POLITICS

‘อัจฉริยะ’ ดำเนินคดีกรณีโฆษณาเกินจริง

พร้อมเตือนผู้บริโภคอย่าหลงเชื่อกลวิธีขายของลงทุนน้อย ได้กำไรเยอะ

วันนี้ (1 ก.ย.65) ที่อาคารรัฐสภา นายจิรวัฒน์ อรัณยกานนท์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) พรรคก้าวไกล พร้อมด้วย นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม แถลงข่าวเหตุบริษัท พรีมายา จำกัด โฆษณาเกินจริง

กรณีเกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคม กรณีเจ้าของแบรนด์สินค้าชื่อ ‘พรีมายา’ ได้มีการโพสต์ภาพ เด็กคนหนึ่งยืนอยู่ข้างรถปอเช่ ซึ่งปรากฏข้อเท็จจริงต่อมาว่า ไม่มีการซื้อขายรถยนต์จริง ทำให้ผู้บริโภคหรือตัวแทนที่จะเข้ามาเป็นสมาชิกในการขายสินค้านี้ มีความคาดหวังว่าจะได้กำไร อย่างที่เป็นในโพสต์ ข้อความระบุว่า ใช้เงินลงทุนเพียงแค่ 6000 บาทในระยะเวลาเพียง 3 เดือนสามารถสร้างกำไรได้ถึง 15 ล้านบาท

ต่อมาเมื่อวันที่ 22 ส.ค. 65 นายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ มีการยื่นหนังสือร้องทุกข์กล่าวโทษให้มีการดำเนินคดีกับบริษัท พรีมามายา จำกัด ต่อกองบัญชาการตำรวจสืบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บ.ช.ส.ท) ให้ดำเนินคดีตามพระบัญญัติคอมพิวเตอร์และความผิดฐานฉ้อโกง

ซึ่งทางอนุกรรมการได้เห็นถึงความสำคัญประกอบกับอำนาจหน้าที่และภารกิจในเรื่องของการมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคโดยเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้บริโภค จึงต้องป้องกันและปราบปราม โดยเฉพาะเรื่องการโฆษณาเกินจริงและการฉ้อโกงประชาชน

นอกจากนี้ ในทางคณะกรรมาธิการ ได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฉ้อโกง กรมสรรพากร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค ได้ร่วมกันตรวจสอบ

ทั้งนี้ในการตรวจสอบพบว่าบริษัท พรีมายา ไม่ได้มีการยื่นขอจดทะเบียนขายตรงตามพระราชบัญญัติขายตรงซึ่งมีโทษและมีความผิดกรณีนี้ได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (ส.ค.บ.) ได้ทำการสืบสวนสอบสวนต่อไป

นายจิรวัฒน์ กล่าวว่า ขณะนี้คดีอยู่ในระหว่างการสืบสวนสอบสวนและออกหมายเรียกผู้ต้องหาอีกหลายรายที่เกี่ยวข้องตามเอกสารที่ นายอัจฉริยะ ยื่นไป ความผิดที่ปรากฏชัด ได้รับการชี้แจงจากกองบัญชาการตำรวจไซเบอร์ คือเรื่องความผิดเกี่ยวกับ พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์และเมื่อมีความผิดปรากฏชัดน่าจะมีการพิจารณาความผิดเป็นฐานฉ้อโกงประชาชนด้วย

ทั้งนี้ คณะกรรมาธิการได้ตั้งข้อสังเกต และขอให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ส.ต.ช.) รวมถึงสำนักงานและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) ทำงานร่วมกัน ในเรื่องการตรวจสอบเส้นทางการเงิน รวมถึงสรรพากรตรวจสอบย้อนหลัง ว่าเส้นทางการเงินนอกเหนือจากบริษัทแม่ รวมถึงตัวแทนการจำหน่ายต่างๆได้มีการยื่นเสียภาษีหรือไม่
หลังสรรพากรตรวจสอบบุคคลที่เป็นตัวแทนการขาย พบว่าไม่ได้มีการยื่นเสียภาษี

นายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ โฆษกคณะกรรมาธิการการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวเสริมว่า รูปแบบของกระบวนการนี้ เป็นรูปแบบที่ใช้เทคนิคหลายอย่างจึงอยากฝากเตือนไปยังสภาองค์กรคุ้มครองผู้บริโภค ให้ช่วยกันรณรงค์ผ่านสื่อช่องทางต่างๆ ให้เตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อกลวิธีการขายที่ลงทุนน้อย แต่ได้กำไรเยอะ ซึ่งไม่เป็นจริงเพราะจะอาจทำให้เราตกเป็นเหยื่อได้

Related Posts

Send this to a friend