POLITICS

‘ปลอดประสพ’ ลั่นรัฐบาลอับจนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม

‘ปลอดประสพ’ ลั่นรัฐบาลอับจนในการแก้ปัญหาน้ำท่วม ไม่แม่น ไม่คงที่ ไม่ทันการณ์ เตือนภัยไม่ได้ แนะหาพื้นที่แก้มลิงริมชี-มูล ขุดลอกปากแม่น้ำเจ้าพระยา

วันนี้ (19 ต.ค. 65) นายปลอดประสบ สุรัสวดี อดีตรองนายกรัฐมนตรี ประธานนโยบายด้านการปฏิรูปโครงสร้างพื้นฐานด้านการจัดการน้ำ พรรคเพื่อไทย ร่วมเวทีเสวนา “ลุ่มเจ้าพระยา ชี มูล ท่วมขนานใหญ่เพื่อไทยแก้ได้” กล่าวว่า เหตุที่ตนมาร่วมเวทีนี้เพราะต้องการพูดใต้กรอบของเนื้อหาวิชาการเพื่อประโยชน์ของประชาชนมากที่สุด และที่ต้องพูดบ่อยเพราะต้องเตือนให้รัฐบาลต้องตระหนักว่านี่เป็นอุทกภัยครั้งใหญ่ในรอบ 50 ปีของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคอีสานเพราะครอบคลุมพื้นที่อีสานใต้ 1 ใน 3 ของภาค นานเกือบ 2 เดือนแล้ว เป็นมหันตภัยที่ร้ายแรงส่งผลกระทบต่อประชาชนกว่า 10 ล้านคนในภาคอีสาน มีปัญหาเรื่องอาหารการกิน ยารักษาโรค ไม่มีที่อยู่อาศัย ความเสียหายหลังน้ำลด การเดินทางขนส่ง

ปลอดประสพ ระบุว่า ตนเห็นการช่วยเหลือของรัฐบาล แต่ไม่แม่น ไม่คงที่ แก้ไม่ถูกจุด มีความอับจนในการแก้ปัญหาทั้งระยะสั้นและระยะยาว ดูแล้วสิ้นหวัง “ผมไม่ไปถึงว่าท่านโง่” ขอใช้คำว่าอับจนเพราะมองไม่เห็นอะไร

พร้อมกล่าวว่า ตนพบเห็นปัญหา 3 ข้อที่รัฐบาลทำงานไร้ประสิทธิภาพ คือ การแจ้งเตือนภัยที่ไม่ชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ทันเวลา มีเรื่องเดียวที่ชมได้คือเรื่องอุตุนิยมวิทยา สามารถบอกได้ว่าจุดเริ่มต้นพายุที่ไหนเข้าไทยเมื่อไร แต่เมื่อเข้าไทยแล้วท่านเป๋ บอกจะตกในอีสานแต่ไม่สามารถระบุพื้นที่ที่แน่ชัดได้ ส่วนเรื่องเตือนภัยน้ำท่วมเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ เตือนไม่ได้เลยว่าสูงแต่ไหน ท่วมตรงไหน ไหลไปตรงไหน ขอตำหนิในเรื่องนี้

เมื่อน้ำท่วมท่านก็อพยพ แต่แหล่งพักพิงชั่วคราวทำแบบลุกลน ไม่แม่นยำ ต้องย้ายแล้วย้ายอีก ทั้งในอุบลราชธานีและอยุธยา ต้องย้ายจนไปอยู่บนหลังคาบ้าน การจัดหาอาหาร ยารักษาโรค ทำเชื่องช้ามาก

ปลอดประสพ ยังระบุว่า รัฐบาลล้มเหลวในการเลือกยุทธวิธีในการบริหารจัดการสภาวะวิกฤติ บางท่านมีความเป็นทหารมากไปหน่อย เลือกใช้วิธี Flood Control ซึ่งทำไม่ได้ในภาคอีสานเพราะไม่มีเขื่อน ไม่มีฝาย และเป็นที่ราบที่สูงกว่าภาคกลาง แท้จริงแล้วต้องใช้วิธี Flood Mitigation คือการบรรเทาผลกระทบ ต้องยอมรับว่าต้องท่วมแน่แต่ต้องบรรเทาให้ดี

