POLITICS

‘ปารมี’ จับตา 3 ประเด็นร้อนด้านการศึกษา พร้อมหารือ กมธ. เรียกผู้บริหาร กสพท. แจงปมข้อสอบ TPAT

วันนี้ (18 ธ.ค. 66) นายปารมี ไวจงเจริญ สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะคณะกรรมาธิการการศึกษา ผู้แทนราษฎร แถลงข่าว Policy Watch จับตานโยบายและการทำงานด้านการศึกษาในหัวข้อ “วิกฤติการศึกษาไทย แก้ไขแบบไม่แก้ไข” ณ ที่ทำการพรรคอนาคตใหม่

นายปารมี กล่าวว่า สืบเนื่องจาก เมื่อวันที่ 16 ธันวาคมที่ผ่านมา มีการสอบคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต หลักสูตรทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต หลักสูตรสัตวแพทยศาสตรบัณฑิต และหลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิต ในระบบรับตรงของ กลุ่มสถาบันแพทย์แห่งประเทศไทย (กสพท) หรือ TPAT1 เพื่อนำมาเข้าร่วมการคัดเลือกในระบบ TCAS โดยมีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงข้อสอบที่นำมาใช้สอบ เนื่องจากพบว่าข้อสอบที่นำมาใช้ฉบับที่ 1 ซึ่งเป็นข้อสอบพาร์ทเชาว์ปัญญา มีส่วนหนึ่งที่นำข้อสอบจาก The BioMediacal Admissions Test (BMAT) ซึ่งเป็นข้อสอบเฉพาะทางสำหรับผู้ที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในสาขาการแพทย์ของประเทศอังกฤษ จัดทำโดย Cambridge Assessment Admissions Testing มาแปลเป็นภาษาไทยทั้งหมด โดยไม่มีการเปลี่ยนโจทย์ หรือตัวเลือก ทำให้หลายคนมองว่าการกระทำเช่นนี้ ไม่ก่อให้เกิดความเป็นธรรมในการสอบ เนื่องจากอาจจะเอื้อประโยชน์ให้คนบางกลุ่มที่เคยสอบ BMAT และมาสอบ TPAT 1 ต่อ หรือคนที่เคยติวสอบข้อสอบ BMAT มาก่อน ก็อาจจะรู้คำตอบ ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกันอย่างมาก

ประเด็นถัดมา คือ การสะท้อนความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาไทย ผ่านคะแนนสอบ PISA หรือ การประเมินสมรรถนะนักเรียนมาตรฐานสากล (Programme for International Student Assessment) เนื่องจากพบว่า คะแนนของเด็กไทยลดลงมาอยู่ในจุดที่ต่ำสุดในรอบ 20 ปี ในทักษะทั้ง 3 ด้าน โดยมีอันดับอยู่ในครึ่งล่างของตารางทั้งในระดับโลกและระดับภูมิภาคอาเซียน
สะท้อนให้เห็นถึงวิกฤตคุณภาพการเรียน เชื่อมโยงกับปัญหาคุณภาพคุณครูที่ต้องแบกภาระงานนอกห้องเรียน ทำให้เป็นปัญหาว่าหลักสูตรการเรียนการสอนของเด็กไทยสอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลางที่เด็กไทยเรียนอยู่หรือไม่

“เด็กไทยเรียนเยอะ เรียนหนัก เป็นสิ่งที่พรรคก้าวไกลพูดมาตลอด แต่ผลลัพธ์ออกมาได้น้อยมากเด็กไทยเรียนหนักถึงปีละ 1,200 ชั่วโมง แต่ผลลัพธ์ออกมาสะท้อนด้วยคะแนน PISA” นายปารมี กล่าว

ผลพวงมาจากระบบการศึกษาไทยตั้งแต่อดีต ที่ได้แบ่งการศึกษาไทยตามระบบชนชั้น ตัวอย่าง เช่น ระบบการศึกษาของชนชั้นกลางและชนชั้นนำ เช่น โรงเรียนเตรียมฯ โรงเรียนสาธิตฯโรงเรียนนานาชาติ และระบบการศึกษาทั่วไปที่กำกับโดยรัฐ ทั้งที่สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) เป็นต้น

