POLITICS

‘ชาญชัย’ แนะ ‘เศรษฐา’ ยึดเงินคดีทุจริต มาแจกดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ต้องกู้ ได้มากกว่า 1 ล้านล้าน

‘ชาญชัย’ ชี้ ‘เศรษฐา’ ไม่ต้องกู้เงินทำดิจิทัลวอลเล็ต แนะใช้กฎหมาย ปปง. ยึดเงินคดีทุจริตคืนแผ่นดิน ถ้ากล้าทำจริงได้มากกว่า 1 ล้านล้าน

วันนี้ (23 พ.ย. 66) ที่รัฐสภา นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต สส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กล่าวถึงกรณีรัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน จะออก พ.ร.บ.กู้เงิน 5 แสนล้านบาท เพื่อแจกในโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยมีข้อเสนอแนะนำว่าถ้าต้องการหาเงินมาทำโครงการนี้ ยังมีเงินอยู่ 2 ก้อนคือ 1.ให้นายกฯ ตรวจสอบหรือสอบถามไปยัง คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) รวมถึงคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ว่ามีคดีทุจริต และการใช้อำนาจหน้าที่มิชอบใดบ้างที่ศาลได้ตัดสินคดีถือเป็นที่สิ้นสุดแล้วในรอบ 20 ปี ว่ามีทั้งหมดกี่คดี ซึ่งความผิดดังกล่าวเข้ามูลฐานความผิดตาม พ.ร.บ.ปปง. ปี 2542 มาตรา 3(5) ที่ระบุว่าความผิดมูลฐานคือ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น

นายชาญชัย เคยศึกษาและทำคดีตัวอย่างให้รัฐบาลอายัดยึดทรัพย์ในคดีโครงการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน จ.สมุทรปราการ ที่มีมูลค่า 9,058 ล้านบาทว่า เข้าข่ายความผิดฐานทุจริตในสมัยรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ และมี พล. อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้น คุมหน่วยงาน ปปง. โดยคณะอนุกรรมาธิการการปฏิรูปกฎหมายเพื่อการป้องกัน และปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบของสภาชับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มี พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีป เป็นประธาน ได้ศึกษาคดีที่ศาลฎีกาตัดสินแล้วว่า มีความผิด ก่อให้เกิดความเสียหายแต่ กลับไม่มีการบังคับคดีตามกฎหมายให้เกิดการอายัดยึดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด มาตรา 3(5) ของ พ.ร.บ.ปปง. จึงนำคดีนี้เข้าสู่กฎหมาย ปปง. ตามมูลฐานความผิดการฟอกเงินโดยคณะกรรมการธุรกรรมของ ปปง. ส่งเรื่องฟ้องศาล ต่อมาศาลฎีกา (แพ่ง) ได้มีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ผู้ทำความผิด แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาให้ชำระเงิน 9,058 ล้านบาทให้ก็ตาม

คำพิพากษาของศาลฎีกา (แพ่ง) (คำพิพากษาย่อ) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2564 หน้าที่ 12 ระบุว่า “คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ไม่ได้วินิจฉัยในเนื้อหาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการกระทำของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่เกี่ยวข้องกับเอกชนที่เกี่ยวกับคดีนี้ว่า ได้กระทำความผิดมูลฐานที่จะริบเงินได้ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน” ศาลฎีกา (แพ่ง) จึงมีคำพิพากษาให้อายัดยึดทรัพย์ในคดีดังกล่าว และถือเป็นบรรทัดฐานที่จะใช้การยึดอายัดทรัพย์ตามมูลฐานความผิด มาตรา 3 (5) ที่ใช้อำนาจหน้าที่โดยทุจริต หรือการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ

นายชาญชัย กล่าวว่า ถ้านำคดีการทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอาญา และกฎหมายอื่น ๆ ในรอบ 20 ปี นับแต่ปี 2540 ตั้งแต่มีกฎหมาย ป.ป.ช.บังคับใช้ มีเงินทุจริตจากมูลฐาน ความผิดสามารถอายัดยึดทรัพย์เข้ารัฐได้ หากรวมทุกคดี มีจำนวนมากกว่า 1 ล้านล้านบาท ถ้านายกฯ อยากได้เงินมาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยไม่ต้องกู้เงิน ให้บังคับใช้กฎหมายป้องกันการฟอกเงินสั่งอายัดยึดทรัพย์ โดยเฉพาะคดีทุจริตที่ศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว หรือที่ ป.ป.ช.ชี้มูลความผิดแล้ว รวมทั้งมูลฐานความผิดอื่นตามกฎหมาย ปปง. ตนเองจะรวบรวมตัวเลขการทุจริตของคดีต่าง ๆ ส่งให้เพื่อดำเนินการสั่งอายัด และยึดทรัพย์ให้ตกเป็นของแผ่นดิน ซึ่งเป็นเงินภาษีแผ่นดินให้กลับคืนมาใช้ทำประโยชน์ต่อประเทศชาติได้

นายชาญชัย เคยให้สัมภาษณ์สื่อว่า มีการทุจริตที่เคยตรวจสอบในรอบ 10 กว่าปีที่ผ่านมาว่า คดีทุจริตต่าง ๆ สร้างความเสียหายให้ประเทศชาติมีมูลค่าเสียหายมากกว่า 4.5 แสนล้านบาท จึงอยากให้ นายกฯ ไปเอาเงินที่โจรปล้นเงินแผ่นดินมาตลอด 20 ปี ไปตามเอาเงินส่วนนี้ จะได้ไม่มีข้อครหาว่า เข้ามาทำโครงการดิจิทัลวอลเล็ตนี้เพื่ออะไร อีกทั้งการแก้ปัญหาความยากจนของประชาชน มีต้นเหตุมาจากการทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ทั้งข้าราชการระดับสูงและนักการเมืองทุกระดับ เป็นผู้กระทำทั้งสิ้น

ก่อนจบการแถลงนายชาญชัย กล่าวทิ้งท้ายว่า จะนำเรื่องมาแฉเรื่อย ๆ ย้ำว่า “นายกเศรษฐาอาจจะไม่รู้เรื่องนี้ แต่พลเอกประยุทธ์รู้เรื่องนี้ เนื่องจากผมทำหนังสือส่งไป นายเศรษฐามาแล้ว ขอให้ไปเช็คบิลกับพลเอกประยุทธ์เองแล้วกัน”

Related Posts

Send this to a friend