POLITICS

‘ณัฐชา’ จี้ ยกระดับแก้ปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’

‘ณัฐชา’ จี้ ยกระดับแก้ปัญหา ‘ปลาหมอคางดำ’ สร้างความเสียหายระดับประเทศ แนะ ‘ธรรมนัส’ เยียวยาเหมือนโรคระบาดในสัตว์ชนิดอื่น

ณัฐชา บุญชัยอินสวัสดิ์ สส.เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร พรรคก้าวไกล ในฐานะตัวแทนชาวประมง 7 จังหวัดที่ได้รับผล กระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ ร้องเรียนต่อ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในระหว่างนำทีมงานกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ติดตามแนวทางแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ ที่วิทยาลัยการอาชีพอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมา

ณัฐชา กล่าวว่า ผลกระทบจากปลาหมอคางดำในขณะนี้รุนแรงมาก เพราะลงบ่อเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำของประชาชนเมื่อไหร่ เจ๊งยกบ่อ ส่วนการแพร่กระจายก็รุนแรงลามไปถึง 7 จังหวัด รวมถึงกรุงเทพมหานครด้วย ทำให้สัตว์น้ำทางเศรษฐกิจหลายประเภทอยู่ในความเสี่ยง เช่น ปลาสลิดบางบ่อ จ.สมุทรปราการ ทั้งนี้จากข้อมูลที่ได้รับมาล่าสุดพบการแพร่กระจายไกลออกไปกว่าเดิม ใต้สุดที่มีรายงานการพบคือสุราษฎร์ธานี ภาคตะวันออกไปถึงจันทบุรี และเหนือสุดไปถึงนครสวรรค์

เมื่อปี 2549 คณะกรรมการด้านความหลากหลายและความปลอดภัยทางชีวภาพของกรมประมง (IBC) อนุญาตให้บริษัทเอกชนนำเข้าปลาหมอคางดำ 2,000 ตัว จากสาธารณรัฐกานา ทวีปแอฟริกา เพื่อนำมาปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิลแบบมีเงื่อนไข นำเข้ามาจริงปี 53 ต่อมาแจ้งว่าวิจัยไม่สำเร็จ ทำลายปลาทั้งหมดไปแล้ว แต่ในปี 55 เริ่มพบปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรกในตำบลยี่สาร ซึ่งอยู่ใกล้แหล่งเพาะพันธุ์ของบริษัทเอกชนที่นำเข้า แต่มีการอ้างว่าปลาที่กระจายในแหล่งน้ำมาจากการลักลอบนำเข้า พยายามเบี่ยงไปใช้คำว่า ‘ปลาหมอสีคางดำ’ เพื่อจะบอกว่าเป็นปลาที่นำเข้าโดยเอกชนรายอื่น

ณัฐชา กล่าวต่อไปว่า หลังมีการแพร่กระจายสู่แหล่งน้ำธรรมชาติครั้งแรกสร้างผลกระทบเป็นวงกว้างมากขึ้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน จึงนำมาสู่ข้อเรียกร้องไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ ใน 2 ประเด็น ประเด็นแรกต้องติดตามต้นเหตุของการแพร่ระบาดที่สร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนมารับผิดชอบ เพราะประชาชนมองว่าปลาหมอคางดำระบาดอาจเป็นการตั้งใจ เพราะเอกชนดังกล่าวเพาะสัตว์น้ำขายเหมือนกัน

ประเด็นที่สองคือการเยียวยา ที่ผ่านมาแม้กรมประมงจะมีมาตรการดูแลเยียวยาด้วยการรับซื้อบ้างแล้วแต่ยังไม่สำเร็จ กลายเป็นยิ่งเพาะพันธุ์โดยคนบางกลุ่มมารับเงินเยียวยา พองบที่ตั้งหมด ปัญหาก็เพิ่ม เพราะคนเพาะเลี้ยงพอไม่ได้เงินก็ปล่อยสู่ธรรมชาติ

“ผลกระทบและการแพร่กระจายหลังจากนั้นรุนแรงมากขึ้น ยกตัวอย่างคลองสนามชัย กรุงเทพฯ ผมไปดูด้วยตัวเอง ทอดแห 10 ครั้ง เจอปลาสายพันธุ์อื่น 2 ตัว ที่เหลือเป็นปลาหมอคางดำเต็มคันรถ การเยียวยาที่เกษตรกรขอว่าต้องการให้รับซื้อกิโลกรัมละ 20 บาท ต้องตั้งเป้าว่าเพื่อการเยียวยาเกษตรกรที่เพาะสัตว์น้ำขาย ซึ่งทางกระทรวงมีการขึ้นทะเบียนไว้อยู่แล้ว ใครเพาะอะไรเท่าไหร่ ถ้าเจอปลาหมอคางดำซึ่งเป็นเอเลี่ยนสปีชีย์ก็เยียวยาเขาไป เพราะสมมติเขาลงกุ้งสามแสนบาทแต่ตายทั้งบ่อ จับปลาหมอคางดำได้อย่างมากกรมประมงก็รับซื้อแค่สามหมื่น ไม่คุ้มแต่ต้องทำเพื่อตัดตอนการแพร่กระจายให้ได้” ณัฐชา กล่าว

ณัฐชา กล่าวว่า การชดเชยอาจทำได้ด้วยการลงพันธุ์สัตว์น้ำที่เลี้ยงในบ่อรอบใหม่ให้ อยากให้มองเหมือนเวลาเกษตรกรโดนโรคระบาดก็มีงบเยียวยาทันที มีวัคซีนลงไปให้ ควรต้องมีมาตรการเยียวยาและจัดการให้เหมือนโรคระบาดในสัตว์ชนิดอื่น แต่ที่ผ่านมาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงสัตว์น้ำกำลังลดลงไปเรื่อย ๆ

ทั้งนี้ ร.อ.ธรรมนัส เห็นด้วยว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องผลักดันเป็นวาระแห่งชาติ ก่อนจะมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ไปสำรวจผลกระทบเพื่อเยียวยาและหาวิธีป้องกัน พร้อมตั้ง นายอรรถกร ศิริลัทธยากร รมช.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานคณะกรรมการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ รวมถึงหาผู้รับผิดชอบ

Related Posts

Send this to a friend