POLITICS

‘ศักดิ์สยาม’ ยันบริสุทธิ์ใจปัดเอี่ยวธุรกิจ หจก.บุรีเจริญ ชี้ งบลงบุรีรัมย์ เพราะอดีตเคยเหลื่อมล้ำ

‘ศักดิ์สยาม’ ยืนยันบริสุทธิ์ใจ ไม่แทรกแซงงานคมนาคม ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน ‘เขากระโดง’ ปัดเอี่ยวธุรกิจ หจก.บุรีเจริญฯ ชี้งบลงบุรีรัมย์เพราะอดีตเหลื่อมล้ำ-ได้งบน้อย เย้ย ‘สุรเชษฐ์’ ไม่เข้าใจปม ‘MR-MAP’

วันนี้ (20 ก.ค. 65) ที่อาคารรัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ครั้งที่ 13 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง) เป็นพิเศษ วาระพิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลุกขึ้นตอบชี้แจงตามคำอภิปรายไม่ไว้วางใจ ของนายกมลศักดิ์ ลีมาเวาะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดนราธิวาส พรรคประชาชาติ นายปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชาติ และนายสุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล

นายศักดิ์สยาม ชี้แจงในประเด็นการแทรกแซงการทำงานของกระทรวงคมนาคมว่า ไม่เคยแทรกแซงการทำงานของหน่วยงานสังกัดกระทรวงคมนาคม และสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบในที่ดินเขากระโดง ดำเนินการตามกฎหมายมาโดยตลอด สิ่งที่มอบให้ทางรถไฟ ทำเป็นไปภายใต้ระเบียบกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล เรื่องนี้มีรายละเอียดอภิปรายไปหลายครั้งแล้ว

“ยืนยันด้วยความบริสุทธิ์ใจ ผมเป็นเพียงผู้อาศัยอยู่ในพื้นที่ เพราะทุกอย่างอยู่ในกระบวนการของกฎหมาย” นายศักดิ์สยาม กล่าว

สำหรับประเด็นที่สองที่กล่าวหาว่า แทรกแซงการทำงานของการรถไฟฯ ยืนยันว่า ได้สั่งการการทำงานตามหลักธรรมาภิบาลอย่างเคร่งครัด และดำเนินการในสิ่งที่กำกับดูแลอย่างชัดเจน จึงได้แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ในพื้นที่ให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

นอกจากนั้น ในหนังสือสั่งการของนายศักดิ์สยาม ยังได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาที่ดินเขากระโดง ให้ปฏิบัติด้วยความเท่าเทียม เสมอภาค และโปร่งใส ส่วนประเด็นต่อมาคือ ในฐานะที่หน่วยงานการรถไฟฯ เป็นหน่วยงานของรัฐ การจะให้การรถไฟไปฟ้องร้องกับประชาชนที่มีเอกสารออกโดยชอบจากหน่วยงานของรัฐเป็นความไม่เป็นธรรมกับพี่น้องประชาชน แต่สิ่งที่มีการดำเนินการคือ การพิสูจน์สิทธิ์ก่อน

“การรถไฟฯ เชื่อว่า การออกเอกสารสิทธิ์ของกรมที่ดินมีความคาดเคลื่อน จึงขอให้กรมที่ดินพิจารณาตามกรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมาย เพื่อเพิกถอนเอกสารสิทธิ์ที่ออกทับซ้อนในที่ดินของการรถไฟ” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อไปว่า ขณะที่ทางการรถไฟฯ มีคำร้องไปที่ศาลปกครอง ให้มีกระบวนการวินิจฉัยเรื่องนี้ ถามว่าทำไมต้องฟ้องต่อศาลปกครอง การรถไฟฯ แจ้งว่า ศาลปกครองกลางสามารถมีคำสั่งให้เพิกถอนที่ดินทั้งแปลงตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 ได้ ทำให้เกิดความสะดวกรวดเร็ว รัดกุม ไม่มีที่ดินส่วนใดตกหล่น

“ขอให้พึงระวังประเด็นการกล่าวหา อาจจะเป็นการก้าวล่วงการพิจารณาของศาล สุ่มเสี่ยงต่อการละเมิดอำนาจศาล ซึ่งทุกคนต้องให้ความเคารพต่อกระบวนการยุติธรรม” นายศักดิ์สยาม กล่าว

นอกจากนี้ เรื่องที่สมาชิกอภิปรายพาดพิงบิดาคือ นายชัย ชิดชอบ ว่า ขออาศัยสิทธิในที่ดินของรฟท. เมื่อปี 2516 นั้น นายศักดิ์สยาม ตอบว่า เป็นที่ดินคนละแปลงกัน ที่ดินนั้นมีเนื้อที่ประมาณ 6 ไร่ 1 งาน 48 ตารางวา ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 3466 จะมีพื้นที่ 7 ไร่ 1 งาน 55.8 ตารางวา และมียื่นออกเอกสารสิทธิจากกรมที่ดิน

