POLITICS

นายกฯ แจง สั่งโยก ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ – พล.ต.อ.สุรเชษฐ์‘ ช่วยงานสำนักนายกฯ ชั่วคราว 60 วัน

นายกฯ แจง หลังสั่งโยก ‘พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ – พล.ต.อ.สุรเชษฐ์‘ ช่วยงานสำนักนายกฯ เป็นการชั่วคราว 60 วัน เหตุ ไม่อยากให้ก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม พร้อมตั้ง คกก. ตรวจสอบ หากพ้นมลทิน อาจเรียกกลับมา ลั่น ทำไปเพื่อปกป้อง ไม่ได้ลงโทษ

วันนี้ (20 มี.ค. 67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนหลังจากเซ็นเอกสารให้ พลตำรวจเอกต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และ พลตำรวจเอกสุรเชษฐ์ หักพาล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มาช่วยงานที่สำนักนายกรัฐมนตรี

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่าหลังจากที่มีประเด็นด้านการบริหารหน้าที่ราชการเรื่องคดีความ ซึ่งต้องให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการไปได้ด้วยความเป็นธรรม และไม่มีการแทรกแซง จริง ๆ แล้วทั้งสองยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ แต่ว่าเพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความสะดวก และดูแลพี่น้องประชาชนได้อย่างเต็มที่ ไม่มีการก้าวก่ายในกระบวนการยุติธรรม จึงขอโอนทั้งสองมาช่วยราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเวลาชั่วคราว 60 วัน และระหว่างนั้น จะมีการตั้งคณะกรรมการในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ยืนยันว่า เป็นการชั่วคราว ไม่ได้เป็นการลงโทษ ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน ซึ่งในวันนี้มีการออกจดหมายสองฉบับ คือให้ทั้งสองมาช่วยงานที่สำนักนายกฯ และอีกฉบับคือให้พลตำรวจเอกกิตติ์รัฐ พันธุ์เพชร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นรักษาการ ผบ.ตร.

ส่วนคณะกรรมการในการตรวจสอบนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ในเย็นนี้จะมีเอกสารอีกฉบับคือ ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องนี้ โดยมี 3 ท่าน เป็นตำรวจ อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทยและมาจากสำนักอัยการ

ส่วนการเรียกทั้งสองมาพบในวันนี้นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่าได้มีการพูดคุยกันเรื่องนี้ และพูดคุยกันว่าจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไรในช่วงที่ถูกโอนมาปฎิบัติหน้าที่ในสำนักนายกรัฐมนตรี และก็ได้มีการรับปากว่าจะไม่ยุ่ง ปล่อยให้เป็นกระบวนการตามกฎหมาย ให้มีการสืบทราบความจริง ให้กระบวนการยุติธรรมเดินไปข้างหน้าได้ โดยไม่มีการแทรกแซง และไม่ให้ลูกน้องของทั้งสองออกมาพูดอะไรอีกแล้ว

”ท่านเป็นผู้ใหญ่ ควรรู้ว่าจะพูดอะไร ไม่พูดอะไร ก็เป็นไปตามที่แถลงข่าว จริงๆแล้วตอนนี้ให้กระบวนการยุติธรรมเป็นไปได้ไม่ให้มีการก้าวก่ายหรือการล็อบบี้กันเกิดขึ้น“ นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนการโอนมาช่วยงานในครั้งนี้จะไม่ทำให้เรื่องนี้บานปลายใช่หรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า เป็นไป ตามหน้าที่ และปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญทุกประการ ตนเองไม่ได้สบายใจที่ต้องทำแบบนี้ เพียงแต่เป็นหน้าที่ที่ต้องทำ เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเดินไปข้างหน้าได้ และมีหน้าที่หลักในการดูแลพี่น้องประชาชน ส่วนนี้ตนเองเชื่อว่าทุกอย่างจะค่อยคลี่คลายในทางที่ดีขึ้น หากภายใน 60 วัน คณะกรรมการทั้ง 3 ท่านตรวจสอบมาแล้ว และอาจต้องใช้เวลามากกว่านั้น แต่หากพิสูจน์ได้ว่ากระบวนการยุติธรรมสามารถเดินไปได้ โดยที่ไม่ต้องมีการก้าวก่าย หรือแทรกแซง ก็จะพิจารณาโอนย้ายกลับมาได้ และขอให้เวลาคณะทำงาน ซึ่งเป็นในทุกเรื่องคดีที่มีการกล่าวโทษกัน

ส่วนความกังวลใจของทั้งสองหลังจากถูกโอนให้มาช่วยงานในสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น นายเศรษฐา ระบุว่า เป็นธรรมดาว่าทั้งสองท่านมีความกังวลใจ และไม่สบายใจ แต่ก็ยอมรับด้วยดี เมื่อรู้ว่าคณะกรรมการทั้งสามท่านเป็นใคร ก็บอกว่าเป็นคนกลาง และแฟร์ ก็ยอมรับดี

