POLITICS

‘อรรถวิชช์’ ยื่น กกต.ค้านแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 ชี้ผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ม.27

‘อรรถวิชช์’ ยื่น กกต.ค้านแบ่งเขตรูปแบบ 6-8 ชี้ผิด พ.ร.ป.เลือกตั้ง ม.27 ขอ กกต. เร่งสรุปเขต พรรคการเมืองเดือดร้อน

วันนี้ (3 มี.ค. 66) ที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ดร.อรรถวิชช์ สุวรรณภักดี รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า ยื่นหนังสือทักท้วงประเด็นรูปแบบแบ่งเขตเลือกตั้งผิดต่อ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า ลำบากใจมากในการทำงานของ กกต. สับสนทั้งการแบ่งเขต และการแบ่งประชากรใหม่ล่าสุดที่ศาลรัฐธรรมนูญตีความไว้เมื่อช่วงเช้าวันนี้ จึงต้องการย้ำ กกต. ว่า รูปแบบที่ 6 รูปแบบที่ 7 และ 8 เป็นการแบ่งโดยผิดกฎหมาย

“หากท่านอ่านกฎหมายเหมือนที่ผมอ่าน การแบ่งเขตที่ถูกต้อง จะต้องมีการออกเป็นมติ กกต. และประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งรูปแบบ 1-5 ทำขั้นตอนเหล่านี้เรียบร้อย แต่รูปแบบ 6 7 และ 8 ที่ออกมาให้ประชาชนรับฟังความคิดเห็น ไม่ได้ลงในราชกิจจานุเบกษา ขัดกับมาตรา 5 พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากวิธีการที่ผิดสำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 6 7 และ 8 แล้ว วิธีการที่ให้นำแขวงแต่ละแขวง แยกไปอยู่ในเขตเลือกตั้งอื่น ก็พิสดารมาก

“พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มาตรา 27 วงเล็บหนึ่งและวงเล็บสอง ระบุให้หลักการไว้ 2 เรื่อง เรื่องที่ 1 คือ ให้เป็นชุมชนเดียวกันมาก่อน เพราะฉะนั้นอะไรที่เป็นเขตเดียวกันมาก่อน ท่านอย่าไปกระจายมัน ท่านรวมได้ เรื่องที่ 2 คือ ให้คำนึงถึงการเป็นเขตเลือกตั้งเดียวกันมาก่อน ซึ่งขณะนี้การเลือกตั้งแบบ ส.ส. เขต 400 คน มันไปเหมือนกับปี 2557 ที่ไม่มีการนำคนต่างด้าวเข้าไปปน ท่านก็นำเกณฑ์ปี 2557 ไปใช้ก็จบแล้ว มันชัดยิ่งกว่าชัด ทุกพรรคเขาก็อ่านกันมาแบบนี้” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวถึงเกณฑ์ ผลต่างประชากรเฉลี่ย 10% ของ ส.ส. 1 คนในจังหวัดนั้น ๆ ว่า เกณฑ์นี้ กกต. กำหนดเอง กฎหมายไม่ได้กำหนด ไว้ ควรนำไปเป็นค่ามาตรฐานว่าในรูปแบบที่ 1-5 รูปแบบใดใกล้เคียง 10% ที่สุด

“เอาแค่ใกล้เคียงก็พอ เพราะตามหลักเกณฑ์ระบุไว้เพียงว่า ‘ควรคำนึงถึง’ ท่านอย่าเดินแบบนี้พวกผมทำงานกันไม่ถูก ผมกราบขอร้อง กกต. เพราะรัฐบาลชุดนี้เหลือเวลาอีกไม่ถึง 20 วัน ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งต้องจบ แต่กลับกลายเป็นว่าทุกพรรคการเมือง รวมถึงชาติพัฒนากล้า ไม่สามารถทำ ไพรมารีโหวตคัดเลือกผู้สมัครได้ ป้ายหาเสียงในกรุงเทพมหานครติดข้ามกันไปข้ามกันมาคนละเขต ท่านไม่เห็นความอึดอัดใจของพวกเราหรือ” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ทุกพรรคการเมืองรวมถึงประชาชนสับสนมาก ว่าหน่วยเลือกตั้งเหมือนเดิมไหม อยู่ตรงไหน เลือกตั้งอย่างไร

