POLITICS

‘ส.ว.มณเฑียร’ ยึดหลัก สนับสนุนเสียงข้างมาก โหวตเลือก ‘พิธา’ เป็นนายกฯ

ไม่รู้เสียง ส.ว. คนอื่น ลั่น ม.112 แก้ไขยากกว่ากฎหมายอื่นร้อยเท่า ไม่ควรนำมาเป็นเงื่อนไข

วันนี้ (6 ก.ค. 66) นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกวุฒิสภา ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงประเด็นการเลือกนายกรัฐมนตรีในวันที่ 13 ก.ค. นี้

นายมณเฑียร ระบุว่า ตนเองยืนยันในหลักการที่ว่าจะโหวตนายกรัฐมนตรีตามเสียงข้างมาก ของ ส.ส. ในสภา และจะโหวตตามเสียงของประชาชน และไม่มีเงื่อนไขในเรื่องนโยบาย ความชอบหรือไม่ชอบ เพราะมองว่านโยบายนั้นอยู่ที่การหาเสียง ส่วนจะแก้ไขได้หรือไม่ ก็เป็นเรื่องที่ต้องดูกันในสภาฯ

“เงื่อนไขเรื่องการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ส่วนตัวไม่คิดว่าเป็นเงื่อนไขในการโหวตเลือกนายกฯ ลองคิดดูว่าการแก้ไขกฎหมายเรื่องภาษี กับเรื่องมาตรา 112 อะไรแก้ยากกว่ากัน ครั้งที่แล้วแก้เรื่องภาษี ก็ไม่ผ่าน ซึ่งเรื่องมาตรา 112 เราไม่สามารถแก้ได้ มองว่าแก้ไขยากกว่าหลายร้อยเท่า เอาง่าย ๆ แค่ 8 พรรคร่วมก็ไม่ผ่านแล้ว จะกลัวอะไร” นายมณเฑียร กล่าว

ผู้สื่อข่าวพยายามถามถึงเสียงสนับสนุนของ ส.ว. ที่จะโหวตให้ นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แคนดิเดตนนายกรัฐมนตรีจากพรรคก้าวไกล ว่ามีเสียงสนับสนุนมากเท่าใด นายมณเฑียร ระบุว่า ตนเองไม่รู้ ส่วนที่บอกว่ามีผู้สนับสนุน 5 เสียงนั้น ก็เป็นสิ่งที่จะคิดได้ แต่หากคิดในหลักการการเคารพเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎร ปกติ ส.ว. ไม่ได้โหวตนายกฯ อยู่แล้ว ซึ่งตามบทเฉพาะการตอนนี้จำเป็นต้องโหวตก็ควรยึดหลักการเสียงข้างมาก

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าพรรคร่วมจัดตั้งรัฐบาลขาดอีก 64 เสียง มีความเป็นไปได้หรือไม่ที่ ส.ว. จะโหวตให้ถึง 64 เสียง จนเป็นนายกรัฐมนตรีได้ นายมณเฑียร ระบุว่า ทั้งเป็นไปได้ และเป็นไปไม่ได้ เพราะ ส.ว. ไม่มีหลักเกณฑ์ในการยึดเอาไว้ หรือเหมือนพรรคการเมืองที่มีมติพรรค แต่เราทำตามรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้นการโหวตเลือกนายกฯ จึงเป็นความเชื่อ และความคิดของแต่ละคน ทั้งนี้ ที่ตนเองมองว่าเป็นไปไม่ได้ เพราะไม่รู้ว่าใครคิดอะไร ส่วนตอนเลือกพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชานั้น ก็เลือกตามการรวมเสียงเกินกึ่งหนึ่งในสภาฯ อยู่แล้ว โดยในครั้งนี้อาจมีคนใช้แนวคิดแบบนี้ก็ได้

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่าหากการเสนอชื่อของนายพิธานั้นไม่ได้รับการโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี จะมีการเสนอชื่อแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทยหรือไม่ นายมณเฑียร ระบุว่า ยังไม่ใช่เวลานี้ ต้องยอมรับว่าเวลานี้ พรรคที่ได้คะแนนสูงสุดจัดตั้งรัฐบาลก่อน และเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีก่อน และหลังจากนั้นจะเปลี่ยนแปลงอย่างไรก็แล้วแต่ และ ส.ว. มีหน้าที่แค่โหวตนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีหน้าที่ในการเสนอชื่อ

ผู้สื่อข่าวถามว่าการรวมตัวกันของมวลชนในการกดดันให้ ส.ว. โหวตตามมติเสียงของประชาชนจะสามารถกดดันได้หรือไม่ นายมณเฑียร ระบุว่า ไม่คิดว่ามีผลต่อการกดดัน เพราะแต่ละคนคงมีเกณฑ์อยู่ในใจอยู่แล้ว

ผู้สื่อข่าวถามต่อว่ามีการได้รับการติดต่อจากพรรคขั้วรัฐบาลเดิมหรือไม่ นายมณเฑียร กล่าวว่า ไม่มีการพูดคุย หารืออะไร เพราะตนเองอาจจะเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่ผ่านมาโหวตเห็นด้วยอะไรก็แพ้ตลอด และคงไม่ได้มีความสำคัญในแง่ของจำนวน เนื่องจากเป็นแค่หนึ่งเสียง

Related Posts

Send this to a friend