ด้วยเหตุนี้ บริษัท อีสต์ วอเตอร์ จึงฟ้องศาลปกครอง เมื่อ 26 ส.ค. 2564 หลังจากนั้นก็ได้มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยคณะกรรมการคัดเลือกฯ เป็นชุดใหม่ทั้งหมด แสดงให้เห็นถึงความไม่โปร่งใสและผิดปกติ หรือเป็นเพราะว่าได้บริษัทที่ไม่ตรงตามที่ต้องการ

คณะกรรมการคัดเลือกฯ จึงจัดให้มีการคัดเลือกครั้งที่ 2 โดยเชิญชวน 5 บริษัทเดิม แต่ได้ปรับหลักเกณฑ์ใน TOR ซึ่งนายยุทธพงศ์ ชี้ว่า เป็นการลดมาตรฐานความน่าเชื่อถือทางการเงินของ และคุณสมบัติด้านเทคนิกของบริษัทให้ต่ำลง เช่น ปรับลดทุนจดทะเบียนและหนังสือวงเงินรับรองสินเชื่อของบริษัทให้น้อยลง ยกเลิกคุณสมบัติต้องห้าม คือต้องไม่เป็นผู้ที่ถูกหน่วยงานของรัฐบอกเลิกสัญญา

“ผู้ยื่นข้อเสนอที่จะได้คะแนนมากที่สุดเป็นผู้ชนะ คือเอาซองราคาซองที่ 3 เท่านั้น ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของคณะกรรมการที่ราชพัสดุ ซึ่งนายสันติเป็นประธาน ที่ใช้วิธีคัดเลือกเพื่อต้องการให้ได้ผู้ชนะที่มีเทคนิคสูง แต่ท่านกลับเอาคะแนนซองเทคนิคทิ้ง เหมือนการเขียนด้วยมือลบด้วยเท้า ท่านไม่เอาแล้วเทคนิค ท่านเอาแต่ราคา ผมจึงมากล่าวหาว่าท่านเอื้อประโยชน์ ทุจริต” นายยุทธพงศ์ กล่าว

นายยุทธพงศ์ กล่าวต่อไปว่า บริษัท วงษ์สยามก่อสร้าง ได้คะแนนอันดับ 1 เนื่องจากให้ผลประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐมากที่สุด จนเป็นผู้ชนะการคัดเลือก ทั้งที่ไม่ใช่บริษัทที่มีความน่าเชื่อถือด้านการบริหารจัดการน้ำโดยตรง อีกทั้งความน่าเชื่อถือทั้งด้านสภาพการเงิน และประสบการณ์ทำงาน ก็เทียบไม่ได้กับบริษัท EEC ที่น่าเชื่อถือกว่า

“ผมไม่ได้รู้จักกับบริษัททั้ง 2 เป็นการส่วนตัว แต่ต้องการให้มีความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำอุปโภคบริโภคอย่างเป็นธรรม เพิ่มศักยภาพการแข่งขันใน EEC ถ้า นายสันติ ปล่อยให้มีการลงนามในสัญญา ผมจะยื่นฟ้องต่อ ป.ป.ช. และศาล ทั้ง นายอาคม และ นายสันติ ในลำดับต่อไป” นายยุทธพงศ์ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend