POLITICS

กมธ.พัฒนาสังคมฯ แถลง 8 เจตนารมณ์แนวทางแก้ปัญหายาเสพติด – การใช้ความรุนแรง

กมธ.การพัฒนาสังคมฯ แถลง 8 เจตนารมณ์ แนวทางแก้ปัญหา ยาเสพติด และการใช้ความรุนแรง ในสังคม หลังเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงที่ จ.หนองบัวลำภู

วันนี้ (17 ต.ค. 65) ที่อาคารรัฐสภา นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา และในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาสังคม และกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส ชี้แจงเจตนารมณ์ หลังมีการหารือกับ 108 องค์กรภาคีเครือข่าย ถึงแนวทางการแก้ไขปัญหา เมื่อวันที่ 11 ต.ค. ที่ผ่านมา หลังเกิดเหตุความรุนแรงที่ จ.หนองลำภู วันที่ 6 ต.ค. ที่ผ่านมา

โดยเจตนารมณ์มีทั้งหมด 8 ประการ

  1. ร่วมกันผลักดัน จัดการปัญหายาเสพติด ทั้งในเชิงป้องกันปกป้อง คุ้มครอง ปราบปรามและบำบัดเยียวยา บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด
  2. จะร่วมกันผลักดันให้สามารถขจัดปัญหา การครอบครองอาวุธปืนผิดกฎหมาย ทั้งระดับบุคคล ระดับองค์กร และระดับประเทศโดยคำนึงถึงมิติด้านสุขภาพกาย สุขภาพจิตและความจำเป็นในการใช้งานอย่างเข้มงวด
  3. จะร่วมสร้างความตระหนักถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงในสังคมทุกมิติ กำจัดปัจจัยที่สนับสนุน หรือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมความรุนแรง ทั้งในครอบครัว ชุมชน สังคม เช่นระบบการดูแลสมาชิกในชุมชน องค์กร ปัญหาเนื้อหาในเกม ข่าว ละคร ภาพยนตร์หรือสื่อออนไลน์อื่นๆ ที่มีการเสนอการใช้ความรุนแรงอย่างไม่เหมาะสม
  4. จะร่วมกำหนดมาตรการปกป้องคุ้มครองเด็ก และเยาวชน เพื่อให้ได้รับการเลี้ยงดูที่เหมาะสมวัย ตามมาตรฐาน เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงได้โดยง่าย
  5. ร่วมสนับสนุนการวางแผนการศึกษาและการใช้นวัตกรรม เพื่อการพัฒนาศักยภาพ ด้านการรู้เท่าทัน และทักษะการป้องกันปัญหาความรุนแรงแก่เยาวชน
  6. ร่วมกันผลักดันให้มีการสำรวจพฤติกรรมพลังบวก เช่น ดัชนีชี้วัดคุณธรรมประชาชนคนไทยหลายจังหวัดทั่วประเทศ
  7. สื่อสารถึงเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างระมัดระวังเหมาะสมให้อยู่ภายใต้หลักจริยธรรมและกฎหมายเพิ่งระวังถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการรับรู้ของเด็ก และเยาวชน
  8. หลีกเลี่ยงการสื่อสารที่ตอกย้ำ และซ้ำเติมบาดแผลในจิตใจของเด็ก เยาวชนและครอบครัว ของผู้ประสบเหตุและรวมถึงการ สื่อสารอย่างเหมาะสมสร้างสรรค์ นำไปสู่การร่วมกันป้องกันและแก้ไขปัญหา

เมื่อถามถึงกรณีล่าสุดมีผลสำรวจจากนิด้าโพล เผยความเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ที่ไม่เห็นด้วยต่อประมวลกฎหมายยาเสพติดฯ ที่กำหนดว่าผู้เสพคือผู้ป่วย นายวัลลภ ระบุว่า เพิ่งได้หารือกับ ณรงค์ รัตนานุกูล ส.ว. ในฐานะอดีตเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กำลังหารือกับประเด็นดังกล่าว โดยเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้เสพมีหลายลักษณะ จะอาศัยการบำบัดรักษาเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้ ต้องดูรายละเอียดและความหนักหนาสาหัสเป็นรายบุคคลเป็นกรณีไป

สำหรับเรื่องการกำจัดปืนเถื่อน มองว่าหากรอกฎหมายคงช้าไป ควรต้องออกเป็น พ.ร.ก.โดยด่วน ให้นำปืนมาคืนภายใน 3 เดือน โดยมีโทษหนักหากฝ่าฝืน ขณะที่อีกปัญหาคือหากปืนขึ้นทะเบียนแล้ว จะเป็นสิทธิครอบครองตลอดชีพ ควรมีการจำกัดจำนวน และจำกัดอายุของการถือครอง ให้มาต่ออายุทุก 3-5 ปี เพื่อจะได้ดูพฤติกรรมของผู้ถือกรอง

โดยข้อมูลเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการฯ จะนำส่งถึงมือนายกรัฐมนตรี พร้อมนั้นจะนำหารือต่อที่ประชุมวุฒิสภาด้วย พร้อมตั้งกระทู้ถามในบางเรื่อง

Related Posts

Send this to a friend