HUMANITY

54 ปี มูลนิธิรามาธิบดีฯ สานต่อแนวคิด “ความสุขจากการให้…ไม่สิ้นสุด”

เร่งระดมทุนในระยะ 8 ปีต่อจากนี้ เน้น 2 โครงการสำคัญ โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี และโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้

วันนี้ (31 ม.ค. 66) พรรณสิรี คุณากรไพบูลย์ศิริ ผู้จัดการมูลนิธิรามาธิบดีฯ เผยข้อมูลสรุปผลการทำงานในปี 2565 และทิศทางต่อไปของปี 2566 ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ เพื่อสานต่อแนวคิดความสุขจากการให้…ไม่สิ้นสุด” โดยเฉพาะ 2 โครงการสำคัญ ซึ่งมีความจำเป็นต้องเร่งระดมทุน ในระยะเวลา 8 ปีต่อจากนี้ อาทิ โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี และโครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ เนื่องจากทั้ง 2 โครงการยังขาดงบประมาณอีกมากในการก่อสร้าง

ส่วนหนึ่งเพื่อให้ รพ.รามาธิบดี มีโรงพยาบาลหลักแห่งใหม่ เพื่อรองรับผู้ป่วยทั่วไปราว 2 ล้านคน ให้ได้รับการรักษาที่ดีและมีประสิทธิภาพ และเพื่อลดความแออัดในรพ.รามาธิบดี ผ่านการสนับสนุนของมูลนิธิรามาธิบดีฯ พร้อมกันนี้ได้เผยเทรนด์ ของการบริจาคเงินของคนไทย โดยเฉพาะคนกลุ่มเจน Z หรือกลุ่มคนอายุ 29-40 ปี ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับบริจาคเงิน เพื่อทำบุญผ่านทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ส่วนหนึ่งเพราะตระหนักถึง ความเจ็บป่วยเป็นเรื่องใกล้ตัว

พรรณสิรี กล่าวว่า “ในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯจะมีอายุครบ 54 ปี ตลอดการดำเนินงานเรามุ่งมั่นทำงานในฐานะองค์กรการกุศล ที่มีภารกิจในการระดมทุนเพื่อพันธกิจของคณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โดยจะเห็นได้จากความคืบหน้าของโครงการต่างๆ ทั้งโครงการระยะสั้นและระยะยาวที่มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ระดมทุน ซึ่งปัจจุบันมูลนิธิรามาธิบดีฯ มีโครงการระดมทุนหลายโครงการด้วยกัน เช่น 1.โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี 2.โครงการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ เพื่อสถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์3.โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ 4.โครงการทุนการศึกษารามาธิบดี 5.โครงการรามาธิบดีเพื่อโรงพยาบาลชุมชน 6.โครงการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด

โดยในปี พ.ศ. 2566 นี้ มูลนิธิรามาธิบดีฯมีโครงการหลัก ที่จะต้องเร่งระดมทุนใน 2 โครงการดังนี้

1.โครงการก่อสร้างอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดี และย่านนวัตกรรมโยธี

โครงการใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อกลางเดือนธันวาคม พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา โดยเป็นอาคารโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งใหม่ ที่จะทำหน้าที่ทดแทนอาคารเดิม ผู้ป่วยที่มาใช้บริการสามารถใช้สิทธิขั้นพื้นฐานได้อย่างเต็มศักยภาพเทียบเท่าอาคารเดิม มุ่งเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา และความสะดวกสบายให้แก่ผู้ใช้บริการ ให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ ที่มีคุณภาพมากขึ้น โดยเฉพาะโรคที่มีความซับซ้อน ซึ่งถือเป็นความเชี่ยวชาญของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นต้นแบบทางการรักษาให้กับโรงพยาบาลอื่นๆ ต่อไป

