KNOWLEDGE

จุฬาฯ จัดโครงการยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน ครั้งที่ 3 สร้างความตระหนัก และแก้ไขปัญหาในเยาวชน

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจัดงาน “Opening of International Friends for Peace 2024” โครงการยุติความรุนแรงและการข่มเหง รังแกในโรงเรียน ครั้งที่ 3 เพื่อแก้ไขปัญหาความรุนแรงในเยาวชน พร้อมเปิดโอกาสให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมและเป็นผู้นำในการสร้างสันติภาพและความเข้าใจระหว่างกันในสังคม ผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม การเรียนรู้ และการนำเสนอนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมี รศ.ดร.พรรณี ชีวินศิริวัฒน์ ผู้ช่วยอธิการบดี งานด้านวิจัย จุฬาฯ กล่าวเปิดงาน ณ CU Social Innovation Hub คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ

สำหรับโครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับสถาบันสอนภาษาอังกฤษ โกลบิช อคาเดเมีย (ไทยแลนด์) ซึ่งเป็นสตาร์ทอัพด้านการศึกษาของศูนย์นวัตกรรมแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (Chulalongkorn University Innovation Hub) เพื่อยุติความรุนแรงและการข่มเหงรังแกในโรงเรียน ให้นักเรียนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-4 ได้เรียนรู้และสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับปัญหาความรุนแรง รวมทั้งนำเสนอวิธีการป้องกันปัญหาความรุนแรงในโรงเรียน

รศ.ดร.พรรณี กล่าวถึงความสำคัญของการเปิดพื้นที่ให้เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นและแนวทางการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในโรงเรียนและชุมชน โดยโครงการ International Friends for Peace มุ่งหวังให้เยาวชนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ของวิทยากรจากนานาชาติและนำความรู้นั้นไปสู่การออกแบบนวัตกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาในสังคมของตนเอง

ผศ.ดร.ชนิศา ตันติเฉลิม คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และถิรพุทธิ์ ทิพยรัตน์ บริษัทโกลบิช อคาเดีย (ไทยแลนด์) นำเสนอเกี่ยวกับผลกระทบที่ไม่คาดคิดจาก Generation Gap ว่าเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากความแตกต่างในค่านิยม ทัศนคติ และประสบการณ์ระหว่างวัย นำไปสู่ความเข้าใจผิดและความขัดแย้งในหลายๆ ด้านของชีวิต ผลกระทบที่ไม่คาดคิด คือ โอกาสในการเรียนรู้และเติบโตร่วมกัน

ทั้งนี้ การเน้นย้ำความสำคัญของ Inclusive Society หรือสังคมที่รวมทุกคน มีความหมายที่ลึกซึ้งในการไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลังและทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข การสร้างสังคมดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็นในการป้องกันและแก้ไขปัญหา เช่น การกลั่นแกล้ง โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กที่มีความต้องการพิเศษหรือ LD (Learning Disabilities) ที่มักถูกกลั่นแกล้งหรือไม่ได้รับการยอมรับจากสังคม

การส่งเสริม Leadership ในเยาวชน และการเป็น Peace Leader คือการสร้างแรงบันดาลใจและประสบการณ์ที่จะช่วยให้เด็กเห็นถึงผลกระทบระยะยาวและปรารถนาที่จะเห็นการเปลี่ยนแปลงในสังคม การมุ่งเน้นไปที่ Generation Gap ในปีนี้เป็นการย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความเข้าใจระหว่างวัยและการสนับสนุนสังคมที่รวมทุกคน โดยให้ความสำคัญกับการยอมรับความหลากหลายและเข้าใจชุดความคิดที่แตกต่างกัน นำมาซึ่งการเรียนรู้และการเติบโตร่วมกัน

นอกจากนี้ ตัวแทนเยาวชนที่ชนะเลิศโครงการในปี 2023 ได้นำเสนอวิธีการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบ และ “Problem Tree” เพื่อช่วยเหลือผู้ปกครองและเด็กเข้าถึงและจัดการกับปัญหาการกลั่นแกล้งออนไลน์ ลดช่องว่างระหว่างรุ่นและเพิ่มความเข้าใจร่วมกัน อีกทั้งยังนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับการสร้างพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) บนอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เด็กใช้เวลาออนไลน์อย่างมีคุณภาพและปลอดภัยจากการกลั่นแกล้ง โดยแอปฯ “Made Safe Space” จะช่วยเสนอวิธีใหม่ ๆ ในการจัดการเวลาบนโลกออนไลน์ สร้างพื้นที่ที่เด็กสามารถสำรวจ เรียนรู้ และติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นโดยไม่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงถูกกลั่นแกล้ง

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / International Friends for Peace / โครงการยุติความรุนแรงและการข่มเหง รังแกในโรงเรียน ครั้งที่ 3 / การกลั่นแกล้งออนไลน์ / ความรุนแรงในเยาวชน

Related Posts

Send this to a friend