แนวคิดของพรรคเพื่อไทย คือ ต้องปรับยุทธศาสตร์การบริหารจัดการใหัเป็นแบบการอยู่กับการเปลี่ยนแปลง ต้องรู้และยอมรับว่าโลกเปลี่ยนแปลง โลกร้อน เราฝืนไม่ได้ ต้องยึดแนวพัฒนาที่สอดคล้องกับธรรมชาติ ( Nature base solution) ,ต้องทบทวนผังเมืองให้เหมาะกับสถานการณ์น้ำมากและหลากแรง เช่นกรณีน้ำท่วมที่ภูเก็ต หรืออำเภอเมืองเชียงใหม่ เพราะการก่อสร้างอาคาร ถนน ขวางทางน้ำ, ทบทวนการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารราชการ ให้มีความมั่นคงในสภาวะน้ำมาก และต้องปกป้องในส่วนสิ่งก่อสร้างที่สร้างก่อนวิกฤตน้ำท่วม ต้องสร้างเขื่อนที่ป้องกันบ้านเมืองและสิ่งก่อสร้าง วางโครงสร้างที่ยั่งยืน, สร้างฝายในแม่น้ำชีและแม่นำ้มูล หาพื้นที่ที่มีระดับสูงพอ เพื่อให้คุมน้ำ ชะลอน้ำ และใช้น้ำในระบบชลประทานได้ เหมือนเขื่อนพระรามหก เขื่อนเจ้าพระยา

ต้องปรับแต่งพื้นที่แก้มลิง พื้นที่ราบต่ำ โดยเฉพาะในพื้นที่ริมแม่น้ำมูล-ชี สร้างเขื่อนขนาดเล็กสูงไม่เกินระดับน้ำสูงสุดในแม่น้ำ เป็นแก้มลิงที่คอยกักน้ำไว้ใช้ ซึ่งในสมัยหน้ารัฐบาลของพรรคเพื่อไทยจะทำเรื่องเหล่านี้แน่นอน 100 เปอร์เซ็นต์

ส่วนสถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ต้องยอมรับว่าขีดความสามารถการระบายน้ำแม่นำ้เจ้าพระยาตอนล่างมีประสิทธิภาพลดลง การขุดลอกปากแม่น้ำน้อยลง เพราะไม่ค่อยมีเรือใหญ่เข้าแม่น้ำเจ้าพระยา-ท่าเรือคลองเตย หลังเกิดมาบตาพุด คือยังมีการขุดลอกแต่น้อยลง ทำให้การระบายน้ำทำได้ไม่มี แต่การขุดลอกมากเกินก็มีความเสี่ยงเมื่อน้ำขึ้นหรือปัญหาดินทรุด

นายปลอดประสพ กล่าวถึง โครงการสร้างแม่น้ำเจ้าพระยา 2 จากจังหวัดนครสวรรค์ ผันน้ำลงมา 1,000-1,500 ลบ.ม.ต่อวินาที แต่จนปัจจุบันยังไม่ได้ทำ และต้นทุนก็สูงขึ้นทุกปี ส่วนโครงการแม่น้ำเจ้าพระยา 3 บางบาล-บางไทร ที่ทำแล้วแต่ดันมาทำโครงการเล็กก่อน จะทำให้น้ำที่เคยขังในอยุธยาจะหลากเข้าปทุมธานี-นนทบุรี ไวกว่าเดิม เหมือนมาเร่งรัดในสิ่งที่ไม่ควรทำ และเบรคโครงการที่ควรทำ เรียงลำดับผิดพลาด

“…วันนี้ประชาชนไม่ต้องการกำลังใจแล้วนะครับ เขาต้องการรู้ว่าเขาจะรอดไหม ลูกหลานเขาจะอยู่อย่างไร ต้องบอกเขาให้ได้ว่าคุณจะแก้ไขปัญหายังไง จะทำอะไรบ้าง…” นายปลอดประสพ ฝากถึงรัฐบาลกรณีการลงพื้นที่ไปให้กำลังใจผู้ประสบภัย

Related Posts

Send this to a friend