POLITICS

กอ.รมน. โต้ก้าวไกล ยกเลิกร่าง พ.ร.บ. กอ.รมน. ไม่ได้ ยันไม่มีงบลับแล้ว

‘กอ.รมน.’ จัดเสวนา “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” โต้ก้าวไกล ยกเลิกร่าง พ.ร.บ. กอ.รมน. ไม่ได้ ผิดหลักการ ยันไม่มีงบลับแล้ว แต่ยังต้องมี กอ.รมน. รับมือปัญหาด้านอื่นๆ

วันนี้ (8 พ.ย. 66) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) จัดเสวนาเชิงวิชาการด้านความมั่นคง ในหัวข้อ “พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551” ร่วมเสวนาโดย พล.อ.ดร.นพนันท์ ชั้นประดับ ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษกองทัพบก พล.ท.ดร.ดนัยวัฒนา รุ่งอุทัย ผู้ทรงคุณวุฒิพิเศษ กองทัพบก และนางสาวชลธนสรณ์ พิสฐศาสน์ ผู้อำนวยการกองนโยบายและยุทธศาสตร์ความมั่นคง (สมช.)

พล.อ.ดร.นพนันท์ ระบุว่า การให้ข้อมูลเกี่ยวกับ กอ.รมน. ต้องมีความรู้ 5 เรื่อง ได้แก่ ความมั่นคง การจัดองค์การ ระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ระบบงบประมาณของประเทศ และประสบการณ์การทำงานใน กอ.รมน. ซึ่งการที่พรรคก้าวไกลผลักดันเสนอร่าง พ.ร.บ.ยกเลิก พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 2551 พ.ศ…. เพราะให้อำนาจกับทหารมากเกินไปนั้น ในการแก้ไขกฎหมายต้องสอดคล้องกับระดับของปัญหา 5 ระดับ ได้แก่ รัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติจัดตั้งส่วนราชการ กฎกระทรวงกำหนดอำนาจหน้าที่ และการจัดการ โครงสร้างอัตรากำลัง และระดับการปฏิบัติ ซึ่งผู้เสนอไม่ได้ดูสัดส่วน และชี้ไม่ได้ว่าควรจัดการตรงไหน อาจเกิดจากการไม่ได้ศึกษาเนื้อหาของ พ.ร.บ.ที่มากพอ หากต้องการแก้ไขในรายละเอียด ก็แก้ที่ระดับ 2 ไม่ใช่เสนอให้ยุบ กอ.รมน.

พล.อ.ดร.นพนันท์ ระบุถึงความซับซ้อนในโครงสร้างการจัด กอ.รมน. ว่าทุกกฎหมายการจัดตั้งส่วนราชการ ผ่านความเห็นจากหลายหน่วยงานที่รับผิดชอบในประเทศมาหมดแล้ว และหน้าที่ห้ามซ้ำซ้อนกันตามระบบราชการ ซึ่งการเสนอ พ.ร.บ.ยกเลิกฯ ถือว่าผิดหลักการ และข้ามขั้นตอนการปรับปรุงหน้าที่ของส่วนราชการ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายและหลักการจัดการองค์กรสากล ย้ำว่าไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์ และหลักฐานชี้ให้เห็นชัดตามที่กล่าวอ้างว่าอำนาจทหารเหนือกว่าพลเรือน จะเสนอยุบรวมกันลอย ๆ กับ สมช. ไม่ได้ เพราะมีหลักวิชาการอยู่ คนที่ทำงานจะอยู่อย่างไร แล้วเรื่องที่รับผิดชอบอยู่อย่างเรื่องยาเสพติด ใครจะจัดการดูแลต่อ