นายศักดิ์สยาม ยกคำอภิปรายของ พ.ต.อ. ทวี สอดส่อง ที่กล่าวว่า เมื่อศาลยุติธรรมพิพากษาว่า กรรมสิทธิ์ในที่ดินเขากระโดงเป็นของการรถไฟฯ การรถไฟฯ สามารถนำผลพิพากษาไปใช้ต่อบุคคลภายนอกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 โดย นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า มาตรา 145 เป็นเรื่องของการใช้ยืนยันสิทธิ์ของทางรถไฟในที่ดินแปลงที่อยู่ในคำพิพากษาเท่านั้น แต่ไม่สามารถนำไปใช้กับที่ดินแปลงอื่น

ในประเด็นนิติกรรมอำพราง ขายหุ้น หจก.บุรีเจริญฯ ที่กล่าวว่า มีพฤติกรรมซื้อขายปลอม เพื่อให้รัฐมนตรีว่ากระทรวงคมนาคมได้ประโยชน์จากโครงการรับเหมาของกระทรวงคมนาคมนั้น นายศักดิ์สยาม กล่าวว่า เรื่องนี้มีการซื้อขายกันจริง ตั้งแต่วันที่ 16 ม.ค. 2561 ได้มีการโอนเงินเสร็จเรียบร้อย ดังนั้นตั้งแต่วันที่ 28 มี.ค. 2561 ส่วนตัวไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการประกอบธุรกิจ หจก.บุรีเจริญฯ เป็นต้นไป ส่วนเงินที่ได้รับจากการขายหุ้น ได้นำไปชำระหนี้สินส่วนตัว

เรื่องกล่าวหาถัดมานั้น โครงการต่างๆ ของกระทรวงคมนาคมมีลักษณะ ‘ฮั้วประมูล’ นายศักดิ์สยาม เรียนว่า ไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้ หลังจากได้เข้ามาดำรงตำแหน่งได้มอบนโยบายให้กับข้าราชการ 4 ข้อ คือ ต้องปฏิบัติงานให้เป็นไปตามระเบียบกฎหมาย ต้องถูกต้องตามมติ ครม. ต้องเป็นไปตามหลักธรรมาภิบาล และต้องรับฟังเสียงประชาชน อีกทั้งการประมูลไม่ได้ทำโดยกระทรวงคมนาคม แต่ใช้วิธี E-Bidding ซึ่งดำเนินโดยกรมบัญชีกลาง

ประเด็นต่อมาคือ กระทรวงคมนาคมจัดงบประมาณสำหรับกรมทางหลวงชนบทไปที่จังหวัดบุรีรัมย์มากกว่าปกติ ชี้แจงว่า ต้องพิจารณาขอตั้งงบประมาณที่มีการดำเนินการของกระทรวงคมนาคมในเรื่องกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบท โดยการของบประมาณนั้น ขอไปมากทุกปี แต่จะได้รับการจัดสรรไม่เกิน 1 ใน 3 ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันมีทั้งเรื่องการจัดตั้งงบประมาณที่เป็นโครงการขนาดใหญ่ ที่เป็นงบผูกพัน และการจัดตั้งโครงการขนาดเล็ก หรืองานปีเดียว ซึ่งมีการตรวจสอบ และศึกษามาอย่างดี โดยคณะทำงาน ก่อนจะลงนามเสนอไปยังสำนักงบประมาณ

“10 ปีที่ผ่านมา จังหวัดบุรีรัมย์ มีงบของกรมทางหลวง และกรมทางหลวงชนบทไม่ได้มีงบประมาณอะไรที่มากกว่าจังหวัดอื่นๆ ถ้าเปรียบให้เห็นชัดเจนว่า งบประมาณที่สูงขึ้นในห้วงท้ายๆ เพราะในอดีตที่ผ่านมา การพัฒนาจังหวัดบุรีรัมย์ได้รับการจัดสรรงบประมาณน้อย ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา” นายศักดิ์สยาม กล่าว

ในประเด็นสุดท้ายคือ MR-MAP นั้น ที่ถูกกล่าวหาว่า เป็นการซ้ำซ้อนโครงการรถไฟทางคู่ความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ ซึ่งจะแย่งผู้โดยสารกันเอง เกิดหนี้สูง 5.7 ล้านล้านบาท ผลประโยชน์ไม่ตกถึงประชาชนในพื้นที่ นายศักดิ์สยาม โต้ตอบว่า นายสุรเชษฐ์ อาจจะยังไม่เข้าใจในประเด็นนี้ ซึ่งได้เคยพูดว่า อยากให้ท่านไปร่วมประชุมที่กระทรวงคมนาคมเพื่อหารือแลกเปลี่ยน เพื่อทำให้เกิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ในการพัฒนา MR-MAP ซึ่งท่านไม่เคยไปสักครั้ง

นอกจากนี้ นายสุรเชษฐ์ ยังได้ใช้สิทธิ์พาดพิง และกล่าวว่า หลายๆ ประเด็นที่นายศักดิ์สยาม พยายามชี้แจงมันฟังไม่ขึ้น ตามที่บอกว่า มีหลายอย่างที่ยังไม่เข้าใจแนวคิดนี้ รวมถึงอยากให้ไปประชุมที่กระทรวงฯ แต่เรื่องนี้เราคุยกันตั้งแต่การพิจารณางบประมาณปี 2564 ความจริงแล้วเขาไม่เชิญ ควรจะมีการถกเถียง และไลฟ์สดไปเลยเพราะมีการใช้งบถึง 5.77 ล้านล้านบาท

Related Posts

Send this to a friend