POLITICS

‘สุทิน’ ดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสู่ตลาดโลก

‘สุทิน’ ดันอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทยสู่ตลาดโลก ชี้ รัฐมนตรียุคใหม่ต้องเป็นเซลล์แมนประเทศ

วันนี้ (8 พ.ค. 67) นายสุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวขณะเดินทางเยือนกรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เพื่อร่วมงาน Defence Service Asia 2024 (DSA) ระหว่างวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2567 ว่า บทบาทของกระทรวงกลาโหมขณะนี้จำเป็นต้องปรับตัว จากเดิมที่เคยเป็นผู้ใช้เงินงบประมาณแผ่นดินในภารกิจของกองทัพ และความมั่นคงนั้น มาเป็นการหารายได้เข้าประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจตลอดจนเกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพและรายได้ให้กับคนในชาติ ผ่านอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ตนเองไม่แน่ใจว่ารัฐให้ความสำคัญมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าในยุครัฐบาลที่มีรัฐมนตรีกลาโหมชื่อสุทินจะต้องทำเรื่องนี้ให้เต็มที่ และถ้าทำได้ดี การส่งออกอุตสาหกรรมประเภทนี้ จะนำเม็ดเงินมหาศาลเข้าประเทศ อาจจะมากกว่าการส่งออกด้านเกษตรกรรม หรืออื่นๆ ด้วยซ้ำไป

นายสุทิน ยังกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันมีภาคเอกชนของไทยหลายรายที่มีศักยภาพสูง สามารถส่งออกและเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ อย่างเช่น บริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ที่วันนี้ได้ร่วมมือกับกระทรวงกลาโหม โดยสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) ซึ่งจัดตั้งเป็นบริษัทร่วมทุนภายใต้ชื่อบริษัท TDI (Thai Defense Industry) ซึ่งแนวทางนี้จะช่วยเพิ่มโอกาสและช่องทางการส่งออกให้กับภาคเอกชนในลักษณะแบบรัฐต่อรัฐ หรือ G to G ได้ แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลไทยเองก็ต้องลดการจัดซื้ออาวุธและยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ หันมาสนับสนุนการผลิตที่เกิดจากภายในด้วยเช่นกัน แม้เราจะไม่สามารถทำได้ในคราวเดียว แต่อาจจะค่อยๆ เพิ่มปริมาณขึ้นเป็นแบบขั้นบันไดได้ เพราะถ้าเราจะไปขายให้ต่างชาติ แต่ไม่มีการใช้ในกองทัพไทยเลย เราจะเอาเครดิตอะไรไปขาย หรือจะเอาอะไรอ้างอิงถึงประสิทธิภาพของสินค้าได้ ซึ่งเรื่องนี้ต้องทำเป็นนโยบายหลักของกลาโหมในยุคที่ตนเองเป็นรัฐมนตรี เพราะอย่างที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าเรื่องของอาวุธเป็นรายจ่ายที่หนักของประเทศ ถ้าเราสามารถลดรายจ่าย และตีกลับให้เป็นรายได้ของประเทศ ลองคิดดูว่าจะมีมูลค่ามากแค่ไหน

ดังนั้น ตนเองกำลังมาดูเรื่องของภาษีและค่าธรรมเนียมว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตของภาคเอกชน ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมได้อย่างไร รวมถึงได้หารือกับกระทรวงอุตสากรรมถึงแนวทางในการร่วมมือกันพัฒนาเรื่องนี้ให้มีเป้าหมายเดียวกันด้วย

นายสุทิน กล่าวด้วยว่า การเป็นรัฐมนตรียุคใหม่ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนของประเทศ ซึ่งการที่ตนเดินทางเยือนต่างประเทศแต่ละครั้ง บทบาทอย่างหนึ่งคือการช่วยรับรอง สนับสนุน และนำเสนอภาคเอกชนของไทย ให้ได้รับความน่าเชื่อจากกองทัพของในประเทศที่ไป เช่น อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ซึ่งตนเองก็ได้พบหารือกับรัฐมนตรีกลาโหม ผู้นำกองทัพ และภาคเอกชนของทั้งสองประเทศ จนนำมาสู่ความก้าวหน้าในการที่จะมีแผนการจัดทำข้อตกลง หรือ MOU ร่วมกัน ซึ่งคาดว่าจะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้

