POLITICS

‘อลงกรณ์’ เผย หากเป็นหัวหน้า ปชป. จะโหวต ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

พร้อม รื้อโครงสร้างพรรค ก่อนเปิดทางคนรุ่นใหม่ ขอเป็นแค่ 2 ปี ชี้ ผู้ลงสมัคร ควรเปิดดีเบตโชว์วิสัยทัศน์

วันนี้ (6 ก.ค. 66) นายอลงกรณ์ พลบุตร รักษาการรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนเรื่อง การประชุมหารือเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

นายอลงกรณ์ ระบุว่า ทิศทางจะเป็นอย่างไรคงต้องรอการประชุมในวันอาทิตย์นี้ ที่จะมีการเลือกหัวหน้าพรรค และกรรมการบริหารพรรคชุดใหม่ ซึ่งจะมีหน้าที่ในการกำหนดแนวทางในการโหวตนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. แต่ตนยังยืนยันจุดเดิมว่า พรรคประชาธิปัตย์ต้องยืนบนหลักการประชาธิปไตยที่ชัดเจน ตรงไปตรงมา และการโหวตนายกฯ ควรสนับสนุนแคนดิเดตนายกฯ จากพรรคที่สามารถรวบรวมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ เพื่อรักษาหลักการเสียงข้างมาก

นายอลงกรณ์ กล่าวอีกว่า การเดินหน้าเปลี่ยนผ่านรัฐบาลต้องเป็นไปโดยความรวดเร็ว และราบรื่น เพื่อเป็นการเคารพเสียงของประชาชน ซึ่งการมีจุดยืนที่ชัดเจนเห็นแก่ประเทศชาติจะทำให้ประชาธิปัตย์ได้รับความน่าเชื่อถือกลับคืนมา อีกทั้งการปฏิรูปพรรค เป็นหัวใจสำคัญอย่างยิ่ง โดยหลังการพ่ายแพ้ในการเลือกตั้ง คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันว่าต้องมีการปฏิรูป เพียงแต่ว่าการนำเสนอแนวทางการปฏิรูปนั้นยังไม่มีความชัดเจน

ส่วนการเสนอตัวในการลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า อยากให้มีการดีเบตสำหรับผู้ที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งหัวหน้าพรรค แม้การเลือกหัวหน้าพรรคคราวนี้จะไม่มีระบบไพรมารี่โหวต แต่ก็ควรให้มีการดีเบตระหว่างผู้ที่ประสงค์เพื่อจะได้ทราบจุดยืนวิสัยทัศน์ แนวทางนโยบายในการพัฒนาพรรคต่อไป เพราะเราเป็นสถาบันทางการเมืองจึงจำเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกทั่วประเทศควรจะได้รับรู้คุณสมบัติของหัวหน้าพรรคคนใหม่

ส่วนกระแสข่าวว่า ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อดีตผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ จะลงชิงตำแหน่งด้วย นายอลงกรณ์ ระบุว่า ก็ทราบเพียงแค่รายงานข่าว เพราะตนเองยังเป็นคนเดียวที่ลงสมัครอย่างเปิดเผย จึงขอเรียกร้องให้หลายท่านที่จะประสงค์ลงสมัครเปิดตัวอย่างชัดเจน ทำให้พรรคประชาธิปัตย์สะท้อนความเป็นสถาบันทางการเมืองที่มีวัฒนธรรมประชาธิปไตยอยู่ในพรรค

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่า อาจจะมีกลุ่มคนที่สนับสนุน นายชวน หลีกภัย และนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมในวันนั้น นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การประชุมใหญ่ของพรรคถือเป็นกิจกรรมสำคัญ สมาชิกพรรคทั่วประเทศสามารถไปร่วมสังเกตการณ์การประชุมได้อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มใดก็ตาม แต่องค์ประชุมจะมีเกือบ 400 คนที่เป็นตัวแทนจาก 19 กลุ่ม ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่งดงามของพรรคประชาธิปัตย์ในความเป็นสถาบันทางการเมืองที่สมาชิกพรรคอยากมีส่วนร่วมกับพรรคอย่างเต็มที่

นายอลงกรณ์ ระบุอีกว่า ในส่วนของการปฏิรูปพรรค ตนมีความตั้งใจที่จะเสนอมาตั้งแต่ปี 2556 อีกทั้งยังเคยเป็นรองหัวหน้าพรรค 4 สมัย ส.ส. 6 สมัย และเคยเป็นรัฐมนตรีมาแล้ว จึงมีความมั่นใจว่าใน 30 ปีของการอยู่พรรคประชาธิปัตย์ และไม่เคยย้ายไปพรรคไหน ทุ่มเททำงานให้พรรค มีความเข้าใจในปัญหาของพรรค แต่ขณะเดียวกันพรรคจะต้องปฏิรูปเปิดพื้นที่ให้คนรุ่นใหม่

“ผมจะเป็นหัวหน้าพรรคเพียง 2 ปี เพื่อปรับพื้นฐานของพรรค สร้างแนวทางประชาธิปไตย และสร้างคนรุ่นใหม่ๆ วิสัยทัศน์ใหม่ๆ ขึ้นมา จากนั้นจะลาออกเพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่เข้าไปสืบสานงานต่อไป” นายอลงกรณ์ กล่าว

นายอลงกรณ์ กล่าวย้ำอีกว่า ช่วงของการเปลี่ยนผ่านนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย จากจุดที่เราตกต่ำที่สุดเหลือ ส.ส. เพียง 25 คน และคะแนนความนิยมของพรรคเพียง 9 แสนกว่า เป็นสิ่งที่ไม่ใช่งานง่าย ต้องผนึกความร่วมมือ สร้างโครงสร้างแบบกระจายอำนาจไปยังสาขาพรรคทั่วประเทศ เปิดพื้นที่การทำงานให้คนรุ่นใหม่ เช่น กลุ่มสตรี กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นการปรับโครงสร้างเชิงระบบครั้งใหญ่ที่ประสบการณ์ และการรู้ปัญหาในพรรคจะทำให้สร้างก้าวใหม่ในพรรคประชาธิปัตย์ได้

Related Posts

Send this to a friend