เปิดคำวินิจฉัย ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ‘ธรรมนัส’ ไม่สิ้นสภาพ ส.ส.และ รัฐมนตรี

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำวินิจฉัย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ไม่สิ้นสภาพ ส.ส.และ รัฐมนตรี ชี้คำพิพากษาศาลต่างประเทศ ไม่สามารถใช้ได้ในไทย การต้องคดีจนกลายเป็นลักษณะต้องห้ามการเป็น ส.ส.และ รมต.ต้องยึดตามคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้น
วันนี้ (5 พ.ค. 64) ศาลรัฐธรรมนูญประชุมปรึกษาคดีที่สำคัญและเป็นที่สนใจ กรณีประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญมาตรา 82 วรรคหนึ่งและมาตรา 170 วรรคสามประกอบมาตรา 82 ว่าสมาชิกภาพของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 101(6) ประกอบมาตรา 98 (10) และความเป็นรัฐมนตรีของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์สิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4 ) ประกอบมาตรา 160 (6 ) และมาตรา 98 (10) หรือไม่ (เรื่องพิจารณาที่ 13/2563)
สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวน 51 คนเข้าชื่อร้องต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร (ผู้ร้อง) ขอให้ส่งคำร้องไปยังศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญว่าร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า (ผู้ถูกร้อง) ซึ่งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เคยต้องคำพิพากษาหรือคำสั่งที่ชอบด้วยกฎหมายอันถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิด ในความผิดฐานเป็นผู้ผลิตนำเข้าส่งออกหรือผู้ค้าซึ่งยาเสพติดที่แม้จะเป็นคำพิพากษาของศาลต่างประเทศกรณีดังกล่าวย่อมทำให้ผู้ถูกร้องเป็นบุคคลที่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ อันเป็นเหตุให้สมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญ และเป็นเหตุให้ความเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของผู้ถูกร้องสิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ
ด้วยต่อมาผู้ร้องส่งคำร้องดังกล่าวต่อศาลรัฐธรรมนูญศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องไว้พิจารณาวินิจฉัยให้ผู้ถูกร้องยื่นคำชี้แจงแก้ข้อกล่าวหา และมีหนังสือเรียกเอกสารหลักฐานจากคู่กรณีและกระทรวงการต่างประเทศ
ผลการพิจารณาศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่ามีข้อที่ต้องพิจารณาก่อนว่าคำว่า“ เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด “ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (10) อันเป็นลักษณะต้องห้าม มิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หมายความถึงคำพิพากษาของศาลไทยเท่านั้นหรือไม่
รัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า
“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทยพระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุขทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ”
และวรรคสองบัญญัติว่า“ รัฐสภาคณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรอิสระ และหน่วยงานของรัฐ ต้องปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญกฎหมาย และหลักนิติธรรมเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประเทศชาติ และความผาสุกของประชาชนโดยรวม”
จากบทบัญญัติดังกล่าวหมายถึงอำนาจอธิปไตย เป็นอำนาจสูงสุด ในการปกครองประเทศ ลักษณะสำคัญของอำนาจอธิปไตยคือมีความเด็ดขาดสมบูรณ์ไม่อยู่ในอาณัติ หรืออยู่ภายใต้อำนาจของรัฐอื่น ซึ่งการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี เป็นการใช้อำนาจตุลาการอันเป็นส่วนหนึ่ง ของอำนาจอธิปไตย ย่อมต้องไม่ตกอยู่ในอาณัติหรือภายใต้อำนาจตุลาการของรัฐอื่น หลักการปกครองของประเทศ ที่มีอำนาจอธิปไตยโดยสมบูรณ์ มีหลักการสำคัญคือหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น และไม่ถูกประเทศอื่นแทรกแซงกิจการภายในของตน โดยไม่มีการทำข้อตกลงหรือยินยอมดังนั้นการบังคับตามคำพิพากษาของศาลต่างประเทศก็ดี
การตีความให้คำพิพากษาของศาลต่างประเทศ มีสถานะทางกฎหมาย เช่นเดียวกับคำพิพากษาของศาลไทยก็ดี จึงไม่สอดคล้องกับหลักการดังกล่าวตามหลักอธิปไตยของรัฐ ตามกฎหมายระหว่างประเทศคำพิพากษาของศาลรัฐใด ก็จะมีผลในดินแดนของรัฐนั้น ในบางกรณีรัฐใดรัฐหนึ่งอาจให้การรับรองคำพิพากษาของศาลอีกรัฐหนึ่ง และอาจบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษานั้นได้ แต่ต้องมีการทำสนธิสัญญารับรอง และบังคับตามคำพิพากษาตามหลักการต่างตอบแทน โดยมีเงื่อนไขสำคัญ ตามหลักการต่างตอบแทนในสนธิสัญญาว่ารัฐภาคีต้องผูกพันที่จะเคารพ และปฏิบัติตามผลของคำพิพากษาของอีกรัฐภาคีหนึ่งด้วย
ดังนั้นทั้งหลักการและทางปฏิบัติของรัฐ เกี่ยวกับการใช้อำนาจทางตุลาการจะได้รับการบัญญัติไว้ ในรัฐธรรมนูญของแต่ละประเทศ เพื่อยืนยันหลักความเป็นอิสระของตุลาการ และความศักดิ์สิทธิ์ของคำพิพากษา เมื่อบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมีการกล่าวถึงคำพิพากษา จึงต้องหมายถึงคำพิพากษาของศาลแห่งรัฐ หรือประเทศนั้น เท่านั้น ไม่รวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศการตรากฎหมายอาญาของแต่ละประเทศ กำหนดการกระทำที่เป็นความผิดองค์ประกอบของความผิดฐานความผิด และเงื่อนไขการลงโทษไว้แตกต่างกันอีกทั้งหากตีความว่า
“เคยต้องคำพิพากษาอันถึงที่สุด” หมายความรวมถึงคำพิพากษาของศาลต่างประเทศด้วย ทำให้ไม่อาจกลั่นกรองหรือตรวจสอบความชอบด้วยหลักนิติธรรมของกระบวนพิจารณาของศาลต่างประเทศดังกล่าวและขัดต่อหลักการต่างตอบแทน
กล่าวคือศาลต่างประเทศไม่ต้องบังคับ หรือยอมรับคำพิพากษาของศาลไทย ทำให้อำนาจอธิปไตยทางศาลของไทย ถูกกระทบกระเทือนอย่างมีนัยสำคัญ เมื่อข้อเท็จจริงในคดีฟังได้ว่าผู้ถูกร้องเคยต้องคำพิพากษาของศาลแขวงรัฐนิวเซาท์เวลส์ เครือรัฐออสเตรเลียก่อนสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แต่ไม่ใช่คำพิพากษาของศาลไทย
ผู้ถูกร้องจึงไม่มีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญ จึงวินิจฉัยว่าสมาชิกภาพของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญและความเป็นรัฐมนตรีของผู้ถูกร้องไม่สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญด้วย