HEALTH

เตือนหญิงไทยเฝ้าระวัง 5 โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง แนะตรวจสุขภาพประจำปีป้องกันแต่เนิ่นๆ

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยผลการศึกษาของ The Pan American Health Organization (PAHO) ที่พบว่าผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากฮอร์โมนและพันธุกรรม ที่ส่งผลกระทบต่อระบบต่างๆของร่างกาย ซึ่งเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิด 5 โรคสำคัญ ได้แก่ กลุ่ม โรคมะเร็ง (มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปอด) โรคหัวใจ, โรคเบาหวาน, โรคกระดูกพรุน, โรคที่เกิดจากความเครียด

เริ่มจากกลุ่ม “โรคมะเร็ง” เช่น มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งปอด จากรายงานทางการแพทย์พบว่า โรคมะเร็งเต้านม ที่ถึงแม้จะพบได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง แต่ผู้หญิงมีปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคนี้มากกว่าผู้ชาย เนื่องจากปัจจัยด้านพันธุกรรม ฮอร์โมน และพฤติกรรมการใช้ชีวิต โดยโรคดังกล่าวมักพบในหมู่สตรีวัยกลางคน เฉลี่ยอายุประมาณ 50 ปีขึ้นไป ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 25 ปีขึ้นไป ก็ควรจะต้องเริ่มตรวจเต้านมด้วยตัวเองอยู่เสมอ และพบแพทย์เพื่อตรวจเต้านมทุก 1-3 ปี เพราะมะเร็ง หากรู้เร็ว สามารถรักษาได้ ลำดับต่อมา คือ โรคมะเร็งปากมดลูก ที่มีสาเหตุหลักๆมาจาก การติดเชื้อไวรัส Human Papillomavirus (HPV) ร่วมกับปัจจัยอื่น เช่น การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อย การสูบบุหรี่ การมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ โดยโรคดังกล่าวมักพบมากในผู้หญิงอายุ 35 -60 ปี ซึ่งมะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองควบคู่กันไป เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันโรคให้ได้มากที่สุด

นอกจากนี้จากการเปลี่ยนแปลง ของสภาพแวดล้อมและพฤติกรรม เช่น ฝุ่น ควัน การได้รับควันบุหรี่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา มีการตรวจพบโรคมะเร็งปอด มากขึ้นในผู้หญิง ดังนั้นการเข้ารับการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆ จะช่วยลดความเสี่ยงก่อนเข้าระยะลุกลาม หรือ ระยะที่ 4 ซึ่งเป็นระยะสุดท้าย ที่ส่งผลให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร

ส่วน “โรคหัวใจ” นั้น ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อัตราการเข้ารับการรักษาพยาบาล ที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจสำหรับผู้หญิงอายุ 35-54 ปีมีจำนวนเพิ่มขึ้นจาก 21% เป็น 31% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้หญิงเริ่มป่วยเป็นโรคหัวใจมากขึ้น ในช่วงอายุที่น้อยลงจากเดิมที่มักเกิดขึ้น ในช่วงอายุ 50-60 ปีซึ่งเป็นวัยหมดประจำเดือน โดยโรคหัวใจสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งภาวะความดันสูง โรคอ้วน และความเครียด ด้วยเหตุนี้เราจึงควรออกกำลังกาย ภายใต้คำแนะนำของแพทย์ เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ควบคู่กับการปรับพฤติกรรม ที่อาจสุ่มเสี่ยงต่อการทำให้เกิดโรคหัวใจ

ขณะที่ “โรคเบาหวาน” เป็นหนึ่งในโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่น่ากังวล และเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญระดับประเทศ จากผลวิจัยพบว่า เบาหวานเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้หญิงในประเทศไทย โดยเกิดได้ทั้งจากปัจจัยภายใน เช่น การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมน การตั้งครรภ์ พันธุกรรม รวมถึงปัจจัยภายนอก เช่น การขาดการออกกำลัง การรับประทานอาหารที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ เป็นต้น โดยโรคเบาหวานยังสามารถ ก่อให้เกิดภาวะโรคแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ไตวาย ปัญหาเกี่ยวกับหลอดเลือดแดงใหญ่ หลอดเลือดแดงฝอยและเส้นประสาท ซึ่งการควบคุมอาหาร และติดตามระดับน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองให้อยู่ในเกณฑ์ เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลตนเองให้ห่างไกลจากภาวะเบาหวาน

ด้าน “โรคกระดูกพรุน” เป็นภาวะที่กระดูกมีความอ่อนแอ เปราะบาง และมีแนวโน้มที่จะแตกหักง่าย ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) รายงานว่า ปัจจุบันผู้หญิงทั่วโลกเป็นโรคกระดูกพรุน มากกว่า 200 ล้านคน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิงที่อายุ 65 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชาย เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งอาจนำไปสู่การสูญเสียมวลกระดูกได้ โดยเราสามารถป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคกระดูกพรุนได้ โดยการออกกำลังกายแบบยกน้ำหนัก ควบคู่ไปกับการบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดี อย่างเพียงพอเป็นประจำทุกวัน

ปิดท้ายที่ “โรคที่เกิดจากความเครียด” ความเครียดเป็นหนึ่งในสาเหตุ ที่ก่อให้เกิดโรคต่างๆ มากมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรคโรคซึมเศร้า ซึ่งผู้หญิงในทุกช่วงวัยมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าผู้ชายถึงสองเท่า เนื่องจากปัจจัยด้านฮอร์โมนและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ความรุนแรงทางเพศ การเลือกปฏิบัติ รวมถึงบริบททางสังคม ทั้งหมดนี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียด ที่ทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าในผู้หญิง ซึ่งหากใครที่เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ ทางด้านอารมณ์และจิตใจ ควรเข้าพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

ส่วนการดูแลสุขภาพเบื้องต้นสำหรับผู้หญิง เนื่องจากเพศหญิงเป็นเพศที่ละเอียดอ่อน และต้องการการดูแลที่เฉพาะทางและตรงจุด การหมั่นดูแลรักษาร่างกาย และจิตใจของตัวเอง จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก ทั้งนี้บางสาเหตุของโรคภัยข้างต้น ยังสามารถเกิดจากสภาวะร่างกาย ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนั้นการได้รับตรวจคัดกรองโรคตั้งแต่เนิ่นๆ ควบคู่กับการดูแลสุขภาพผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ก็จะช่วยป้องกันและลดทอนความรุนแรงของ 5 โรคเหล่านี้ได้

Related Posts

Send this to a friend