HUMANITY

อย่าปล่อยให้การใช้ความรุนแรง เป็นเรื่องธรรมดาในสังคม 25 พฤศจิกายน วันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล

ความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงไม่ใช่เรื่องที่ควรมองข้าม หรือปล่อยผ่าน สถิติที่น่ากลัวเกี่ยวกับการกระทำรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงมีมากมาย อาทิ

  • 1 ใน 3 ของผู้หญิงและเด็กหญิงทั่วโลก ถูกกระทำรุนแรงทั้งทางร่างกาย และทางเพศ
  • 50% ของผู้หญิงที่ถูกฆาตกรรมทั่วโลก ถูกกระทำโดยครอบครัว หรือคนใกล้ตัว ในขณะที่เพียง 5% ของผู้ชายที่จะถูกกระทำเช่นนั้น (ข้อมูลปี 2560)
  • 71% ของเหยื่อค้ามนุษย์คือผู้หญิง และเด็กหญิง โดย 75% จะถูกนำไปหาประโยชน์ทางเพศ
  • เด็กหญิงเกือบ 750 ล้านคนทั่วโลกถูกให้แต่งงานก่อนอายุ 18 ปี
  • ความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงเป็นสาเหตุการตายของหญิงในวัยเจริญพันธุ์ในระดับใกล้เคียงกับมะเร็ง และเป็นสาเหตุของการเจ็บ ป่วยมากกว่าอุบัติเหตุ และโรคมาลาเรียรวมกันเสียอีก

การข่มขืน เป็นความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงที่เกิดขึ้นทั่วโลก โดยไม่สามารถระบุจำนวนได้ เพราะเหยื่อส่วนหนึ่งเลือกที่จะเงียบ เนื่องจากกังวลเกี่ยวกับสังคมที่พวกเขาอยู่ และตราบาปที่จะติดตัวผู้รอดชีวิตเหล่านี้ตลอดไป ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีรากเหง้ามาจากบรรทัดฐานทางสังคม ค่านิยม ทัศนคติ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมบางประการในบางสังคมที่เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมดาที่เกิดขึ้นได้ 

 

ที่ร้ายที่สุดคือในหลายประเทศการข่มขืน และการคุกคามหรือความรุนแรงทางเพศ ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการควบคุมพวกเขาเหล่านั้น ตัวอย่างเช่น ในซีเรีย ความรุนแรงทางเพศถูกใช้เพื่อรีดข้อมูลจากสตรีเหล่านั้น หรือบีบให้คนในครอบครัวยอมจำนน

องค์การสหประชาชาติ ได้มีมติให้วันที่ 25 พฤศจิกายนของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อสตรีสากล (International Day for the Elimination of Violence against Women) นับตั้งแต่ปี 2542 เป็นต้นมา เพื่อให้ความสำคัญกับประเด็นความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิง โดยเชื่อว่าความรุนแรงไม่ใช่สิ่งต้านทานไม่ได้ เราสามารถเลือกที่จะหยุด หรือป้องกันมันได้ และได้เริ่มกิจกรรมรณรงค์เพื่อป้องกันความรุนแรงต่อสตรี และได้เกิดเป็นแคมเปญ 16 Days of Activism หรือ 16 วันทำจริง ของ UNiTE ที่จะใช้เวลา 16  วัน ระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน – 10 ธันวาคม (ซึ่งเป็นวันสิทธิมนุษยชน) เพื่อร่วมกันแสดงออก และลงมือทำเพื่อหยุดยั้งความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงทั่วโลก โดยมีสีส้มเป็นสัญลักษณ์ในการรณรงค์

หลักการของ UNiTE ในการรณรงค์นี้ จะเน้นที่การ

ให้เกียรติ และให้ความสำคัญกับความเคลื่อนไหวของสตรี และความเป็นผู้นำของสตรีในการรรณรงค์ ป้องกัน และยุติความรุนแรงต่อสตรี และเด็กหญิงในเจเนอเรชั่นนี้

ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ตามแนวทางการรณรงค์ขององค์การเพื่อสิทธิมนุษยชน

