POLITICS

‘ชัชชาติ’ ซัดแก้ปัญหาสิทธิไม่ได้เพราะไม่ใส่ใจ มุ่งสร้างเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่รอสายเกินแก้

วันนี้ (3 พ.ค. 65) นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 8 (อิสระ) ขึ้นกล่าวบนเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”

นายชัชชาติ ขึ้นเวทีโดยเริ่มกล่าวแสดงความยินดีกับผู้จัดงานที่งานนี้เกิดขึ้นได้ในท้ายที่สุด พร้อมกับระบุว่านโยบายด้านสิทธิมนุษยชนนั้น ตรงกับวิสัยทัศน์ของ #ทีมชัชชาติ คือ ทำให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่น่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นคนแก่ คนเปราะบาง หรือเด็ก นายชัชชาติ ยืนยันว่า ต้องการเน้นเรื่องการทำเส้นเลือดฝอยที่เข้าถึงชุมชนและคนตัวเล็ก ซึ่งถือเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชน

สำหรับเสรีภาพการชุมนุมซึ่งเป็นประเด็นจาก Mob Data Thailand นายชัชชาติ บ่งชี้ว่า เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน จะต้องมีการเก็บขยะ น้ำดื่ม ห้องน้ำสาธารณะ แพทย์ฉุกเฉิน กล้องวงจรปิดต้องเปิดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

“หน้าที่เราคือดูแลประชาชน ไม่ว่าความคิดต่างจากเราหรือรัฐบาลอย่างเท่าเทียมกัน” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวถึงการจัดเตรียมพื้นที่สาธารณะให้มีการชุมนุมได้ โดยระบุว่า พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะฯ ตามมาตรา 9 หน่วยงานราชการสามารถกำหนดพื้นที่สาธารณะเพื่อการชุมนุมได้ โดยผู้ชุมนุมไม่ต้องขออนุญาตตำรวจตามหมวด 2 เช่น พื้นที่ลานคนเมือง สวนลุมพินีบางส่วน สนามกีฬาไทย-ญี่ปุ่น หรือสวนสาธารณะอื่น ๆ ได้ จนอาจทำพื้นที่ตลาดหรือมีการแลกเปลี่ยนพูดคุยปราศรัยด้วย

นายชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาวิกฤตโควิด-19 ว่าหลังจากโควิด กรุงเทพฯ ต้องไม่เหมือนเดิม เราเห็นปัญหาเหมือนกันกับกลุ่มเส้นด้าย คือ ไม่มีระบบการจัดการ ไม่ทั่วถึง และไม่ฟังประชาชน โดย กทม. ต้องเน้นเรื่องปฐมภูมิ คือศูนย์สาธารณสุขที่อยู่ใกล้ชิดกับคนให้มีคุณภาพและครอบคลุม ส่งหมอลงไปดูแลที่เตียง ขยายการดูแลสาธารณสุขไปถึงบ้านของผู้ป่วยติดเตียง พร้อมทั้งเพิ่มบุคลากรทำงานสาธารณสุขในพื้นที่เส้นเลือดฝอย

ส่วนปัญหาคนไร้บ้าน นายชัชชาติสังเกตปัญหาได้จากการวิ่งแถวถนนสุขุมวิทในช่วงเวลา 05:00 น. ของทุกวันว่า มีทั้งคนไร้บ้าน คนเร่ร่อน ผู้ป่วยจิตเวช คนขายบริการ ซึ่งเห็นว่าหัวใจการแก้ไขปัญหาคือ “ไร้บ้านแต่ต้องไม่ไร้สิทธิ ไร้โอกาส” กทม. ต้องมีการลงทะเบียนร่วมกับกระทรวงมหาดไทยให้คนเหล่านี้มีสิทธิเข้าถึง พร้อมทั้งมีศูนย์ช่วยดูแลเพื่อพักกลางคืนและทำความสะอาดร่างกาย

นายชัชชาติ ตอบปัญหาความเจริญเข้ามาในเมืองดั้งเดิม (Gentrification) ว่าปัญหาเช่นนี้มีทั่วไปในโลก หัวใจสำคัญคืออย่าปล่อยให้เมืองมันพังแล้วค่อยกังวล ต้องมีการสร้างอัตลักษณ์ของเมืองแต่ต้น เพื่อดูจุดแข็งแต่ละย่าน ไม่ให้คนหนีออกจนนายทุนเข้ามากว้านซื้อที่ดิน ต้องทำให้ชุมชนมีตัวตน เข้มแข็ง มีระบบประชาสังคม ทำให้ประชาพิจารณ์ไม่ให้เป็นแค่พิธีกรรม ตลอดจนกระบวนการผังเมืองและการประเมินสิ่งแวดล้อม (EIA) ต้องเป็นธรรม

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงปัญหาคนจนเมืองถูกไล่รื้อออกไปตลอดเวลา นายชัชชาติ กล่าวว่า จากสถิติจะพบว่ากรุงเทพฯ ชั้นในมีประชากรน้อยลง มีการโยกย้ายออกไปนอกเมืองมากขึ้น หากจะดูแลคนเมือง ต้องเริ่มดูแลตั้งแต่ตอนนี้ไม่ใช่รอจนสายไป โดยอาศัยอำนวยและงบประมาณที่มีอยู่ อย่างชุมชนบ้านบาตรที่มีอัตลักษณ์อยู่แล้ว ให้เขาสามารถอยู่ได้จริง

นายชัชชาติ กล่าวถึงปัญหาคนต่างจังหวัดเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานคร โดยเฉพาะบริเวณริมคลองที่ทำให้เกิดปัญหาน้ำเน่าเสียว่า คนที่มาจากต่างจังหวัดเป็นเครื่องจักรกำลังสำคัญของกรุงเทพฯ ซึ่ง กทม. ต้องร่วมมือกับการเคหะแห่งชาติ และ พอช. เราต้องเป็นผู้ประสานงานที่เข้มแข็ง แนะนำให้คนมีการออมเก็บเงิน สร้างบ้านที่มีคุณภาพและมั่นคงได้

“ที่ผ่านมาเราแก้ปัญหาคนจนเมืองไม่ได้เพราะขาดการเอาใจใส่ปัญหาคนจน สนใจแต่เมกะโปรเจคต์ เราต้องดูว่านี่คือคนที่สำคัญของเมือง ต้องดูเส้นเลือดฝอยให้เข้มแข็งมากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

Related Posts

Send this to a friend