POLITICS

‘จาตุรนต์’ ชี้ หาก ส.ว. และ ส.ส. พปชร.คว่ำร่างที่ตัวเองเห็นชอบ ประชาชนจะหมดความคาดหวังต่อรัฐสภา ปิดโอกาสแก้ไขความขัดแย้ง

วันนี้ (5 มี.ค. 64) นายจาตุรนต์ ฉายแสง ได้เข้าร่วมประชุมถกแถลง เรื่อง “ก้าวต่อไปของการจัดทำรัฐธรรมนูญประชาธิปไตย” ร่วมกับตัวแทนพรรคการเมือง และภาคประชาชน โดยนายจาตุรนต์ ได้เปิดเผยก่อนเข้าร่วมประชุมว่า แนวโน้มการแก้รัฐธรรมนูญในขณะนี้ คิดว่ายังพอเป็นไปได้ แต่ยากมาก ซึ่งต้องใช้ความพยายามในการสื่อสารกับสังคม และผู้มีอำนาจโดยตรง

“สำคัญที่สุดคือ ส.ว. และ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ต้องให้เข้าใจว่า การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นเรื่องที่หลายฝ่ายในสังคมเห็นตรงกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้มีปัญหา และจำเป็นต้องแก้เพื่อประโยชน์ในการที่รัฐบาลจะบริหารประเทศได้ดีขึ้น ตอบสนองความต้องการของประชาชน และยังช่วยแก้วิกฤติความขัดแย้งในสังคม ถ้ามีการล้มการแก้ครั้งนี้ ไม่ว่าในทางใด ปัญหาต่างๆ จะไม่ได้รับการแก้ไข เป็นวิกฤติทางการเมืองที่เพิ่มยิ่งขึ้น”

นายจาตุรนต์ กล่าวอีกว่า ท่าทีของ ส.ส. ที่โหวตให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยอำนาจหน้าที่ของรัฐสภาเองนั้นมีปัญหา เพราะ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐ ก็เป็นผู้ที่เห็นชอบรับหลักการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และดำเนินงานกันมาโดยไม่มีปัญหา การที่จะเสนอให้ศาลฯ พิจารณา ควรเป็นเรื่องการพิจารณาเนื้อหาการแก้ไขในขั้นตอนที่รัฐสภาพิจารณาแล้ว

นอกจากนี้ เงื่อนไขที่นำมาเป็นข้ออ้างในการจะไม่รับร่าง ก็เป็นเรื่องไม่เป็นเหตุเป็นผล เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ไม่ได้ห้ามการแก้หมวด 1 หมวด 2 มีข้อห้ามแค่การแก้ไขจะต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรา 255 คือการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครอง ดังนั้น การอ้างว่าต้องไม่มีการแก้มาตรานั้นมาตรานี้ จึงเป็นเรื่องที่ไม่เคยมีการทำมาก่อนในกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญปกติ

ส่วนการพิจารณาวินิจฉัยของศาลฯ นั้น นายจาตุรนต์ให้ความเห็นว่า ร่างที่กำลังพิจารณาอยู่ ไม่มีใครรู้ว่าสุดท้ายเนื้อหาจะเป็นอย่างไร โดยหลักแล้ว ก็ไม่มีอะไรจะพิจารณา และรัฐสภาเองก็มีอำนาจแก้ ไขที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน จึงคิดว่าไม่น่าเป็นเหตุให้การร่างรัฐธรรมนูญนี้ต้องหยุดลง

“ทั้งนี้ ยังมีก๊อกสอง คือ การลงมติในวาระ 3 หาก ส.ว. หรือ ส.ส. พรรคพลังประชารัฐพร้อมใจกันก็จะเป็นผลเสีย ในการคว่ำร่างทั้งๆ ที่ตัวเองเห็นชอบมาแล้ว โดยเฉพาะฝั่งรัฐบาลที่แถลงไว้ว่าจะแก้รัฐธรรมนูญ แต่พอถึงเวลาแล้วมาคว่ำ จะทำให้ประชาชนหมดหวัง และไม่คาดหวังอะไรจากรัฐสภาอีก จะเป็นผลเสียต่อการแก้ไขความขัดแย้งของสังคมไทยอย่างร้ายแรง”

นายจาตุรนต์ กล่าวเพิ่มเติมว่า หากมีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ อาจจะมีเคลื่อนไหวมากขึ้นโดยหลายกลุ่ม เพราะรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน มีปัญหามากในหลายแง่มุม ถ้าไม่มีการแก้เท่ากับปัญหาต่างๆ จะคาราคาซัง เป็นผลเสียต่อประเทศ เกิดความไม่พอใจของประชาชนมากขึ้น ประชาชนจำนวนมากจะไปหาทางออกอื่น และไม่คาดหวังกับรัฐสภาอีก เป็นการปิดโอกาสในการแก้ปัญหาความขัดแย้งโดยใช้กระบวนการแก้รัฐธรรมนูญ

Related Posts

Send this to a friend