ดังนั้น ตนในฐานะรัฐมนตรีกลาโหมจึงต้องมีความตระหนักและให้ถือว่าเป็นภาระหน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะต้องทำให้จริงจัง เพราะนอกจากจะเป็นการสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ลดรายจ่ายจากการนำเข้าแล้ว ยังสร้างมูลค่ามหาศาลล่อเลี้ยงระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคแรงงาน และภาคอุตสาหกรรมของประเทศให้เกิดความอย่างยั่งยืน

ส่วน นายกานต์ กุลหิรัญ กรรมการผู้จัดการบริษัท ชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด กล่าวว่า บริษัทชัยเสรี เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจผลิต จำหน่าย และซ่อมบำรุง Defense Land System และยุทโธปกรณ์ทางทหาร มีฐานการผลิต ทีมวิศวกรและช่างจากในประเทศไทย มีศักยภาพเป็นที่ยอมรับ ส่งออกไปขายในประเทศต่างๆทั่วโลก รวมทั้งองค์การสหประชาชาติ ดังนั้น การที่กระทรวงกลาโหมกำลังมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ที่จะกำหนดให้กองทัพเริ่มทะยอยซื้อยุทโธปกรณ์ที่ผลิตในประเทศมากขึ้นนั้น นอกจากจะเป็นการสร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้ประกอบการที่จะเร่งพัฒนาสินค้าให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ยังช่วยลดรายจ่ายของภาครัฐได้อย่างมหาศาล เพราะการซ่อมบำรุง การขนส่ง การอัพเกรดซอฟแวร์ ช่าง หรือ อื่นๆ ก็จะทำได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องส่งกลับไปประเทศต้นทาง เพราะในทุกกระบวนการมีต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่สูงมาก

นายกฤต กุลหิรัญ ผู้ช่วยผู้จัดการบริษัทชัยเสรี เม็ททอล แอนด์ รับเบอร์ จำกัด ฝากทิ้งท้ายว่า ต้องขอขอบคุณกระทรวงกลาโหมที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนอุตสาหกรรมป้องกันประเทศของไทย ซึ่งทางบริษัทเป็นหนึ่งในหลายบริษัทที่มีโอกาสได้ร่วมคณะในการเยือนประเทศต่างๆ กับรัฐมนตรีกลาโหม ซึ่งตนเองได้มีโอกาสร่วมคณะไปเยือนอินโดนีเซีย สิงคโปร์ และมาเลเซีย การที่ชัยเสรีได้ร่วมกับกระทรวงกลาโหม จัดตั้งบริษัทร่วมทุนชื่อ TDI นั้น จะทำให้รัฐบาลและกองทัพประเทศต่างๆ เกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นในสินค้าและยุทโธกรณ์มากขึ้น เพราะแต่ละชิ้นล้วนมีมูลค่าที่สูงมาก หากเราขายแบบ G to G หรือรัฐต่อรัฐย่อมเพิ่มโอกาสในการตัดสินใจจากผู้ซื้อ เพราะบางประเทศไม่ซื้อตรงจากเอกชนเลย

ดังนั้นวันนี้เรามีท่านรัฐมนตรีเป็นเซลล์แมนให้ ภาคเอกชนก็มีความคล่องตัวมากขึ้น ประเทศได้กำไร เกิดการจ้างงานจ้างอาชีพ สร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เข้มแข็ง สุดท้ายตนอยากฝากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับเรื่องของข้อกฎหมายที่ยังมีบางอย่างยังเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการของอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการที่รัฐบาลของเราควรจะต้องมีนโยบายเรื่อง offset policy เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของคนในชาติจากการนำเข้ายุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ โดยให้คำนึงถึงการจ้างงาน และการชดเชยไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมให้กับคนในประเทศเป็นสำคัญ

Related Posts

Send this to a friend