POLITICS

‘กัณวีร์‘ ไม่ยอมรับผลศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เตือนรัฐบาลอาจติดกับดักหนี้

‘กัณวีร์‘ ไม่ยอมรับผลศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์ เตือนรัฐบาลอาจติดกับดักหนี้ ต่างชาติลงทุนเท่าไรเอากลับไปเท่านั้น ขอพัฒนาอย่างยั่งยืนนึกถึงชุมชนท้องถิ่นด้วย

วันนี้ (15 ก.พ. 67) นายกัณวีร์ สืบแสง สส.บัญชีรายชื่อ พรรคเป็นธรรม อภิปรายไม่ยอมรับรายงานผลการศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทย-อันดามัน (โครงการแลนด์บริดจ์) ไม่ได้หมายความว่าจะไม่ยอมรับการพัฒนาแต่จะยอมรับการพัฒนาที่ยั่งยืนเท่านั้น ผลการศึกษาที่ออกมาเช่นนี้ตอบโจทย์ไม่ตรงจุด โดยเฉพาะการตอบโจทย์ต่างประเทศ ผลการพิจารณาออกมาว่ามีหลายประเทศสนใจลงทุนโครงการแลนด์บริดจ์ ในประเทศไทยมีท่าเรือชุมพร-ระนอง โดยหยิบยกคำพูดของนักวิชาการชาวอินเดียท่านหนึ่ง ที่ระบุเหตุผลการทำ Belt and Road Initiative (BRI) หรือโครงการจีนเชื่อมโลกว่า เป็นการทูตแบบขุดหลุมพราง ก่อให้เกิดการติดหนี้

“จุดยืนทางการทูตของไทยไม่เคยเปลี่ยนแปลง ไม่เคยมองเห็นสิ่งจำเป็นของไทย ไทยอยู่จุดไหนในเวทีระหว่างประเทศ ไทยพร้อมที่จะรองรับเมกะโปรเจกต์หรือไม่”

ทั้งนี้จีนยืนยันชัดเจนว่าไม่เกี่ยวข้องกับการกู้เงินให้กับบริษัทที่จะมาลงทุนใน BRI ซึ่งเกี่ยวข้องกับโครงการแลนด์บริดจ์ จึงตั้งคำถามว่าคณะกรรมาธิการวิสามัญได้พิจารณาเรื่องนี้หรือไม่

นายกัณวีร์ กล่าวต่อว่าการทูตแบบขุดหลุมพรางจะส่งผลกระทบต่อไทยยาวนาน หากเขามาลงทุนในไทยแล้ว ดอกผลจะกลับเข้าสู่ประเทศไทยเท่าไร เขาลงทุนเท่าไรเขาก็เอาไปเท่านั้น เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นในแถบแอฟริกาและยุโรปแล้ว เราเห็นการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่ง สุดท้ายก็ติดกับดักการทูตแบบขุดหลุมพราง

ประเทศไทยจะทำอย่างไรในเมื่อเม็ดเงินลงทุนไม่ได้มาจากเรา ผลกำไรก็ส่งกลับไปที่ประเทศต้นกำเนิด รัฐบาลมั่นใจได้อย่างไรว่าจะได้เงินเขา มั่นใจได้อย่างไรว่ากำไรจะกลับเข้าสู่ประเทศ คนที่รัฐบาลให้ความสำคัญมากที่สุดคือ บริษัทที่เข้ามาลงทุน แต่คำถามคือ นิคมอุตสาหกรรมใครจะเป็นคนจัดการ การลงทุนแบบ PPP รัฐบาลไทยจะได้เงินเข้ามาให้พี่น้องประชาชนเท่าไร เป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องตอบ สิ่งเหล่านี้ยังไม่ได้อยู่ในรายงานการศึกษา

โครงการแลนด์บริดจ์ ยังส่งผลกระทบต่อคนในประเทศ การสร้างท่าเรือนี้ครอบคลุมพื้นที่ฝังอันดามัน จังหวัดระนอง ฝั่งอ่าวไทย จังหวัดชุมพร รวม 12,000 ไร่ กินพื้นที่ 24 ชุมชน 6 ตำบล 4 อำเภอ 2 จังหวัด เมื่อมีการก่อสร้างอาจกระทบพื้นที่สวนทุเรียนของชาวบ้าน ซึ่งมีมูลค่า 4,500 ล้านบาท เหตุใดรัฐบาลถึงไม่มองต้นทุนทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อสนับสนุนทรัพยากรท้องถิ่นให้พัฒนา ยังไม่รวมถึงผลกระทบต่อพื้นที่อุทยานแห่งชาติ พื้นที่คุ้มครองทางทะเล ป่าสงวนแห่งชาติ พื้นที่ชุ่มน้ำ พื้นที่ป่าชายเลนตามมติ ครม. แหล่งปะการังธรรมชาติ และบุคคลไร้สัญชาติ หรือคนไทยพลัดถิ่น ที่ขณะนี้กำลังเรียกร้องสัญชาติ หากไล่เขาออกจากพื้นที่ คนที่ไม่มีตัวตนจะไม่สามารถมีตัวตนได้อีกต่อไป

นอกจากนี้ยังมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะบริเวณปลายแหลมสน ปากอ่าวคลองลัดโนด ป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และกำลังจะกลายเป็นมรดกโลก จะตอบโลกอย่างไรหากเราไปทำลายทรัพยากร และจะรักษามรดกโลกนี้ไว้ให้กับลูกหลานของเราต่อไปอย่างไร การทำประมงที่เป็นปากท้องของชาวระนองจะตอบโจทย์อย่างไร

นายกัณวีร์ ทิ้งท้ายว่าประเทศไทยเป็นประเทศขนาดกลาง ไม่ได้ปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาต้องตอบโจทย์ของประเทศ หลายครั้งตนเองพูดว่าการพัฒนาไม่ใช่แค่มองเรื่องโลกาภิวัตน์ แต่ต้องดูเรื่องโลคอลไลเซชั่น ต้องพาประเทศไทยไปสู่จุดสูงสุดของโลกาภิวัตน์ แต่ต้องไม่ลืมชุมชนท้องถิ่นด้วย

Related Posts

Send this to a friend