รองนายกฯ ประชุมบอร์ดชาติ Thailand Zero Dropout นัดแรก เพื่อเร่งค้นหาเด็กนอกระบบ
ดึงผู้ว่า 77 จังหวัด ระดมทุกหน่วยในพื้นที่ เน้นมาตรการ Learn to Earn ของรัฐบาลพาเด็กกลับสู่เส้นทางการศึกษายืดหยุ่น และมีรายได้ระหว่างเรียน
วันนี้ (12 พ.ย. 67) ที่ทำเนียบรัฐบาล นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ หรือ บอร์ด คกศ. (Thailand Zero Dropout) โดยมี ดร. ณหทัย ทิวไผ่งาม ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะรองประธานกรรมการ เข้าร่วมประชุมด้วย ผลการประชุมครั้งแรก ซึ่งคณะกรรมการชุดนี้ มีหน้าที่และอำนาจในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาของชาติ ซึ่งจะเป็นการดำเนินงานตามนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล นำโดยนางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเพื่อแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพการศึกษาอย่างเป็นระบบ โดยเร่งส่งเสริมผลักดันให้เกิดการพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างเต็มกำลังและความสามารถ ให้เป็นไปตามที่ท่านนายกรัฐมนตรีได้แถลงนโยบายด้านการศึกษาของรัฐบาล 9 ข้อ ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2567 และการสร้างการขับเคลื่อนประเทศไทยเพื่อแก้ปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) โดยทำงานในเชิงระบบ เพื่อความยั่งยืนและต่อเนื่อง แก้ปัญหาใน 4 ประเด็น ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2567
นายประเสริฐ กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ได้มีมติ ผลักดัน 4 ประเด็นเร่งด่วน เพื่อยกระดับการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาทั้ง 1.02 ล้านคน ดังนี้
1.ปลดล็อกการเชื่อมโยงข้อมูลเด็กเยาวชนรายบุคคลระหว่างหน่วยงาน เพื่อให้การค้นหาและส่งต่อเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษามีประสิทธิภาพมากขึ้น ช่วยสนับสนุนการพาเด็กเยาวชนเข้าสู่เส้นทางการเรียนรู้ทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมทั้งการพัฒนาทักษะการมีงานทำให้สามารถดำเนินการได้รวดเร็วมากขึ้นโดยที่ประชุมบอร์ด คกศ. ได้เห็นชอบแต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานเพื่อขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ เพื่อเร่งติดตามสถานการณ์ข้อมูลรายบุคคลของเด็กเยาวชนนอกระบบการศึกษาในปีการศึกษา 2/2567 และบูรณาการการทำงานด้านข้อมูลร่วมกับหน่วยงานหลักต่างๆ ทั้งด้านการศึกษา สุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อส่งเสริมการบูรณาการงบประมาณจากระบบสวัสดิการจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สปสช. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น นอกเหนือจากงบประมาณที่รัฐบาลได้จัดสรรให้แก่กระทรวงศึกษาธิการ และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา
2.กระตุ้นการทำงานระดับจังหวัดและพื้นที่เพื่อเริ่มต้นมาตรการติดตาม ช่วยเหลือ ส่งต่อ และดูแลเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาเป็นรายคน ทั้งด้านการศึกษา สุขภาวะ พัฒนาการ สภาพความเป็นอยู่ และสภาพสังคม โดยบูรณาการการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ ผ่านคณะกรรมการ 77 จังหวัด รวมทั้งระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน ซึ่งหลังจากนี้จะมีหนังสือสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาเด็กและเยาวชนนอกระบบการศึกษาให้กลายเป็นศูนย์ (Thailand Zero Dropout) ระดับจังหวัด ทั้ง 77 จังหวัด ต่อไป
3.ตั้งคณะอนุกรรมการจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่น และส่งเสริมการสร้างรายได้ของเด็กและเยาวชน เพื่อเร่งผลักดัน การจัดการศึกษาและเรียนรู้แบบยืดหยุ่นและมีคุณภาพให้เหมาะสมกับศักยภาพของเด็กและเยาวชนแต่ละราย เน้นส่งเสริมการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการภาคเอกชน เพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานและให้มีรายได้เสริมในระหว่างการศึกษา โดยมีกระทรวงศึกษาธิการ กสศ. และสถาบันพัฒนาคุณวุฒิวิชาชีพ เป็นฝ่ายเลขาของคณะอนุกรรมการชุดนี้
4.กระตุ้นการมีส่วนร่วมของผู้ประกอบการ ภาคเอกชน ด้วยมาตรการหรือกลไกทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาหรือเรียนรู้ควบคู่กับการทำงาน (Learn to Earn) สำหรับเด็กและเยาวชน เพื่อพัฒนาทักษะการทำงานที่สอดคล้องกับตลาดแรงงาน ศักยภาพของเด็ก และให้มีรายได้เสริมระหว่างการศึกษา โดยทางกระทรวงการคลัง สภาหอการค้าไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ กสศ. เป็นแกนหลักของเรื่องนี้
นอกจากนี้ ในที่ประชุม กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ยังได้รายงานผลการเชื่อมโยงข้อมูลปีการศึกษา 1/2567 เฉพาะสังกัด สพฐ. และ อปท. พบว่า มีนักเรียนจากฐานข้อมูลจำนวน 1.02 ล้านคน เข้าเรียนในระบบการศึกษาแล้ว ทั้งสิ้น 139,690 คน คิดเป็นร้อยละ 13.6 ของจำนวนเด็กและเยาวชนที่ไม่มีชื่อในระบบการศึกษา และในจำนวนการกลับเข้าสู่ระบบดังกล่าว มีจำนวน 22,541 คน ที่ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนพิเศษแบบมีเงื่อนไข (ทุนเสมอภาค) ของ กสศ. ในการบรรเทาอุปสรรคการมาเรียน เพื่อเป็นการป้องกันการหลุดจากระบบการศึกษาซ้ำ