INVESTMENT

กรุงไทย เผยผลประกอบการปี 65 กำไรสุทธิ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 56%

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ล่าสุดเผยผลประกอบการเติบโตแข็งแกร่ง กำไรสุทธิปี 2565 เท่ากับ 33,698 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 56 จากปีที่ผ่านมา และกำไรไตรมาส 4 ปี 2565 เพิ่มขึ้นร้อยละ 64 จากช่วงเดียวกันของปี ที่ผ่านมาจากรายได้รวมที่ขยายตัวได้ดี โดยสินเชื่อเติบโตอย่างสมดุล รายได้ดอกเบี้ยเติบโตตามทิศทางอัตราดอกเบี้ย เดินหน้าดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบาง ปรับตัวรับแนวโน้มการเติบโตของเศรษฐกิจ สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัว ของภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

นายผยง เปิดเผยว่า “เศรษฐกิจไทยปี 2565 ฟื้นตัวต่อเนื่อง จากการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวได้ดี กิจกรรมเศรษฐกิจภายในประเทศ ทยอยกลับมาเป็นปกติมากขึ้น ในช่วงครึ่งหลังของปี รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 ช่วยให้ภาคการท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามอัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง จากสงครามรัสเซียและยูเครนกดดันราคาพลังงานให้เพิ่มขึ้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อคุมภาวะเงินเฟ้อ และสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง ทั้งนี้ธนาคารตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน จึงพิจารณาปรับอัตราดอกเบี้ย แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยให้ความสำคัญ กับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ ยังไม่กลับมาปกติ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมกับลูกค้าแต่ละกลุ่ม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาส ในการปรับตัวของลูกค้า เพื่อรองรับทิศทางเศรษฐกิจที่กำลังฟื้นตัว พร้อมดูแลผู้ฝากเงินให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งเสริมการออมเพื่อความมั่นคงทางการเงินในอนาคต”

“สำหรับผลการดำเนินงานปี 2565 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 33,698 ล้านบาทเพิ่มขึ้นจากปีก่อน ร้อยละ 56.1 สาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 8.3 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ โดยสินเชื่อไม่รวมสินเชื่อภาครัฐ เติบโตร้อยละ 4.3 จากสิ้นปี 2564 และอัตราดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้น รายได้ค่าธรรมเนียมสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่นๆ ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio หรืออัตราส่วนค่าใช้จ่ายดําเนินงานต่อรายได้รวม เท่ากับร้อยละ 43.68 ลดลงจากร้อยละ 45.54 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ทั้งนี้ธนาคารและบริษัทย่อย มีการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์อย่างระมัดระวัง และติดตามภาพรวมของเงินให้สินเชื่ออย่างใกล้ชิด โดยมีอัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม (NPLs Ratio-Gross) ร้อยละ 3.26 ลดลงจากสิ้นปี 2564 ที่เท่ากับร้อยละ 3.50 อีกทั้ง พิจารณาอย่างรอบคอบถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน โดยตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ลดลงร้อยละ 25.2 จากช่วงเดียวกันของปี ซึ่งยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7 เทียบกับร้อยละ 168.8 เมื่อสิ้นปี 2564”

ผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2565 เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/2564 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร เท่ากับ 8,109 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 64.0 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวมจากการดำเนินงาน ที่ขยายตัวร้อยละ 15.8 จากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ตามการเติบโตของสินเชื่อที่มุ่งเน้นคุณภาพ ทั้งสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ และสินเชื่อรายย่อย พร้อมรักษาสมดุลของสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง โดยธนาคารมีการบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายโดยองค์รวม ส่งผลให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30 ลดลงจาก ร้อยละ 49.16 ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารและบริษัทย่อย ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิต ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 7,532 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 8.5 โดยยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูง

เมื่อเทียบกับไตรมาสที่ 3/2565 กำไรสุทธิส่วนที่เป็นของธนาคาร ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมาจากการตั้งสำรองผลขาดทุน ด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เพิ่มขึ้นร้อยละ 32.9 ซึ่งเป็นการบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ อย่างระมัดระวังพร้อมกับการพิจารณา ตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ถึงปัจจัยแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจ ภายใต้ภาวะเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอน จากค่าครองชีพ ค่าแรงงาน อัตราดอกเบี้ย ราคาพลังงาน และเงินเฟ้อที่สูงขึ้น กระทบกลุ่มเปราะบางต่อเนื่อง จากสถานการณ์โควิด-19 และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของประเทศมหาอำนาจของโลก ส่งผลให้ NPLs Ratio-Gross เท่ากับร้อยละ 3.26 และยังคงรักษา Coverage ratio ในระดับสูงที่ร้อยละ 179.7 โดยธนาคารมีกำไรจากการดำเนินงาน เพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 มีสาเหตุหลักจากรายได้รวม จากการดำเนินงานที่ขยายตัวร้อยละ 9.7 จากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ และรายได้จากการดำเนินงานอื่น ประกอบกับการบริหารจัดการ ค่าใช้จ่ายในองค์รวม ทำให้ Cost to Income ratio เท่ากับร้อยละ 45.30

วันที่ 31 ธันวาคม 2565 ธนาคาร (งบการเงินเฉพาะธนาคาร) มีเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 16.50 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง และมีเงินกองทุนทั้งสิ้น ร้อยละ 19.68 ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง ซึ่งอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง เมื่อเทียบกับเกณฑ์ของ ธปท. ทั้งนี้ในเดือนเมษายน 2565 ธนาคารได้ออกตราสารด้อยสิทธิ ที่สามารถนับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 2 จำนวน 18,080 ล้านบาทเพื่อเตรียมพร้อมทดแทนตราสารด้อยสิทธิ ที่ไถ่ถอนจำนวน 20,000 ล้านบาทในเดือนพฤศจิกายน 2565 ซึ่งเป็นการไถ่ถอนก่อนวันครบกำหนด เพื่อช่วยรักษาระดับของอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงให้แข็งแกร่ง และรองรับการเติบโตในอนาคต

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2566 Krungthai Compass คาดว่าจะขยายตัวได้ในระดับ 3.4% ตามแนวโน้มการฟื้นตัว ของภาคท่องเที่ยวที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทาย จากภาคการส่งออกที่มีสัญญาณ การชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก ขณะที่ภาวะต้นทุนที่อยู่ในระดับสูงตามราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า และทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น ธนาคารจึงดำเนินธุรกิจด้วยความรอบคอบ โดยให้ความสำคัญกับการดูแล ลูกค้ากลุ่มเปราะบาง สนับสนุนการปรับตัวรองรับ กับทิศทางภาวะเศรษฐกิจ พร้อมเดิมหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการทางการเงิน ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าทุกมิติ ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยให้ดีขึ้นทุกวัน ยึดมั่นแนวทางการดำเนินธุรกิจ อย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล(ESG) โดยนำกรอบเป้าหมาย การพัฒนาอย่างยั่งยืน(SDGs) มาปรับใช้ในกระบวนการดำเนินงานทุกด้าน อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม”

Related Posts

Send this to a friend