POLITICS

‘สมชัย’ จ่อเอาผิด ‘ชวน’ ทำหน้าที่ขัด รธน.มาตรา 173 ปมสั่งหยุดอภิปราย พ.ร.ก.อุ้มหายฯ

‘สมชัย’ จ่อเอาผิด ‘ชวน’ ทำหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ปมสั่งหยุดอภิปราย พ.ร.ก.อุ้มหายฯ ก่อนส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เตรียมหารือพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยื่น ป.ป.ช.เอาผิด

วันนี้ (9 มี.ค. 66) นายสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย แถลงข่าวถึงการทำหน้าที่ของ นายชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฏร ในการประชุมสภาฯ เพื่อพิจารณาพ.ร.ก.การเลื่อนบังคับใช้ในบางมาตราของ พ.ร.บ.อุ้มหายฯ เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า เป็นการปฎิบัติหน้าที่ที่ผิดต่อรัฐธรรมนูญ

นายสมชัย กล่าวต่ออีกด้วยว่าในช่วงของการพิจารณาที่ ส.ส.ได้อภิปรายเกี่ยวกับร่าง พ.ร.ก.ฉบับดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ว่าจะมีการลงมติคว่ำร่าง พ.ร.ก. ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบทางการเมือง คือ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะต้องเป็นผู้รับผิดชอบอย่างใดอย่างหนึ่ง ระหว่างการยุบสภา หรือลาออกทันที แต่ปรากฏว่าในวันนั้นมี ส.ส.จากฝ่ายรัฐบาลได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย จำนวน 115 คน

อีกทั้ง นายชวนยังได้แจ้งต่อที่ประชุมสภา ว่ามี ส.ส. 115 คนเข้าชื่อกันแล้ว และขอให้ยุติการอภิปราย ในเวลา 13:09 นาที แต่เมื่อตรวจสอบลำดับเวลาการยื่นคำร้องเสนอชื่อก็ปรากฏว่านายชวนได้แจ้งต่อที่ประชุมก่อนเวลาที่หนังสือของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลจะส่งมาถึง

นายสมชัย ได้ชี้แจงลำดับเวลาการยื่นเรื่อง ว่า ส.ส. 115 คน ได้ส่งคำร้องต่อสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 13:09 น. และส่งต่อไปยังสำนักงานประธานสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 11:22 น. จากนั้นส่งต่อไปยังกลุ่มประสานการเมืองและรับเรื่องราวร้องทุกข์ เวลา 11.32 น. ซึ่งกลุ่มประสานการเมืองฯ จะมีหน้าที่ตรวจสอบรายชื่อและลายเซ็นของผู้เข้าชื่อ ซึ่งพบว่าใน 115 ชื่อ มีชื่อไม่ตรงกว่า 14 ชื่อ และมีการเซ็นชื่อซ้ำ 1 ชื่อ จึงเหลือผู้ยื่นที่ถูกต้อง 100 คน และเมื่อตรวจสอบเสร็จก็ได้ส่งให้รองเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรที่เซ็นรับ ในเวลา 13:00 น. จากนั้นส่งต่อให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในเวลา 13:20 น. ก่อนจะส่งกลุ่มงานประธานสภาผู้แทนราษฎรในเวลา 13:35 น. แต่นายชวน กลับแจ้งที่ประชุมในเวลา 13:09 น. ดังนั้นนายชวนทราบได้อย่างไรก่อนเวลา 16 นาที ในเมื่อเอกสารคำร้องยังยื่นมาไม่ถึง

นายสมชัย กล่าวอีกว่า เรื่องนี้จะไม่เป็นปัญหา หากประธานรับเรื่อง และออกหนังสือส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ก่อนมาแจ้งให้ที่ประชุมได้รับทราบเพราะรัฐธรรมนูญมาตรา 173 ที่กำหนดให้ส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญ และให้รอการพิจารณา แต่ประธานกลับแจ้งในที่ประชุมก่อนส่ง

นอกจากนี้ยังพบว่าในวันต่อมาโฆษกประธานสภาผู้แทนราษฎรได้แถลงข่าวว่าประธานสภาลงนามส่งศาลรัฐธรรมนูญในวันที่ 1 มี.ค. ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดรัฐธรรมนูญ

“ท่านอาจช่วยรัฐบาลไม่ให้แพ้โหวตในสภา แต่รวบรัดผิดรัฐธรรมนูญ ซึ่งตามรัฐธรรมนูญมาตรา 234 ป.ป.ช. ต้องไต่สวนการปฏิบัติหน้าที่และการใช้อำนาจที่ขัดรัฐธรรมนูญ ถ้า ป.ป.ช.ไต่สวนแล้วมีมติว่าผิดก็ต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาวินิจฉัย หากศาลเห็นว่าผิดจะสั่งเพิกถอนสิทธิ์สมัครรับเลือกตั้ง และเพิกถอนสิทธิ์เลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี” นายสมชัย กล่าว

นายสมชัย กล่าวอีกว่า ตนจะนำเรื่องนี้เข้าหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านที่ร่วมประชุมพิจารณาร่าง พ.ร.ก.ดังกล่าว เมื่อวันที่ 28 ก.พ. ซึ่งหากพรรคร่วมฝ่ายค้านเห็นด้วย ก็จะยื่นต่อ ป.ป.ช.แต่ถ้าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย ตนอาจจะยื่นคนเดียว โดยเรื่องนี้ต้องให้ป.ป.ช.วินิจฉัย ว่าเป็นการจงใจปฏิบัติหน้าที่ที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่

Related Posts

Send this to a friend