ปารมี เผยต่อว่า นอกจากคะแนน PISA แล้ว ยังมีคะแนนระดับชั้นอื่น เช่น O-NET มองว่าหลักสูตรการศึกษาของไทยมีการแก้ไขแบบไม่แก้ไข มีการรับลูก แต่ไม่เคยแก้ไขอย่างจริงจัง การศึกษาไทยเป็นการแก้ไขแบบขอไปที จึงอยากเสนอข้อแก้ไข โดยคิดว่าควรใช้หลักสูตรฐานสมรรถนะ ถ้าผู้บริหารกระทรวงมีความจริงใจที่แก้ปัญหา ลองปัดฝุ่นหลักสูตรฐานสมรรถนะ ฟื้นฟูทักษะและเพิ่มทักษะใหม่ให้ครู ให้นักเรียนไทยเท่าทันกระแสโลก

ประเด็นสุดท้าย คือ การแก้ปัญหาภาระหน้าที่คุณครูเกินความจำเป็นในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขยายโอกาส เราควรหยุดวงจรการมอบภาระหนักให้กับครูมากเกินไป ทั้งเรื่องการเลือกนอนเวร การประเมินเอกสารประเมิน โครงการที่ไม่จำเป็นต่อการเรียนหลายโครงการ ตนเองคิดว่าเป็นปัญหาที่ควรแก้ไขได้โดยไว โดยรัฐมนตรีสามารถลงนามได้ทันที

จากนั้นได้เปิดโอกาสให้สื่อมวลชนสอบถาม โดยผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่ กสพท. จะประชุมกันช่วงเย็นวันนี้ จะจับตาอย่างไรบ้าง นายปารมี กล่าวว่า ตนเองประสานกับประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) ไว้แล้ว ซึ่งตนเองได้ไลน์ไปสอบถามตั้งแต่วันแรกที่เกิดเรื่อง ซึ่งได้รับคำตอบว่าจะเร่งดำเนินการ นอกจากนี้ยังได้ประสานงานไปยัง นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมไว้แล้วด้วย พร้อมย้ำว่า หลายคนอาจจะโต้แย้งว่ามีข้อสอบไม่กี่ข้อ แต่ตนเองอยากบอกว่าการสอบเข้าแพทย์ของกลุ่ม กสพท. มันวัดว่าจะสอบติดหรือไม่ติด เฉือนกันเป็นทศนิยม 4 ตำแหน่ง เพราะฉะนั้น ข้อสอบหนึ่งข้อมีความหมายกับพวกเด็กนักเรียนมาก แต่ความผิดพลาดกลับมีประมาณ 8-11 ข้อ ถือว่าเยอะ ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า หากผลการสอบพบว่าเป็นการคัดลอกข้อสอบมาจริง จะมีข้อเสนอให้ทำอย่างไร นายปารมี กล่าวว่า ถ้าเป็นการคัดลอกจริง กสพท. จะต้องออกมาขอโทษนักเรียนและผู้ปกครอง ซึ่งหากคัดลอกจริง ตนเองอยากถามว่าได้ซื้อลิขสิทธิ์มาหรือไม่ ถ้าไม่ได้ซื้อแล้วเอามาใช้ แค่แปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยนี้ไม่ได้ จะต้องมีมาตรการตรวจสอบและลงโทษต่อไปด้วย โดยอาจจะต้องมีการสอบใหม่หรือให้ฟรีในคะแนน 8-11 ข้อสอบที่เหมือนกับ BMAT

ปารมี กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้การสอบทุกประเภทมีการเปิดเผยข้อสอบสู่ประชาชน เพื่อความโปร่งใสและตรวจสอบได้ โดยไม่ต้องกลัวเรื่องความผิดพลาด หากมีความจริงใจ ประชาชนยินดีรับคำขอโทษ พร้อมเผยว่า วันพฤหัสบดีนี้ (21 ธ.ค. 66) จะมีการประชุม ตนเองจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมอย่างแน่นอน เพื่อให้ที่ประชุมมีมติเรียกผู้บริหาร กสพท. เข้ามาชี้แจงในสภาฯ รวมถึง ทปอ. มาร่วมด้วย

Related Posts

Send this to a friend