พล.อ.ดร.นพนันต์ ย้ำว่าหลักการจัดหน่วยงานความมั่นคงเปรียบเทียบและการปฏิบัติ ซึ่งเป็นไปตามทฤษฎีองค์กรและหลักสากลที่ส่วนใหญ่หัวหน้าฝ่ายบริหารเป็นหัวหน้าหน่วยงานฝ่ายความมั่นคง ขณะที่การยุบ กอ.รมน.ไปรวมกับ สมช.คือการย้ายทั้งหน่วยไปเปลี่ยนต้นสังกัด ซึ่งขัดต่อหลักการจัดองค์การ และการยุบ กอ.รมน. แล้วรัฐบาลจะมีงบ 7,700 ล้านบาท ไปใช้ เป็นเรื่องเท็จ เพราะงานยังอยู่ เพียงแต่เปลี่ยนงบจาก กอ.รมน. ไปอยู่ที่ สมช.

สำหรับการใช้กำลังทหารร่วมกับรัฐบาลเรื่องความมั่นคง พล.อ.ดร.นพนันท์ ระบุว่า ในประเทศแถบยุโรปก็มีการใช้เพื่อดูแลเรื่องความมั่นคงอยู่ ซึ่งใช้ทหารเยอะกว่าไทยมาก

พล.อ.ดร.นพนันท์ กล่าวถึงเรื่องงบประมาณ หรืองบลับของ กอ.รมน. ว่า ขณะนี้งบ 10 ปี มีแสนล้านบาท ซึ่งมีแค่นี้ หากพูดต่อ ก็ต้องไปหาหลักฐานมา การบอกว่า กอ.รมน.ได้งบเยอะ ก็ไม่สามารถบอกได้ว่านายพลใน กอ.รมน. รวย อีกทั้งเป็นการนำข้อมูลผิด ๆ มานำเสนอตามสื่อ ยืนยันว่าไม่มีงบลับแล้ว

พล.ท.ดร.ดนัยวัฒนา ระบุว่า พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 มีวิสัยทัศน์ในการใช้ศักยภาพทรัพยากรของชาติ ทั้งหน่วยงาน บุคคล (พลเรือนและทหาร) เขียนได้สั้น กระชับ ตรงประเด็น เข้าใจง่าย มีเจตนารมณ์ที่เมตตา กรุณา ซึ่งที่ผ่ามามีการตั้งคำถามว่า กอ.รมน. เป็นองค์กรของใคร มีความเหมาะสมหรือไม่กับการทำงานในบริบทความมั่นคงใหม่ และ กอ.รมน. มีกระบวนการทำงานที่มีธรรมาภิบาล หรือมีการปฏิรูปภาคส่วนแล้ว

นางสาวชลธนสรณ์ กล่าวว่า ความจำเป็นของ กอ.รมน. คือ ต้องมีหน่วยงานที่ยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับภัยใหม่ ๆ ที่เข้ามา และต้องพร้อมทำงานร่วมกัน อาศัยความร่วมมือจากรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงภาคประชาชน แยกกันทำไม่ได้ทั้งทหารและตำรวจ จึงเกิดหน่วยนี้ขึ้นมา หากจะไปตั้งหน่วยใหม่แล้วยุบ กอ.รมน.ทิ้ง ใครจะรับมือกับภัยที่รุนแรงรูปแบบใหม่ ส่วนหน่วยงานอย่าง สมช. ขับเคลื่อนนโยบายความมั่นคง แต่การทำงานมีช่องว่างระหว่างหน่วยนโยบาย และหน่วยปฏิบัติ จึงต้องมีส่วนกลางในการทำงานร่วมกัน

นางสาวชลธนสรณ์ ยังระบุอีกว่า ใน กอ.รมน. มีนายกรัฐมนตรีอยู่ด้วย และมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานอื่น ๆ อีก การสรุปว่าเป็นการทำงานของทหารอย่างเดียวนั้น ไม่สามารถสรุปได้ เพราะการตัดสินใจอะไรก็มีสัดส่วนในการโหวตอยู่ รวมถึงยังมี ครม.ตรวจสอบการทำงานของทหารด้วย นับเป็นการตรวจสอบถ่วงดุลภายในองค์กร

Related Posts

Send this to a friend