“ผมไม่ได้มีธงว่าต้องตัดสินออกมาเป็นอย่างไร วันนี้เราต้องเอาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนเป็นที่ตั้ง เรื่องของการทำงานกับสำนักงานตำรวจตำรวจแห่งชาติ เรื่องข้าราชการชั้นผู้ใหญ่แถวสองแถวสาม ที่อาจเข้าข้างใครคนใดคนหนึ่ง ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เต็มสภาพ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญมากกว่า เพราะฉะนั้น การที่เอาคู่ขัดแย้งไปช่วยราชการที่สำนักนายกฯ ก่อน ทุกท่านจะได้ทำงานได้อย่างเต็มที่ จุดโฟกัสสำคัญที่สุดคือความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชน” นายกรัฐมนตรี กล่าว

นายกรัฐมนตรี ย้ำว่า ยังมีปัญหาเรื่องของความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยาเสพติด หนี้นอกระบบ เว็บพนัน บ่อน ปัญหาต่าง ๆ นี้ เป็นเรื่องที่เราควรให้ความสำคัญมากกว่า ซึ่งทั้งสองก็เข้าใจ อยากให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีชื่อเสียงที่ดีกลับคืนมาได้

ส่วนการออกมาแฉตัวย่อที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจมากกว่านี้นั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไม่อยากจะไปพูดต่อ ไม่อยากไปก้าวก่ายกระบวนการยุติธรรม และไม่อยากให้ปรากฏชื่อพวกนี้เข้ามา ไม่อยากให้ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่คนใดคนหนึ่งมาพูดเรื่องพวกนี้แล้ว และเราทุกคนจะได้สบายใจว่า กระบวนการทุกอย่างเป็นไปตามกฏหมาย ทุกคนจะได้ปฏิบัติหน้าที่ตนเองได้อย่างเต็มที่ พร้อมย้ำว่า มีความลำบากใจ และไม่สบายใจที่จะทำแบบนี้ แต่ถึงเวลาแล้วที่เอาผู้ที่มีความขัดแย้งออกไปจากระบบก่อน และให้กระบวนการทางเดินไปได้ และปราศจากการแทรกแซง และเชื่อว่าทุกคนเข้าใจว่าทำไมถึงมีวันนี้เกิดขึ้น

ส่วนในวันพรุ่งนี้ตนเองจะเดินทางไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะมีการเรียกประชุมกับรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วย ผู้บัญชาการภาค และผู้บัญชาการทั้งหลาย เพื่อมอบนโยบาย

ส่วนจะมีการชี้แจงเรื่องนี้ในที่ประชุมหรือไม่ นายกรัฐมนตรี ระบุว่า คงไม่มีการชี้แจงอะไร เพราะทุกท่านคงเป็นกระบอกเสียงให้อยู่แล้ว เชื่อว่าตนเองพูดตรงไปตรงมามากที่สุด แต่คงมีการเกริ่นคร่าว ๆ ในที่ประชุม ว่าจริง ๆ แล้วเราอย่าลืมว่าเรามาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร เพื่อดูแลทุกข์สุขของพี่น้องประชาชน ไม่อยากให้ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ต้องมาเข้าข้างใคร

“ท่านทั้งสองก็น่าจะสบายใจ เพราะท่านคงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสืบสวนสอบสวนอะไรแล้ว เพราะได้ถูกโยกมาช่วยงานที่สำนักงานนายกฯ แล้ว ไม่มีใครจะกล่าวหาท่านใดท่านหนึ่งได้เลยว่าแทรกแซงกระบวนการยุติธรรม จริง ๆ ผมทำอย่างนี้ เพื่อปกป้องทั้งสองท่านด้วย ยืนยันว่า ไม่ได้เป็นการลงโทษ ไม่ได้มีการลดเงินเดือน หรืออะไรทั้งสิ้น ทั้งสองท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่” นายกรัฐมนตรี กล่าว

ส่วนที่มองว่าเรื่องนี้เป็น Proxy War หรือตัวกลางความขัดแย้ง นายเศรษฐา ระบุว่า ก็ชัดเจนอยู่แล้วท่านก็เป็นผู้เสนอข่าวพวกนี้อยู่แล้ว ท่านน่าจะเข้าใจอยู่ และเดี๋ยวก็ต้องมาว่ากันอีกที เรื่องนี้ก็เป็นเรื่องด่วน ก็ต้องจัดการไป

นายกรัฐมนตรี ระบุว่า หลังจากออกหนังสือตั้งคณะกรรมการแล้ว จะเรียกประชุมต่อเลยว่าให้แต่ละท่านทำอย่างไร ไม่อยากให้มีการชี้นำว่าผลออกมาเป็นอย่างไร พร้อมยืนยันว่า ทั้งสองท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ และต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้งสองท่าน การนำท่านทั้งสองท่าน ออกจากตำแหน่ง ที่มีอิทธิพลชี้นำ ก็ทำให้ทั้งสองท่านหากถูกตรวจสอบแล้วปราศจากมลทิน กลับเข้ามาได้อย่างสง่า และไม่อยากให้เรียกว่าการประชุม เป็นการคุยกันมากกว่า

Related Posts

Send this to a friend