POLITICS

กทม. เตรียมออกแนวทาง เฝ้าระวังกัญชาในสถานศึกษา

วันนี้ (15 มิ.ย. 65) ผศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวก่อนการประชุมมอบนโยบายด้านการสาธารณสุข แก่สำนักการแพทย์และสำนักอนามัย กทม. ว่า เตรียมออกประกาศ กทม. ซึ่งคาดว่าช่วงเย็นวันนี้ จะเขียนรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับแนวทางการเฝ้าระวังกัญชาในสถานศึกษาแล้วเสร็จ

เบื้องต้น จะให้โรงเรียนมีสิทธิ์ตรวจตราหรือขอทราบประเภทอาหาร-ขนม หรือสิ่งใดๆ ก็ตาม ที่สุ่มเสี่ยงจะทำให้มีกัญชาแอบแฝงหรือเจือปนเข้าสู่สถานศึกษาหรือโรงเรียนได้ รวมถึงการให้สำนักอนามัย สำนักการแพทย์ สำนักการศึกษา และสำนักงานเขต ประสานการทำงานในรูปแบบการส่งต่อข้อมูลกันอย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้โรงเรียน ศูนย์บริการสาธารณสุข เครือข่ายเฝ้าระวังต่างๆ โรงพยาบาล และสำนักงานเขต มีข้อมูลในมือเป็นชุดเดียวกัน หรือตรงกันทั้งหมด

“สำหรับมาตรการเฝ้าระวังในโรงเรียนสังกัด กทม. ทั้ง 437 โรงเรียน จะมีครูพยาบาล มีบุคคลากรทำหน้าที่ในการดูแลอาหาร ขนม สวัสดิการต่าง ๆ ที่จะเข้าสู่โรงเรียน ดังนั้น มุมหนึ่ง เราต้องจัดการกำกับให้ไม่มีกัญชาในอาหาร หรือไม่ให้มีการเอากัญชา หรือผลิตภัณฑ์กัญชาใด ๆ เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมของโรงเรียน ด้วยเหตุผลที่ว่า จะปล่อยให้เกิดการบริโภคกัญชาในเด็กไม่ได้ เราต้องกำกับควบคุมเรื่องนี้ค่อนข้างสูง นี่คือเรื่องของความเสี่ยงที่จะมีสารเข้ามาอยู่ในบริเวณโรงเรียน” ผศ.ทวิดา กล่าว

รองผู้ว่าฯ กทม. ยังกล่าวอีกว่า เรื่องนี้ต้องดูทุกมิติ ต้องดูไปถึงความรู้ความเข้าใจและสภาพแวดล้อมของเด็ก เกี่ยวกับเรื่องกัญชาด้วย ซึ่งขณะนี้ทุกโรงเรียนของ กทม. มีนโยบายแล้วว่า ต้องให้ความรู้ สื่อสารให้เด็กเข้าใจง่าย และดึงอาสาสมัครโรงเรียน (อสร.) มามีบทบาทเพิ่มเติมในเรื่องกัญชา โดยก่อนหน้านี้ อสร. อาจจะเน้นเรื่องเฝ้าระวังให้ความรู้เรื่องบุหรี่ สารมึนเมา สารเสพติด แต่ตอนนี้ต้องเน้นให้ความรู้เรื่องกัญชาด้วย

นอกจากนี้ โรงเรียนยังต้องสังเกตสุขภาพเด็กเมื่ออยู่ที่โรงเรียนด้วยว่า มีภาวะอาการที่ทำให้สงสัยว่า ไปรับกัญชามาจากครอบครัวหรือชุมชนภายนอกโรงเรียนด้วยหรือไม่ โดยให้พยาบาลจากศูนย์บริการสาธารณสุขเข้าไปยังโรงเรียนถี่ขึ้น จากเดิมจะเข้าโรงเรียนเพื่อตรวจสุขภาพนักเรียนเชิงรุก จากนี้จะต้องเข้าไปให้ความรู้และช่วยกำกับดูแลสภาพแวดล้อมของโรงเรียน และสังเกตว่ามีสัญญาณบ่งชี้อะไรที่ก่อให้เกิดอันตรายกับเด็กนักเรียนหรือไม่

ส่วนสภาพแวดล้อมในพื้นที่ชุมชนหรือพื้นที่เขตต่างๆ จะต้องมีการเฝ้าระวังและการรายงานข้อมูลที่กระชับฉับไวขึ้น หาวิธีสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจถึงประโยชน์หรือผลกระทบระดับต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้กัญชา เพื่อให้ใช้อย่างระมัดระวัง พร้อมขอความร่วมมือประชาชน ช่วยกันดูแลความปลอดภัยของลูกหลาน หากจะบริโภคอาหารควรสังเกต หรืออาจใช้วิธีการสอบถามผู้ขายว่ามีส่วนประกอบจากกัญชาหรือไม่

ส่วนกรณีเจอเคสฉุกเฉินในเด็กนักเรียน กทม.มีระบบเฝ้าระวังแบบปฐมภูมิอยู่แล้ว แต่อาจต้องเน้นครูพยาบาลประจำโรงเรียน และบุคลากรของโรงเรียน ที่จะต้องมีความรู้ความเข้าใจ ได้รับการแนะนำจากศูนย์บริการสาธารณสุข มีระบบการส่งต่อจากโรงเรียนมายังศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่หรือโรงพยาบาลในสังกัด โดยทั้งหมดนี้ จะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วที่สุด

Related Posts

Send this to a friend