“จัดการเลือกตั้งแบบนี้ได้อย่างไร ชีวิตพวกเราอยู่ในมือท่านทั้งหมด ขออย่าทำให้ประชาชนสับสน” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า จากการประกาศใช้รูปแบบที่ 6 7 และ 8 สำหรับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ที่เห็นว่ามีปัญหาทางข้อกฎหมาย พรรคชาติพัฒนากล้าจะดำเนินการอย่างไรต่อ ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า เคยร้องเรียนต่อ กกต. ไปแล้ว ว่ารูปแบบที่ 6 7 และ 8 นั้นผิด อยากให้หยุดขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นส่วนนี้ แต่ปรากฎว่าทาง กกต. ก็ไม่หยุด ซึ่งถ้าเสียงออกมาเป็นรูปแบบ 6 7 และ 8 จริง กระบวนการตามกฎหมายมันก็ต้องไปต่อ

“ท่านทำผิด พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่ระบุชัดว่าให้คำนึงถึงเขตเลือกตั้งเก่า และให้คำนึงถึงความเป็นชุมชนเดียวกัน ซึ่งก็คือเขตเลือกตั้งหรืออำเภอเดียวกัน ยกตัวอย่างเขตจตุจักร ที่มี 5 แขวง ท่านทำลายเขตจตุจักร แยกออกให้เป็น 3 เขตเลือกตั้ง ใครเขาทำกัน ส่วนเกณฑ์ 10% เป็นเพียงมติคณะกรรมการการเลือกตั้งที่มีมาตั้งแต่อดีต แต่ไม่ได้นำมาระเบิดเขตแบบนี้ ประชาชนเลือกตั้งไม่ถูก บ้านอยู่เขตหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าต้องไปเลือกตั้งตรงไหน หน่วยก็เปลี่ยนอีก” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า รูปแบบการแบ่งเขตเลือกตั้งรูปแบบที่ 1-5 ควรเป็นรูปแบบใดมากที่สุด ดร.อรรถวิชช์ กล่าวว่า รูปแบบใดก็ได้ ขึ้นอยู่กับพี่น้องประชาชนว่าชอบแบบไหน ขอแค่ให้ประชาชนไม่สับสน ให้เกิดการเลือกตั้งได้

“ที่สำคัญ ถ้ามันไปเชื่อมโยงกับเขตเก่าที่เคยเป็น ประชาชนก็จะรู้ว่า ส.ส. ในพื้นที่ของเขาคนไหนทำงานหรือไม่ทำงาน คนไม่ทำงาน ไม่ลงพื้นที่เลย เขาจะไม่เลือก พอมาเป็นแบบนี้กลับกลายเป็นว่ามันขาดความผูกพันโดยตรงกับประชาชนในพื้นที่ การละลายเขตเลือกตั้งใหม่ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบของพรรคการเมือง จึงขอให้ดำเนินการด้วยความยุติธรรม” ดร.อรรถวิชช์ กล่าว

ดร.อรรถวิชช์ กล่าวทิ้งท้ายว่า อย่าสร้างความสับสนให้กับพี่น้องประชาชนไปมากกว่านี้ ให้ยึดตามสิ่งที่เคยเป็นแนวยึดถือปฏิบัติ เชื่อว่า กกต. ก็อยากเห็นการเลือกตั้งเป็นไปโดยสุจริต และยุติธรรม ขอให้ตีความกฎหมายให้ชัดเจน เพื่อความยุติธรรมกับทุกฝ่าย

Related Posts

Send this to a friend