โครงการนี้จะเป็นอาคารสูง 25 ชั้น และมีชั้นใต้ดิน 2 ชั้น ตั้งอยู่บนพื้นที่ส่วนหนึ่งของด้านหน้าองค์การเภสัชกรรม มีขนาด 15 ไร่ 2 งาน 24 ตารางวา และมีพื้นที่ใช้สอยกว่า 278,000 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าพื้นที่ใช้สอยของอาคารสมเด็จพระเทพรัตน์เกือบ 3 เท่า โดยคาดการณ์ว่าสามารถให้บริการผู้ป่วยนอกได้ถึง 2.5 ล้านครั้งต่อปี และให้บริการผู้ป่วยในได้ถึง 55,000 คนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเปิดให้บริการภายในปี พ.ศ 2571 (อีก 5 ปีข้างหน้า) และแม้จะได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐบางส่วน แต่โครงการยังคงขาดงบประมาณ ด้านการก่อสร้างอาคารประมาณ 3,000 ล้านบาท และการจัดซื้ออุปกรณ์การแพทย์ทันสมัย ที่มีมูลค่าสูงประมาณ 6,000 ล้านบาท ดังนั้นมูลนิธิรามาธิดีฯ จำเป็นต้องให้การสนับสนุนโครงการก่อสร้างนี้ อยู่ที่ประมาณ 9,000 ล้านบาท เนื่องจากเครื่องมือแพทย์บางชนิด มีราคาสูงถึงชิ้นละ 200 ล้านบาท ซึ่งนับเป็นการลงทุนช่วยชีวิตผู้ป่วยที่คุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ ทำให้ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว ที่สำคัญช่วยลดระยะเวลาในการผ่าตัด 9 โมง ในกลุ่มโรคแปลก หรือโรครักษายาก”

2.โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้

เป็นโครงการเก่าแก่ที่เกิดขึ้นมาพร้อมๆ กับการก่อตั้งมูลนิธิรามาธิบดีฯ โดยก่อตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยที่เข้ามารักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี แต่ไม่สามารถรับภาระค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาลได้ ซึ่งครอบคลุมผู้ป่วยยากไร้ในทุกประเภท ได้แก่ ผู้ป่วยจากสถานสงเคราะห์ ผู้ป่วยจิตเวช ภิกษุ แม่ชี ผู้ป่วยเร่ร่อน ผู้ป่วยจากภัยพิบัติ ผู้ป่วยต่างด้าว รวมถึงผู้ป่วยระดับกลางที่ใช้สิทธิประกันตน หรือใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้า เนื่องจากมีข้อจำกัดในการใช้สิทธิหลายกรณี เช่น สิทธิไม่ครอบคลุมบางโรค ยาหรืออุปกรณ์การแพทย์บางรายการ ไม่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติที่ผู้ป่วยต้องชำระเพิ่มเติมเอง

นอกจากนี้ยังช่วยเหลือครอบคลุม ไปดูแลปัญหาด้านจิตใจ ครอบครัว และช่วยค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอื่นๆ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เนื่องจากรามาธิบดี มีความเชี่ยวชาญ และเป็นความหวังของผู้ป่วยทางด้านโรคซับซ้อน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรคที่ต้องใช้ค่ารักษาสูงมาก และใช้ระยะเวลาการรักษาเป็นเวลานาน ดังนั้น จึงทำให้จำนวนผู้ป่วยที่ต้องการการสนับสนุนเรื่องเงินสำหรับค่ารักษาพยาบาลนั้น มีจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉลี่ยในแต่ละปีมูลนิธิได้ใช้งบประมาณการช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้ เป็นจำนวนเงินกว่า 100 ล้านบาท

3.แคมเปญ “ความสุขจากการให้…ไม่สิ้นสุด”

แคมเปญที่ต้องการสะท้อนให้เห็นถึงผลลัพธ์แห่ง “การให้” จากน้ำใจของคนไทยผ่านการรวบรวมเสียงแทนคำขอบคุณ ของเหล่าผู้ป่วยภายใต้โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้ ที่ได้รับการช่วยเหลือด้านค่ารักษาพยาบาลจากน้ำใจของคนไทย และเพื่อตอกย้ำว่า “การให้” จาก “ผู้บริจาค” ที่ส่งต่อความสุขไปยังผู้รับหรือ “ผู้ป่วย”ยังทำให้เกิดความสุขอีกหลากหลายรูปแบบ เช่น ความสุขของผู้บริจาคที่ได้เห็นผู้ป่วยหายดีได้กลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว หรือการมอบทุนทรัพย์ให้กับนักศึกษาผ่านโครงการ “ทุนการศึกษารามาธิบดี” เพื่อมุ่งสร้างบุคลากรทางการแพทย์ ให้นำความรู้มาช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในสังคมไทย

