POLITICS

‘อรรถวิชช์’ ร้อง กกต. ถอนการแบ่งเขต กทม. รูปแบบที่ 6 – 8

‘อรรถวิชช์’ ร้อง กกต. ถอนการแบ่งเขต กทม. รูปแบบที่ 6 – 8 ที่ผิดกฎหมาย ทั้งเลยกรอบเวลาเสนอรูปแบบ – ใช้แค่คำสั่งภายในประกาศแบ่งเขต เลี่ยงการประกาศราชกิจจานุเบกษา

ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า เข้ายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) คัดค้านการประกาศรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งกรุงเทพมหานครเพิ่มเติม แบบที่ 6 , 7 และ 8 เนื่องจากประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง เรื่องการแบ่งเขต ส.ส. พ.ศ.2566 ที่ประกาศราชกิจจานุเบกษาไปเมื่อวันที่ 31 ม.ค. 65 ที่ผ่านมา กำหนดให้ผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดจัดทำรูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งภายใน 3 วัน ครบกำหนดไปแล้วเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยกรุงเทพมหานครมีการแบ่งเขตไว้แล้ว 5 รูปแบบ และอยู่ในกระบวนการรับฟังความคิดเห็นพรรคการเมืองและประชาชนเป็นเวลา 10 วัน หรือภายในวันที่ 13 กุมภาพันธ์นี้

แต่ต่อมากลับมีการใช้หนังสือภายใน เลขที่ ลต 0012/ว 238 ลงที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ให้มีการแบ่งเขตเพิ่มเติมอีก และประกาศแบ่งเขตรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 ไปเมื่อ 9 ก.พ.66 ทั้งที่เลยระยะเวลาเสนอรูปการแบ่งเขตแล้ว จึงเป็นการกระทำที่พ้นกำหนดเวลาเสนอรูปแบบเพิ่มเติม และคำสั่งที่ใช้แบ่งเขตก็เป็นเพียงหนังสือสั่งการภายในที่มิได้มีการประกาศลงราชกิจจานุเบกษาให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป ซึ่งเป็นกระบวนการผิดไปจากการประกาศรูปแบบที่ 1-5 อย่างมาก

ดร.อรรถวิชช์ ยังชี้ว่า ลักษณะการแบ่งเขตตามที่ประกาศรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 ยังขัดต่อมาตรา 27 (1) และ (2) พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ซึ่งกำหนดหลักให้คำนึงถึง “การเคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกัน” “ลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน” แต่การแบ่งเขตที่เพิ่มเข้ามา ไม่ได้เป็นไปตามหลักการ ตัวอย่างเช่น รูปแบบที่ 6 และ 7 ในเขตเลือกตั้งที่ 6 ประกอบด้วย เขตพญาไท (ยกเว้นแขวงสามเสนใน) , เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงจตุจักรและแขวงจอมพล) , เขตดินแดง (ยกเว้นแขวงดินแดง) , เขตห้วยขวาง (เฉพาะแขวงห้วยขวาง) และรูปแบบที่ 8 ในเขตเลือกตั้งที่ 11 ประกอบด้วย เขตจตุจักร (เฉพาะแขวงเสนานิคม) , เขตบางเขน (ยกเว้นแขวงท่าแร้ง) , เขตลาดพร้าว (เฉพาะแขวงจรเข้บัว) , เขตหลักสี่ (ยกเว้นแขวงทุ่งสองห้อง) ซึ่งเป็นการ “เลือกรวมบางแขวงจาก 4 เขตการปกครองที่ไม่เคยอยู่เขตเลือกตั้งเดียวกัน” ทั้งที่ระบบเลือกตั้งที่มี ส.ส. 1 คนต่อ 1 เขตเลือกตั้ง ควรจะใช้การแบ่งเขตเลือกตั้งเมื่อปี 2554 และ 2557 เป็นเกณฑ์

รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยังยกตัวอย่างกรณีเขตจตุจักร มีจำนวนราษฎรในเขตเลือกตั้ง 153,792 คน ใกล้เคียงกับจำนวนเฉลี่ยราษฎร 166,513.0909 คน ต่อ ส.ส. 1 คน ส่วนต่างเพียงร้อยละ -7.64 สอดคล้องกับหลักเกณฑ์ในประกาศคณะกรรมการการเลือกตั้ง กำหนดให้ “ผลต่างของจำนวนราษฎรในแต่ละเขตเลือกตั้งไม่ควรเกินร้อยละ 10 ของจำนวนเฉลี่ยต่อ ส.ส. 1 คน” อีกทั้งยังสอดคล้องกับหลักการเคยอยู่ในเขตเลือกตั้งเดียวกัน ตามมาตรา 27 (1) และลักษณะที่เป็นชุมชนเดียวกัน ตามมาตรา 27 (2) แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 แต่กลับมีการประกาศแบ่งเขตรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 แยกเขตจตุจักรกระจายออกเป็น 3 เขตเลือกตั้ง ซึ่งเป็นการแบ่งเขตที่ขัดต่อเจตนารมณ์ของกฎหมายและมติคณะกรรมการการเลือกตั้ง อย่างชัดเจน

“หากมีรูปแบบใดในรูปแบบที่ 6 , 7 และ 8 ได้รับเลือกเป็นเขตเลือกตั้ง จะผิดกฎหมาย และทำให้ข้อสรุปเขตเลือกตั้ง กทม. ถูกยืดเวลาออกไป เมื่อยังไม่มีเขตเลือกตั้ง พรรคการเมืองก็ทำไพรมารี่คัดผู้สมัครไม่ได้ ปฏิทินเลือกตั้งมันจะรวน จึงขอให้ กกต. ใช้อำนาจเข้าไปตรวจสอบและยกเลิกการแบ่งเขตที่เพิ่มเติมเข้ามา” ดร.อรรถวิชช์กล่าว

Related Posts

Send this to a friend