POLITICS

มติรัฐสภา คว่ำร่าง รธน. Re-Solution ด้วยมติ 473 : 206 เสียง

วันนี้ (17 พ.ย. 64) ที่ประชุมร่วมรัฐสภา มีมติไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับภาคประชาชน จากกลุ่ม Re-Solution ด้วยมติ 473 เสียง (สภาผู้แทนราษฎร 249 เสียง + วุฒิสภา 224 เสียง) ต่อมติเห็นชอบ 206 เสียง (สภาผู้แทนราษฎร 203 เสียง + วุฒิสภา 3 เสียง) งดออกเสียง 3 เสียง โดยคะแนนที่รับหลักการ น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกรัฐสภา จึงทำให้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เป็นอันตกไป ซึ่ง ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภาส่วนใหญ่ ไม่รับหลักการต่อการแก้ไขครั้งนี้ มีเพียง ส.ส.ฝ่ายค้าน ที่ลงมติรับหลักการให้กับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้

โดยการลงมติครั้งนี้ เกิดขึ้นภายหลังกลุ่ม Re-Solution ได้นำเสนอหลักการในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ต่อที่ประชุมวานนี้ (16 พ.ย. 64) ซึ่งได้มีการเสนอให้แก้ไขระบบเลือกตั้ง จากที่รัฐสภา ได้แก้ไขจากระบบบัตรใบเดียว ไปเป็นระบบบัตร 2 ใบ แต่ภาคประชาชนฯ ได้เสนอให้กลับมาใช้บัตรใบเดียว ตามระบบจัดสรรปันส่วนผสมเช่นเดิม รวมถึงการยกเลิกยุทธศาสตร์ 20 ปี และแผนการปฏิรูปประเทศ พร้อมตั้งผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล และผู้ตรวจการองค์กรอิสระขึ้นมา โดยมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เข้าไปตรวจสอบถ่วงดุลการใช้งบประมาณ การดำเนินงานของหน่วยงานดังกล่าว และเพื่อให้ข้อเสนอต่อกองทัพ ศาล และองค์กรอิสระในการดำเนินการ พร้อมเซ็ตซีโร่ประธาน และกรรมการองค์กรอิสระทุกองค์กรเพื่อกระบวนการสรรหาใหม่ 

สาระสำคัญในการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญภาคประชาชนครั้งนี้ ยังมีการเสนอยกเลิกวุฒิสภา เพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติของประเทศไทยไปใช้ “ระบบสภาเดี่ยว” เหลือเพียง “สภาผู้แทนราษฎร” แบบสภาเดี่ยวตามรูปแบบในหลายประเทศ เนื่องจาก เห็นว่า ที่ผ่านมาแม้ วุฒิสภาจะมีหน้าที่หลักในการกลั่นกรองกฎหมาย ต่อจากสภาผู้แทนราษฎร แต่ส่วนใหญ่แล้ว วุฒิสภาก็มักจะเห็นชอบ ตามที่ สภาผู้แทนราษฎรได้พิจารณามา จึงไม่เห็นว่า วุฒิสภา จะทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย หรือถ่วงดุลระบบนิติบัญญัติแต่อย่างใด

แต่ในความเห็นของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จากพรรคร่วมรัฐบาล และสมาชิกวุฒิสภา ได้คัดค้านต่อการแก้ไขดังกล่าว เนื่องจากยังเห็นว่า วุฒิสภา นั้น ยังมีความจำเป็นต่อฝ่ายนิติบัญญัติของไทย เพื่อยังคงทำหน้าที่สำคัญในการกลั่นกรองกฎหมายต่อจากสภาผู้แทนราษฎร ที่หากเกิดความผิดพลาดของกฎหมาย ที่ผ่านการพิจารณาจากสภาผู้แทนราษฎรไป อย่างน้อยก็ยังคงมีวุฒิสภา มากลั่นกรองอีกชั้นหนึ่ง และเพื่อป้องกันไม่ให้ฝ่ายนิติบัญญัติ หรือสภาผู้แทนราษฎร ใช้อำนาจในการออกกฎหมายตามอำเภอใจ จึงจำเป็นจะต้องมีวุฒิสภามาคอยตรวจสอบ และถ่วงดุลการใช้อำนาจ และยังเห็นว่า ตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขของไทยนั้น ประเทศไทย ก็มีระบบสภาคู่มาโดยตลอด 

นอกจากนั้น วุฒิสภา ยังเห็นว่า อำนาจของสภาผู้แทนราษฎร ที่กลุ่ม Re-Solution ได้นำเสนอแก้ไข พร้อมการยกเลิกวุฒิสภานั้น ยังมีอำนาจล้นฟ้า ทั้งการเข้าไปร่วมเป็นผู้ตรวจการกองทัพ ผู้ตรวจการศาล และผู้ตรวจการองค์กรอิสระ จนเกรงว่า อาจจะเป็นการเข้าไปก้าวก่าย แทรกแซงอำนาจของฝ่ายบริหาร ฝ่ายตุลาการ รวมไปถึงองค์กรอิสระ จนอาจจะกระทบต่อการทำหน้าที่ การตรวจสอบ และการถ่วงดุลอำนาจ 

ขณะที่ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย ชี้แจงถึงการลงมติรับหลักการในครั้งนี้ เนื่องจากเห็นว่า ยังสามารถนำมาแก้ไขให้เหมาะสมในชั้นกรรมาธิการ วาระที่ 2 ได้ โดยเฉพาะประเด็นการคงอยู่ของวุฒิสภา และอำนาจหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เพื่อผ่อนคลายสถานการณ์การเมืองของประเทศ ป้องกันการเมืองบนถนน

ทั้งนี้ ฝ่ายหลังที่รัฐสภา ไม่รับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้ว ส่งผลให้ในสมัยการประชุมนี้ (สมัยการประชุมที่ 2 ประจำปี 2564) จะทำให้รัฐสภา ไม่สามารถพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในลักษณะที่มีหลักการเหมือนกับกลุ่ม Re-Solution ได้อีก จนกว่าจะเริ่มสมัยการประชุมถัดไป

Related Posts

Send this to a friend