POLITICS

‘เรืองไกร’ บุกสภา ถามเสนอพิธาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ เหตุ กกต. ฟัน ปมหุ้น ITV

‘เรืองไกร’ บุกสภา ถามเสนอพิธาเป็นนายกฯ ได้หรือไม่ เหตุ กกต. ฟัน ปมหุ้น ITV ส่วนเรื่อง’ หุ้นสื่อ ‘ชาดา’ หลักฐานยังไม่พอ

วันนี้ (17 ก.ค. 66 ) ที่รัฐสภา นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ได้เข้ายื่นหนังสือต่อประธานรัฐสภา เพื่อให้ตรวจสอบว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ถือเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามที่จะเป็นรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคหนึ่ง (2) หรือไม่ และตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 89 วรรคสอง ให้ถือว่าไม่มีการเสนอชื่อนายพิธา ใช่หรือไม่

นายเรืองไกร ได้ระบุหลังการยื่นหนังสือว่า จากกรณีที่ประธานฯ ได้ออกระเบียบวาระเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ให้มีการประชุมในวันที่ 19 ก.ค. วาระการเลือกนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญมาตรา 272 ซึ่งในการโหวตรอบแรกนั้น มีความสุ่มเสี่ยงที่จะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ตนเองได้ยื่นคำร้องให้กับ ป.ป.ช.ไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่หลังจากที่ได้มีการพูดคุยกันของ 8 พรรคร่วม นายพิธา ได้ออกมาแถลงว่าอยากจะให้มีการโหวตอีกครั้ง ทางฝ่ายกฎหมายของรัฐสภา จึงต้องตรวจสอบในประเด็นเมื่อถูกญัตติถูกตีตกไปแล้วจะสามารถยื่นได้อีกครั้งหรือไม่ ตามข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 41 และจากการพูดคุยกันข้างต้น ก็ไม่ได้ดูตามข้อบังคับรัฐสภาที่ 36 ที่พูดถึงการโหวตให้ความเห็นชอบแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี ที่เกี่ยวพันกับข้อบังคับรัฐสภา ข้อที่ 136 จึงนำทั้งสองข้อนี้ เพื่อให้หมดความสงสัยว่า การเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีเป็นญัตติหรือไม่ ซึ่งการจะเป็นญัตติหรือไม่เป็นญัตติ ผู้ที่เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี จะต้องมีคุณสมบัติหรือไม่มีลักษณะต้องห้าม

นายเรืองไกร ยังได้ยกการแถลงของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่เห็นว่านายพิธามีลักษณะต้องห้ามเนื่องจากถือหุ้นในกิจการหนังสือพิมพ์หรือสื่อมวลชน จึงมีมติให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า เป็นสาระสำคัญเนื่องจากเจ้าพนักงานที่มีหน้าที่ตามอำนาจกฎหมาย ได้มีความเห็นแล้ว ว่าไม่ควรมีการเสนอนายพิธา และหากในวันที่ 19 ก.ค. มีการเสนอชื่ออีก ตนเองมีความเป็นห่วงเพื่อนสมาชิก ที่จะต้องระมัดระวังการกระทำ เนื่องจากรัฐธรรมนูญมาตรา 88 กำหนดให้พรรคการเมืองต้องส่ง ส.ส.เขตก่อน แล้วจึงส่ง ส.ส.บัญชีรายชื่อ และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีต่อ กกต. ซึ่งพรรคที่ได้ ส.ส.ไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 หรือ 25 คนขึ้นไป จึงจะมีสิทธิเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีนั้น ยังจะต้องมีเงื่อนไขตามรัฐธรรมนูญมาตรา 89 อีกด้วย

นายเรืองไกร ยังกล่าวต่อเมื่อ กกต.เห็นว่านายพิธามีตำหนิและส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ว่าสิ้นสถานะภาพ ส.ส. แต่กฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงการสิ้นสภาพในสถานะแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีและไม่ได้ให้อำนาจนี้แก่ศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุนี้ตนเองจึงไปศึกษาตามแนวพิพากษาของศาลฎีกา ที่เคยตีความไว้ว่าสมาชิกรัฐสภาต้องรู้อยู่แล้วว่านายพิธาต้องถูกถือว่าไม่มีการเสนอชื่อในบัญชีแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี และต้องไม่มีการเสนอชื่อซ้ำอีก

“ถ้าจะบอกว่าต้องรอศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยก่อน หากระหว่างทางนายพิธาได้เสียงโหวตเกิน 376 แต่ศาลได้มีคำวินิจฉัยแล้ว กระบวนการรัฐสภาจะเดินต่ออย่างไร หากวันที่ 19 ก.ค. เสนอชื่อนายพิธาอีก ก็จะไม่ชอบด้วยกฎหมาย ย้อนกลับไปขอถามว่าสมาชิกรัฐภารู้หรือควรรู้ไหมว่าขัดรัฐธรรมนูญ ข้อนี้ปฎิเสธได้ยาก จึงมาในวันนี้ก่อน เพื่อให้มีเวลาพิจารณาก่อนวันที่ 19 ก.ค. “ นายเรืองไกรระบุ

ทั้งนี้ หากมีปล่อยผ่าน นายเรืองไกรระบุว่า จะตามดูต่อ และพร้อมจะนำรายชื่อผู้ลงมติสนับสนุนนายพิธาในวันที่ 19 ก.ค.อีก นำส่งให้ ป.ป.ช.ต่อไป

นายเรืองไกร ยังกล่าวถึงกรณีของที่ถูกพาดพิง จากการที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ส.ส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย มีการถือหุ้นสื่อ ซึ่งคล้ายกันกับกรณีการถือหุ้นสื่อของนายพิธา ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์กันอยู่ โดยระบุว่า นายชาดาได้เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 2562 ซึ่งตนเองพบว่าได้แจ้งบัญชีแสดงรายการทรัพย์สินและหนี้สินต่อ ป.ป.ช. ในส่วนที่เคยมีการถือหุ้น Thai Food Network Tv,Inc. จำนวน 2 หมื่นหุ้น มูลค่า 3,096,000 บาท ได้มาเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2554 ระบุว่าเป็นของนายฟารุต ไทยเศรษฐ์ บุตรชาย ที่ได้เสียชีวิตแล้วในฐานะผู้จัดการมรดก

นายเรืองไกรยังย้ำว่า จะตรวจสอบกรณีดังกล่าวต่อไปแต่เนื่องจากขณะนี้ความยังไม่ปรากฏ และยังมีหลักฐานไม่มากพอ

Related Posts

Send this to a friend