HUMANITY

ปิดเทอมนี้ กินข้าวกับอะไร?

สำหรับเด็กบางคน มีคำตอบยาวเป็นหางว่าว และอาจต้องนั่งคิดกันเป็นวันว่าตอบครบไหม แต่สำหรับเด็กกลุ่ม “ยากจนพิเศษ” คำตอบนั้นแสนง่าย เพราะไม่ว่าจะปิดเทอมนานเท่าไหร่ อาหารที่กิน (ถ้ามีกิน) ก็จะซ้ำๆ จนบางครั้งต้องเปลี่ยนคำถามว่า ปิดเทอมนี้ได้กินข้าวกี่มื้อ

นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน ประธานชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร กล่าวว่า จากประสบการณ์จะเห็นว่าภาวะทุพโภชนาการของเด็กจะเกิดขึ้นรุนแรงในช่วงเปิดเทอมใหม่ๆ และจะค่อยๆ ดีขึ้นในช่วงใกล้ปิดเทอม  เพราะเด็กที่อยู่ในถิ่นทุรกันดารส่วนใหญ่ไม่ได้รับอาหารที่เพียงพอระหว่างอยู่ที่บ้านช่วงปิดภาคเรียน แต่จะได้รับอาหารที่ครบถ้วนมากขึ้นเมื่อได้มาโรงเรียนซึ่งจัดอาหารกลางวันให้ โดยเฉพาะโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ภูเขาสูงและถิ่นทุรกันดาร ซึ่งภาวะเช่นนี้จะเกิดขึ้นกับโรงเรียนในลักษณะนี้แทบทั้งนั้น นักเรียนจึงไม่ได้รับอาหารที่ครบ 5 หมู่ บางบ้านภาพที่เห็นคือเขากินข้าวกับเกลือด้วยซ้ำ

นายปกรณ์ ศศิวัจน์ไพสิฐ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านสว้า จ.น่าน ประธานชมรมนักจัดการศึกษาบนพื้นที่สูงและถิ่นทุรกันดาร

ในโอกาสครบรอบ 2 ปี กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ทำงานร่วมกับหน่วยงานต่างๆ อาทิ กระทรวงศึกษาธิการ  กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงมหาดไทย สำนักงบประมาณ  และการสนับสนุนจากคุณครูสังกัด สพฐ. ตชด. และ อปท. กว่า 400,000 คน ทั่วประเทศ อย่างต่อเนื่องเพื่อเข้าถึงข้อมูล และรับรู้ความต้องการที่แท้จริงของกลุ่มเด็กยากจนพิเศษ และกลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือ ได้เปิดโครงการรณรงค์ใหม่ “สู้วิกฤตให้น้องอิ่ม คนละมือ เพื่อมื้อน้อง” เพื่อช่วยเหลือเด็กนักเรียนยากจนพิเศษที่ประสบปัญหาขาดแคลนอาหารจากการเลื่อนเปิดเทอม เพราะการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) กล่าวว่าตลอด 2 ปีที่ผ่านมา กสศ. ได้เริ่มช่วยเหลือ สนับสนุน และส่งเสริมพัฒนากลุ่มเป้าหมายเด็กเยาวชนทั้งในและนอกระบบการศึกษา รวมถึงครู ผู้พิการ และประชาชนผู้ขาดแคลนทุนทรัพย์และด้อยโอกาสจำนวนรวมมากกว่า 1,147,754 คน ใน 27,731 โรงเรียนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย และได้จัดสรรเงินช่วยเหลือเร่งด่วนแก้ปัญหาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19

ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ประธานคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)

“เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ ครม. มีมติเห็นชอบคืนงบประมาณให้ กสศ. 200 ล้านบาท นำไปรวมกับงบฉุกเฉินเดิมอีก 300 ล้านบาท รวมเป็น 500 ล้านบาท เพื่อจัดสรรช่วยเหลือเป็นเงินอุดหนุนค่าอาหารเพิ่มเติมให้กับนักเรียนยากจนพิเศษใน 3 สังกัด (สพฐ. ตชด. และ อปท) ที่ กสศ.ดูแลทั้งหมด  ตั้งแต่ชั้นประถม 1 – ม. 3 ทั่วประเทศ และระดับอนุบาล 10 จังหวัด จำนวน 753,997 คน  โดยช่วยเหลือเด็กคนละ 600 บาท สำหรับเป็นค่าอาหารเบื้องต้น 30 วัน ปัจจุบัน กสศ.ได้ทยอยโอนเงินมากกว่า 300 ล้านบาท สำหรับนักเรียน ป.1-ป.5 ไปถึงบัญชีโรงเรียนทั้งสิ้น 25,408 โรงเรียนแล้ว คาดว่าจะโอนส่วนที่เหลือได้ครบ 500 ล้านบาทภายในสัปดาห์นี้ “ ดร.ประสาร กล่าว

นายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.)

ด้านนายสนิท แย้มเกษร รองเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่าง สพฐ.และกสศ. ตลอด 2 ปีที่ผ่านมา ถือว่าเป็นนวัตกรรมของการให้โอกาสทางการศึกษาที่ไม่ได้มุ่งเน้นการสงเคราะห์ด้วยเงิน แต่คือการร่วมกันปฏิรูปวิธีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ด้วยเงื่อนไขที่ว่างบประมาณจะต้องไปช่วยให้เด็กๆมาโรงเรียนไม่หลุดออกนอกระบบการศึกษา ทำงานบนฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ไม่ใช่แค่ตัวเลขแต่คือชีวิตของนักเรียนยากจนหลายล้านคน  ทำให้เราสามารถติดตามและมองเห็นปัญหา และสามารถบรรเทาความเดือดร้อนของเด็กๆได้ทันท่วงที

อาหารของน้อง ป.4 และ ป.5 อาศัยอยู่กับยาย อยู่ที่ ต.รือเสาะออก อ.รือเสาะ จ.นราธิวาส เป็นน้ำบูดู กับปลาที่มีคนเอามาให้ในบางวัน

ผู้สนใจสามารถร่วมบริจาคผ่านบัญชี ธนาคารกรุงไทย เลขที่ 172-0-30021-6 ชื่อบัญชี “กสศ.-มาตรา 6(6) – เงินบริจาค” หรือทางเว็บไซต์ www.eef.or.th/donate-covid หรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ 02-079-5475

Related Posts

Send this to a friend