POLITICS

กมธ.อุตฯ ถอดบทเรียนกรณีไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี จ.ระยอง

กมธ.อุตฯ ถอดบทเรียนกรณีไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี จ.ระยอง ให้ทบทวนแผนรับมือเพลิงไหม้เสนออีกครั้ง พร้อมเสนอเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

วันนี้ (3 ก.ค. 67) นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการอุตสาหกรรม คณะผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงกรณีเพลิงไหม้ถังเก็บสารเคมี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคม ที่ผ่านมาว่า คณะกรรมาธิการเล็งเห็นถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นจากเหตุไฟไหม้ และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียง ควรต้องทบทวนและถอดบทเรียนจากเหตุการณ์ไฟไหม้ดังกล่าว เพื่อป้องกันเหตุและลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

ในวันนี้คณะกรรมาธิการจึงเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกรณีไฟไหม้ถังเก็บสารเคมี บริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด คือ กรมควบคุมมลพิษ จ.ระยอง สำนักงานอุตสาหกรรม จ.ระยอง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สํานักงานสาธารณสุข จ.ระยอง สํานักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระยอง สํานักงานเทศบาลเมืองมาบตาพุด และบริษัท มาบตาพุด แทงค์ เทอร์มินัล จํากัด มาให้ข้อมูลแก่คณะกรรมาธิการ โดยคณะกรรมาธิการพิจารณาใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่ 1 แผนการเผชิญเหตุเพลิงไหม้สารเคมีในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม เบื้องต้นได้ให้ความเห็นว่า การดำเนินการดับเพลิงล่าช้ากว่าที่ควรจะเป็น จึงมอบหมายให้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ระยอง และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ทบทวนแผนการดำเนินการดับเพลิงที่ต้องใช้สารเคมีในการดับเพลิงในพื้นที่โรงงานอุตสาหกรรม โดยให้ทบทวนถึงจำนวนรถดับเพลิงที่บรรจุสารเคมี บุคลากรที่มีความชำนาญในการดับเพลิงที่ใช้สารเคมีว่ามีความจำนวนเหมาะสมกับความเสี่ยงหรือไม่

แม้สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดระยองชี้แจงว่า มีแผนดำเนินงานระหว่าง พ.ศ.2564-2570 อยู่แล้ว และทางการนิคมอุตสาหกรรมจะชี้แจงว่าปัจจุบันมีรถดับเพลิงที่ใช้สำหรับกรณีเกิดจากสารเคมีโดยเฉพาะอยู่แล้ว แต่ยังไม่สามารถพิจารณาถึงการนำมาใช้ที่ความเหมาะสมได้ จึงมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลับไปพิจารณาทบทวนแผนการเผชิญเหตุ เพื่อให้จังหวัดระยองเป็นจังหวัดต้นแบบในการเผชิญเหตุเพลิงไหม้ในอุตสาหกรรมหนักที่ไม่สามารถใช้น้ำในการดับเพลิงได้ และจะชี้แจงต่อ กมธ.อุตสาหกรรมอีกครั้งหนึ่ง

ประเด็นที่ 2 คือ ประเด็นผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ แบ่งออกเป็น ผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรมควบคุมมลพิษร่วมกับสาธารณสุข จ.ระยอง ดูแลช่วยเหลือประชาชนเป็นอย่างดี และไม่พบปัญหาใด ส่วนด้านสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมมลพิษตรวจวัดความปนเปื้อนในน้ำทะเล อากาศ และสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ โดยรอบพบว่า ช่วงแรกของเหตุการณ์มีการปนเปื้อน แต่กลับเข้าสู่ภาวะปกติในเวลาต่อมา ขณะที่การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยให้ข้อมูลว่า เบื้องต้นได้เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบไปแล้วประมาณ 10 ล้านบาท กมธ.อุตสาหกรรม จึงเสนอให้เยียวยาอย่างต่อเนื่องจนกว่าจะกลับเข้าสู่สถานการณ์ปกติ

Related Posts

Send this to a friend