POLITICS

‘วิษณุ’ แจง ที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ ขรก.การเมือง

‘วิษณุ’ แจง ที่ปรึกษาของนายกฯ ไม่ใช่ ขรก.การเมือง ส่วน ปลัดมท.-อธิบดีกรมอุทยานฯ ให้ดำเนินการตามวินัย

วันนี้ (10 ม.ค.66) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีการแต่งตั้งที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่า ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง ไม่มีเงินเดือน ไม่มีเงินประจำตำแหน่ง เป็นการแต่งตั้งตามระเบียบกฎหมายบริหารราชการแผ่นดิน ส่วนที่ในเอกสารการแต่งตั้งมีการระบุสิทธิประโยชน์นั้น เมื่อไปปฏิบัติราชการ เป็นคำสั่งอาศัยอำนาจตามระเบียบราชการแผ่นดิน มาตรา 61(6) ซึ่งเป็นมาตราเดียวกับที่แต่งตั้งผู้ช่วยรัฐมนตรี แต่ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง นายกฯ มีที่ปรึกษาฯ ได้ทั้งหมด 5 คน เป็นข้าราชการการเมือง มีเงินเดือน เช่น ตนเองมีที่ปรึกษา ซึ่งแต่งตั้งไว้หมดแล้ว คนที่เพิ่งแต่งตั้งขึ้นมาจึงไม่ใช่ที่ปรึกษาอย่างนั้น

ผู้สื่อข่าวถามว่า ที่ปรึกษาของนายกฯ กับ ที่ปรึกษานายกฯ ไม่เหมือนกันใช่หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า เป็นการใช้เรียก ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้ว่าเป็นที่ปรึกษาของใคร คนที่เข้ามาเป็นที่ปรึกษาของนายกฯ จะใช้ประโยชน์ในทางราชการช่วยเหลือในการทำกิจการใด ๆ หรือไม่นั้น คงไม่มี ทำไม่ได้ ยกเว้น นายกฯ มอบหมายให้บุคคลนั้น ไปทำเรื่องต่าง ๆ อย่างนั้นจึงจะเรียกมาชี้แจงได้

โดยที่ปรึกษานายกฯ จะใช้อำนาจอะไรให้หน่วยงานต่าง ๆ มาช่วยงาน ตามที่นายกฯมอบหมายได้หรือไม่ นายวิษณุ กล่าวว่า ไม่มี ตามกฎหมายมาตรา 11(5) นายกฯ สามารถแต่งตั้งผู้ทรงคุณวุฒิให้เป็นที่ปรึกษา กรรมการ อนุกรรมการ ผู้ช่วยงานอย่างใดก็ได้ รวมถึงเวลาไปปฏิบัติงานราชการ ส่วนกฎหมายระเบียบข้าราชการการเมือง ระบุว่า ข้าราชการการเมืองมี 16 ประเภท 1.นายกฯ 2.รองนายกฯ 3.รัฐมนตรี มีที่ปรึกษานายกฯ 5 คน ซึ่งขณะนี้แต่งตั้งเต็มอัตราแล้ว คนที่เพิ่งแต่งตั้งมา ไม่ใช่ข้าราชการการเมือง เป็นการแต่งตั้งลอย ๆ ไม่ได้แต่งตั้งมาเพื่อช่วยเลือกตั้ง

ส่วนกรณีของปลัดกระทรวงมหาดไทย ชี้แจงต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ว่า กระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการทางประมวลจริยธรรม หากเข้าขั้นเป็นความผิดทางวินัย ก็เข้าสู่กระบวนการสอบสวนทางวินัย หากเป็นความผิดเข้าขั้นของอาญา ก็ไปสู่การดำเนินคดีอาญา ข้อหาหมิ่นประมาท ทุกอย่างต้องว่าไปตามขั้นตอน

ส่วนกรณีที่นายกฯ ออกคำสั่งให้อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มาประจำการที่ทำเนียบรัฐบาล ไม่ใช่การปกป้อง คุ้มครองหรือทำให้พ้นอำนาจกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพราะยังเป็นอธิบดีอยู่ อยู่ในอำนาจของกระทรวงทรัพย์ฯ จึงออกมาเพื่อทำให้ไม่สามารถไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐาน พยานบุคคล ซึ่งเขาได้มารายงานต่อปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว โดยกระทรวงทรัพย์ ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง เมื่อพบว่ามีมูลก็ตั้งคณะกรรมการสอบวินัยร้ายแรง ผลสอบออกมาอย่างไรก็ดำเนินการไปตามวินัย โทษคือไล่ออก

Related Posts

Send this to a friend