POLITICS

‘พลเอกประวิตร’ ผลักดันร่างพ.ร.บ. กิจการอวกาศ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงของประเทศ

วันนี้ (2 ต.ค. 63) เวลา 10.00 น. ณ ห้องประชุม 301 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ครั้งที่ 4/2563 โดยมีนายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเข้าร่วมด้วย 

รองนายกรัฐมนตรี ได้แจ้งที่ประชุมว่า ไทยได้รับการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของเขตเศรษฐกิจทั่วโลก ประจำปี 2563 อยู่ที่ลำดับที่ 39 จาก 63 ประเทศ สูงขึ้นกว่าเดิม 1 ลำดับ จากการประกาศผลของสถาบันการจัดการนานาชาติ (International Institute for Management Development: IMD) สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาด้านดิจิทัลของประเทศไทย ที่พร้อมผลักดันนโยบายและขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นรูปธรรมเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลของประเทศให้ดียิ่งขึ้น 

โดยที่ประชุมได้รับทราบผลการประชุมคณะอนุกรรมการเพื่อจัดทำนโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (Space Situational Awareness and Space Traffic Management) ครั้งที่ 1/2563 และได้พิจารณา (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ พ.ศ. …. เพื่อให้ไทยสามารถก้าวสู่ยุคใหม่ของกิจการอวกาศ หรือ New Space Economy  โดยมีการปรับปรุงแก้ไข 9 ประเด็น ได้แก่

1. เพิ่มการพัฒนากิจการอวกาศเชิงพาณิชย์และความมั่นคงปลอดภัย

2. เพิ่มรายละเอียดการอนุญาต/การให้ใบอนุญาตในการดำเนินกิจการอวกาศและโครงสร้างพื้นฐานอวกาศให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น

3. เพิ่มคำนิยามโครงสร้างพื้นฐานกิจการอวกาศและประเภทของดาวเทียมให้รวมถึงสิ่งที่อยู่ในอวกาศและภาคพื้นดิน

4. เพิ่มลักษณะประเภทอุตสาหกรรมดาวเทียม

5. เพิ่มวิธีการกำกับดูแล แบ่งปันข้อมูล การเรียกดูข้อมูล และสิทธิประโยชน์ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการอวกาศ

6. เพิ่มรายละเอียดการดำเนินการเกี่ยวกับด้านวัตถุอวกาศ ได้แก่การค้นหาและการส่งคืน หรือยึดไว้ให้อยู่ในอำนาจของผู้แทนของรัฐ เพื่อให้สอดคล้องกับหลักสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศ

7. เพิ่มความรู้ด้านการศึกษา เป้าหมาย และแนวทางในการกำหนดนโยบายของกิจการอวกาศ

8. เพิ่มรายละเอียดอำนาจหน้าที่ของกิจกรรมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ ให้มีอำนาจในการออกระเบียบ หลักเกณฑ์ในประเด็นที่มีนัยสำคัญ เพื่อให้เกิดการดำเนินการต่อไปในทางปฏิบัติที่ชัดเจน

9. เพิ่มอำนาจหน้าที่ของสำนักงานกำกับดูแลกิจการอวกาศแห่งชาติ ให้เป็นหน่วยงานที่สามารถให้ทุนสนับสนุน และดำเนินกิจการอวกาศได้ 

นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรีได้เน้นย้ำการดำเนินงานด้านกิจการอวกาศของประเทศ ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันบูรณาการการทำงานโดยคำนึงถึงเป้าหมายที่ได้กำหนดในนโยบายรัฐบาล นโยบายและแผนระดับชาติว่าด้วยการพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ และไม่ให้เกิดผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง สิ่งแวดล้อม ประชาชนผู้ใช้บริการ และเพื่อประโยชน์ของสาธารณะต่อไป

Related Posts

Send this to a friend