‘ศิธา’ แปลกใจ เขตปทุมวันปัดตกงานแสดงวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯ
วันนี้ (3 พ.ค. 65) น.ต.ศิธา ทิวารี ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯ กทม.) หมายเลข 11 พรรคไทยสร้างไทย ขึ้นกล่าวบนเวทีเปิดแนวคิดผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กับนโยบายด้านสิทธิมนุษยชน หัวข้อ “กรุงเทพฯ เมืองที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
น.ต.ศิธา กล่าวว่า ผมชูนโยบาย “คิดต่างเพื่อคนกรุงเทพฯ” ทำในสิ่งที่ผู้ว่าฯ กทม. ไม่เคยทำ พร้อมตอบคำถามเรื่องพื้นที่แสดงออกการชุมนุมทางการเมืองว่า ผู้ว่าฯ กทม. ต้องไปดูปัญหาที่คับข้องใจของคนที่เข้ามาเรียกร้องใน กทม. โดยต้องดูแล ต้องมีการบังคับใช้กฎหมาย รักษาความเป็นระเบียบร้อย ทำให้มากกว่าการอำนวยความสะดวกคือการช่วยประสานไปยังหน่วยงานคู่ขัดแย้ง หากการชุมนุมทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อคนอื่นต้องมีการเจรจาเพื่อให้เกิดทางออกร่วมกัน
ส่วนเรื่องคนเร่ร่อน น.ต.ศิธา กล่าวว่า มีกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ดูแลเรื่องนี้อยู่แล้ว กทม. ต้องไปช่วยดูแล ไม่ควรเอางบไปจัดสรรซ้ำกับหน่วยงานอื่น แต่ต้องไปเติมเต็ม ช่วยบริหารจัดการ ช่วยคุย คนที่เป็นโรคจิตเวชตามท้องถนนต้องดูแลด้วยกลไก อสส. เทคโนโลยี AI และหมอจิตเวช หากเป็นผู้ป่วยทางจิตต้องได้รับโอกาสพบแพทย์ทางออนไลน์
น.ต.ศิธา ตอบคำถามจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ เรื่องการรุกคืบเข้าชุมชนย่านเก่า (Gentrification) เช่น ชุมชนพระกาฬ ไม่ควรให้เกิดขึ้น พร้อมทั้งต้องกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด โดยเสนอทำกรุงเทพแซนด์บ็อกซ์ ส่วนเรื่องค่าที่พักต้องช่วยควบคุมราคา และดูแลเรื่องค่าใช้จ่ายในการเดินทาง และสุดท้าย เรื่องฝุ่น ต้องแก้ไขด้วยการลดการใช้เครื่องจักรกลและหันมาใช้พลังงานไฟฟ้าแทน
น.ต.ศิธา กล่าวถึงวิกฤติโควิดที่ผ่านมาว่า รัฐไม่มีการบริหารงานที่ดี เราจำเป็นต้องบริหารเสมือนเป็นภาวะสงคราม ที่ต้องบูรณาการทั้งทหาร ตำรวจ และทุกทรัพยากรของรัฐในการแก้ปัญหา
น.ต.ศิธา ย้ำเรื่องปัญหาสิทธิมนุษยชน จากอัตลักษณ์ที่แตกต่างของคน กทม. ต้องดูแล ต้องให้ทุกคนมีคุณค่าความเป็นมนุษย์ อัตลักษณ์ที่ยิ่งมีความทับซ้อนยิ่งต้องดูแล เช่น สะพานลอย กลายเป็นเรื่องความเหลื่อมล้ำกับผู้พิการ กทม. ต้องส่งเสริม Universal Design กระจายงบประมาณพัฒนาสวนสาธารณะให้ทั่วถึง
“นี่คือสิ่งที่ผมพูดไว้ว่า ผมจะทำในสิ่งที่ผู้ว่าไม่เคยทำ”
น.ต.ศิธา ตอบคำถามประเด็นที่เขตปทุมวันไม่ให้จัดเวทีดังกล่าว โดยระบุว่าไม่กี่วันก่อนหน้านี้เพิ่งไปร่วมงานดีเบตอีกงานในบริเวณใกล้เคียงกัน เชื่อว่าต้องมีเงื่อนงำ ความรู้สึกส่วนตัวเชื่อว่าเป็นคำสั่งของผู้มีอำนาจไม่อยากให้มีการจัดเวทีเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนหรือไม่
น.ต.ศิธา มองประเด็นการร่วมมือกับสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ว่า ส.ก. เป็นผู้อนุมัติงบประมาณในสภาฯ ที่ผ่านมาหน่วยงานรัฐทำงานเหมือนกรรไกรที่คมเพียงด้านบน ส.ก. ต้องไปรับฟังเสียงจากประชาชนลับคมกรรไกรให้คมอีกฝั่งหนึ่ง พรรคไทยสร้างไทยมีนโยบายใช้เทคโนโลยี AI ในการฟังเสียงของพี่น้องประชาชนในพื้นที่
“พร้อมเปิดใจรับฟังทุกความคิดเห็น เห็นคนทุกคนเท่าเทียมกัน พร้อมเปลี่ยนมายด์เซ็ต (Mindset) ข้าราชการ กทม. ให้เป็นข้าราชการที่พร้อมรับใช้ประชาชน” น.ต.ศิธา กล่าวทิ้งท้าย