POLITICS

นายกฯ เปิดนิทรรศการ ไทยแลนด์ BCG โชว์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

นายกฯ เปิดนิทรรศการ ไทยแลนด์ BCG โชว์ผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ไทยมุ่งขับเคลื่อนโมเดล BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ ย้ำ!ไทยมีผลงานที่จับต้องได้ ชี้โลกเผชิญโรคอุบัติใหม่ ต้องช่วยกันแก้ปัญหาทุกคน

วันนี้ (14 พ.ย. 65) พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีเปิดนิทรรศการ Thailand BCG ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นําเขตเศรษฐกิจเอเปค ระหว่างวันที่ 14-19 พฤศจิกายน 2565 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกระทรวงการต่างประเทศ ได้ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนจัดขึ้น เพื่อนำเสนอความสำเร็จการขับเคลื่อนวาระเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) ซึ่งเป็นเศรษฐกิจที่เน้นการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรชีวภาพอย่างคุ้มค่า ควบคู่กับการรักษาสมดุล ในช่วงสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “การเปิดนิทรรศการ BCG ในวันนี้ ถือเป็นการเริ่มต้นอย่างเป็นทางการ ของสัปดาห์การประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค พร้อมขอบคุณกระทรวงการต่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมแรง ร่วมใจจนเกิดเป็นงานในวันนี้ แสดงให้เห็นถึงความพร้อม ความมุ่งมั่นของไทยในการขับเคลื่อนโมเดล BCG การพัฒนาภูมิภาคและโลกอย่างแท้จริง ซึ่งได้มีการพูดคุยในเวทีการประชุมอาเซียนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา

ทางนี้ประเทศไทยมีผลงานที่จับต้องได้เป็นจำนวนมาก สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการสร้างความยั่งยืน แต่อาจยังไม่ได้รับรู้สู่สาธารณะชนจึงหวังว่าการพบกันในวันนี้และต่อๆไป จะทำให้ทุกคนเห็นภาพที่ครบถ้วนมากขึ้น จากการเยี่ยมชมนิทรรศการของไทย โดยเฉพาะประโยชน์ที่ประชาชน จะได้รับและความเกี่ยวโยงของแนวคิด BCG กับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก

ในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ผู้นำและผู้แทน จากเขตเศรษฐกิจจะมาประชุม จะมีการรับรองเอกสารผลลัพธ์ที่สำคัญที่สำคัญ เป็นการปูพื้นฐาน สู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และพร้อมนำไปสู่การวางรากฐาน ระบบเศรษฐกิจของโลกยุคหลังโควิด-19 อย่างยั่งยืนสมดุลและครอบคลุม

วันนี้โลกกำลังเผชิญกับความท้าทาย ทั้งโรคอุบัติใหม่ ที่วันนี้ผ่านมาแล้วกับโรคโควิด-19 จนสถานการณ์ดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นอีก ดังนั้นความสำคัญคือเรื่องของสุขภาพ ปากท้อง และทุกวันนี้มีปัญหาเรื่องการผลิตอาหารของโลก รวมถึงวิกฤติด้านพลังงาน จึงจำเป็นที่ต้องพัฒนาในทุกๆ ด้าน แต่ไม่มีประเทศใดจะแก้ปัญหา ได้โดยเพียงลำพัง

ดังนั้นทุกคนที่อยู่ในโลกใบนี้ และทุกประเทศ จะต้องร่วมมือกันเพื่อประชาชนของเรา และโลกของเราในอนาคต ความท้าทายคือเรื่องสภาวะโลกร้อน และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเกษตรและอุตสาหกรรม ดังนั้นความร่วมมือต่างๆก็ต้องมาจากทุกคน ทุกภาคส่วน ภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคสังคม ที่จะต้องเดินหน้าไปพร้อมพร้อมกัน เพราะทุกคนคือประชากรบนโลกใบนี้ ทุกคนคือเพื่อนกันคือมิตรที่มีกันอย่างยาวนาน”

Related Posts

Send this to a friend