POLITICS

‘ชัชชาติ’ เล็ง เปิดข้อมูลผังเมืองให้เอกชนใช้ประโยชน์

‘ชัชชาติ’ เล็ง เปิดข้อมูลผังเมืองให้เอกชนใช้ประโยชน์ เร่งทบทวนผังเมืองรวมฉบับใหม่ ก่อนประกาศใช้ปี 2567 เปรียบผังเมืองเป็นตัวกำหนดทิศทางเมือง

วันนี้ (11 ส.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหาคร ร่วมประชุมกับสำนักวางผังและพัฒนาเมือง โดยกล่าวว่า “ผังเมือง” เป็นสิ่งที่ประชาชน ระบุว่า เป็นต้นเหตุของปัญหาเมือง เช่น น้ำท่วม และการจราจร การจะปรับผังเมืองไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะผังเมืองมีความซับซ้อน กทม.แบ่งผังเมืองเป็นผังสี เช่น เขตสีแดง เขตสีส้ม เขตสีเหลือง เขตสีม่วง เขตสีน้ำตาล ปัจจุบันผังสีเป็นเหมือนตัวกำหนดราคาที่ดิน และกำหนดว่าแต่ละพื้นที่สร้างสูงสุดได้เท่าไร ไม่ได้บอกว่า “ควรจะสร้างอะไร” คนจึงสร้างในสิ่งที่ได้รับค่าตอบแทนสูงสุด เช่น คอนโด

“ผังเมืองคือธรรมนูญเมือง ต้องกำหนดทิศทางของเมือง มากกว่ากำหนดว่า สร้างอะไรได้มากที่สุดในพื้นที่”

ทั้งนี้ผังเมืองรวมฉบับใหม่ที่จะประกาศใช้ในปี 2567 ต้องทบทวนใหม่ทั้งหมดตามพระราชบัญญัติผังเมือง พ.ศ.2562 และมติจากคณะกรรมการผังเมืองรวมกรุงเทพมหานคร ที่ต้องจัดทำแผนผังเพิ่มเติมอีก 2 แผน ให้ครบ 6 แผน ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ กทม.ได้ทบทวนผังเมือง และข้อบัญญัติต่าง ๆ

ปัจจุบันกรุงเทพมหานครยังไม่มีผังเมืองที่สมบูรณ์แบบ อาจจะหาพื้นที่แถวลาดกระบัง ร่มเกล้า บางขุนเทียน และมีนบุรี เพื่อออกแบบเมืองในอุดมคติ มีพื้นที่ของหน่วยราชการ สำนักงาน สวนสาธารณะ เส้นทางการคมนาคม โรงเรียนและโรงพยาบาล เพื่อลดการเดินทางเข้ามาในเมืองใหญ่ รวมถึงต้องเปิดเผยข้อมูลผังเมืองให้เอกชนใช้ประโยชน์ เช่น แผนที่เมืองแบบ 3 มิติ นอกจากนี้จะเร่งทบทวนข้อบัญญัติ 60 ฉบับ ที่ประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2502 ที่ต้องปรับให้ทันสมัยมากยิ่งขึ้น

นายชัชชาติ ชี้แจงว่า ผังเมืองรวมได้พิจารณาเผื่อเส้นทางการเดินของรถไฟฟ้าสายสีต่าง ๆ ไว้หมดแล้วทั้ง 6 แผน ทั้งผังสี สาธารณูปโภค ถนนหนทาง และผังน้ำ ซึ่งผังสีปรับเปลี่ยนได้ง่ายสุด แต่ผังสาธารณูปโภคเปลี่ยนยากสุด เพราะต้องมีกระบวนการเวนคืนที่ดิน ยกตัวอย่าง “กรุงเทพกรีฑา” ใช้เวลานานกว่า 20 ปี บางพื้นที่เปลี่ยนผังสีไปแล้ว แต่ผังสาธารณูปโภคเปลี่ยนไม่ทัน อนาคตต้องพิจารณาให้สอดคล้องกัน เช่น ในผังเมืองฉบับใหม่มีการปรับลดเขตสีเขียวลาย ซึ่งต้องมีโครงสร้างมารองรับ และมีคำตอบให้ประชาชนว่า “เปลี่ยนแล้วดีหรือไม่”

ส่วนข้อมูลภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ปัจจุบันยังขาดอีก 1,112,000 แปลง คิดเป็น 50% ต้องเร่งรัดหารือกับสำนักการคลัง เพื่อพัฒนาฐานข้อมูลเร็วที่สุด ให้เกิดความเป็นธรรมในการเก็บภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง

Related Posts

Send this to a friend