ผู้รอดชีวิตสำคัญที่สุด โดยให้ความเคารพสิทธิ และเน้นที่แนวทางในการระวังและไม่สร้างความเสียหายในการเล่าเรื่องของผู้เสียหาย ซึ่งต้องอยู่ภายใต้การอนุญาต และภายใต้เงื่อนไขที่พวกเขายินยอมเท่านั้น แม้แต่ในกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ

ร่วมมือร่วมใจทุกภาคส่วน เพื่อยุติปัญหานี้ให้ได้

สำหรับในประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อปี 2542 ให้เดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็นเดือนรณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดตั้ง “ศูนย์พึ่งได้” (One Stop Crisis Center : OSCC) ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือเด็กและสตรีในภาวะวิกฤติจากความรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 มีทีมสหวิชาชีพ ทั้งภายในและภายนอกโรงพยาบาลให้ความช่วยเหลือผู้ถูกกระทำได้ทันที และครบวงจร ตั้งแต่ รับแจ้งเหตุ คัดกรอง ตรวจวินิจฉัย รักษาพยาบาล ส่งเสริมป้องกันโรค ดูแลด้านความปลอดภัย ประเมินด้านจิตใจเพื่อช่วยเหลือในภาวะวิกฤติ ประสานและให้คำแนะนำด้านกฎหมาย ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยเหลือด้านสังคมสงเคราะห์ ให้คำปรึกษา ฟื้นฟูเยียวยาสภาพจิตใจ ติดตาม และประเมินผล ซึ่งปัจจุบันมีทั้งสิ้นกว่า 1 หมื่นแห่งทั่วประเทศ

จากข้อมูลสถิติจากผู้มาขอรับบริการจากศูนย์พึ่งได้ กระทรวงสาธารณสุขในปี 2561 และรายงานสถานการณ์สตรีไทย กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า ประเทศไทย มีผู้หญิงถูกกระทำรุนแรงทางเพศ 12 คน ต่อวัน หรือ 4,563 คนต่อปี โดยร้อยละ 57 เกิดจากบุคคลใกล้ชิด โดยข้อมูลตั้งแต่ปี 2547- 2561 พบมีเด็ก และสตรีที่ถูกกระทำความรุนแรงมารับบริการทั้งสิ้น 247,480 ราย เป็นเด็ก 121,860 ราย และสตรี 119,331 ราย โดยการกระทำรุนแรงในเด็กมีสาเหตุมาจากการปล่อยปละละเลยของครอบครัว ขาดการดูแลอย่างเหมาะสมจนเป็นสาเหตุให้เด็กถูกกระทำรุนแรงทางเพศมากที่สุด ส่วนใหญ่จะถูกกระทำโดยคนใกล้ชิด และส่วนในสตรีมีสาเหตุมาจากการหึงหวงทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกายกันของคู่สมรส พร้อมกันนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ก็ได้รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อเด็ก สตรี และบุคคลในครอบครัวภายใต้แนวคิด Safety Home…Safety Society “บ้านปลอดภัย.. สังคมไทยไร้ความรุนแรง” 

ประเด็นสำคัญจึงไม่ได้อยู่เพียงแค่การเพิ่มโทษ หรือการบังคับใช้กฏหมาย แต่ถึงเวลาแล้วที่สังคมควรจะได้ตระหนักรู้ถึงภัยจากความรุนแรงต่อเด็ก และสตรี และปรับเปลี่ยนทัศนคติ ให้เคารพและให้เกียรติต่อผู้อื่น ไม่มองใครเป็นเพียงวัตถุทางเพศ หรือด้อยค่ากว่าตน หยุดความคิดที่ว่าผิดที่ตัวเหยื่อเอง รวมไปถึงไม่นิ่งดูดายหากพบเห็นผู้ประสบปัญหาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เพื่อสร้างสังคมที่สะอาด ปลอดภัยกับทุกคนในสังคมร่วมกัน

อ้างอิง
กรมสุขภาพจิต, กรมควบคุมโรค , WHO, UN

Related Posts

Send this to a friend