ส่วนเทรนด์การทำกิจกรรมการกุศล ของคนยุคใหม่ เช่น การบริจาคเงินแบบ Online Donation ผลจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้การทำบุญออนไลน์ ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างก้าวกระโดด เช่นเดียวกับภาคส่วนอื่นๆของสังคม ทางมูลนิธิรามาธิบดีฯ เองได้ทำการปรับปรุงการให้บริการด้วยเทคโนโลยีทันสมัยตลอดมา บนพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นด้านความปลอดภัยต่อการทำธุรกรรมทางการเงิน เพื่อให้ผู้บริจาคสะดวกสบายที่สุด รวมถึงช่องทางการสนับสนุนของที่ระลึกการกุศลทางออนไลน์อีกด้วย ซึ่งมูลนิธิรามาธิบดีเองก็มี ช่องทางการรับบริจาคออนไลน์ที่จัดทำมามากกว่า 10 ปี

“ปัจจุบันคนทำบุญมากขึ้น แต่กลุ่มคนที่บริจาค ก็มักจะมีความคาดหวังมากขึ้นเช่นกัน มูลนิธิฯจำเป็นต้องปรับตัว ตามความคาดหวังของผู้บริจาค เพราะเราเข้าใจเรื่องราวว่า การที่เขาบริจาคเงินเข้ามาแล้ว ไม่ใช่ว่าเรามองว่าได้เงินแล้วไม่มีการตอบกลับ แต่เรามองว่าผู้บริจาคให้ด้วยความตั้งใจ เขาทำดี และเราก็ต้องขอบคุณเขา และมอบความรู้สึกดีๆกลับไป อย่าให้เขาหงุดหงิด ที่ผ่านมามีน้องๆที่วาดรูปให้พี่ๆที่ช่วยบริจาคเงิน ให้กับโครงการช่วยเหลือต่างๆ ซึ่งก็เป็นการขอบคุณเล็กๆน้อยๆจากเด็กๆ ที่เรียกกันว่าสุขสลิปค่ะ”

ทั้งนี้กลุ่มผู้บริจาคในปีที่ผ่านมา รวมถึงภาพรวมในปี 2566 นี้ สัดส่วนกลุ่มผู้บริจาคบุคคลธรรมดากว่า 40% ของมูลนิธิรามาธิบดีฯ มาจากผู้บริจาคกลุ่ม Gen X ที่มีช่วงอายุตั้งแต่ 45 ปีขึ้นไป โดยมีสัดส่วนของผู้บริจาคที่อยู่ในช่วงอายุ 45-60 ปี และ 60 ปีขึ้นไปใกล้เคียงกัน ซึ่งเป็นกลุ่มผู้บริจาคที่มียอดบริจาคต่อรายสูงที่สุด เมื่อเทียบกับผู้บริจาคบุคคลธรรมดาในช่วงอายุอื่นๆ แต่จากช่วงวิกฤตโควิด-19 ที่ผ่านมาระหว่างปี พ.ศ. 2563-2564 มูลนิธิฯ มียอดบริจาคจากกลุ่ม Gen Z (9-24 ปี) สูงขึ้น 2 เท่าจากช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19 จากการระดมทุนเพื่อโครงการเร่งด่วน แต่ในปีพ.ศ. 2565 ยอดบริจาคจากผู้บริจาคกลุ่มนี้ลดลงเล็กน้อย แต่ยังคงมียอดบริจาคสูงกว่าช่วงก่อนวิกฤตโควิด-19

“สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือคนเจน Gen Z ที่อายุประมาณ 29 ปีไปจนถึง 40 ปี เป็นกลุ่มที่นิยมการบริจาคเงินผ่านออนไลน์มากขึ้น เนื่องจากคนกลุ่มนี้ตระหนัก ถึงความเจ็บป่วยว่าเป็นเรื่องใกล้ตัว ประกอบกับช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมาทำให้มองเห็นความความเจ็บป่วย สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ส่วนเหตุผลเรื่องของยอดบริจาคเงินที่น้อยลง เมื่อเทียบการบริจาคช่วงก่อนโควิด-19 ระบาดนั้น เป็นผลมาจากคนกลุ่มอายุนี้ บริจาคเงินในจำนวนที่ไม่สูงมาก แต่ช่วงอายุของคนที่ทำบุญ ด้วยการบริจาคออนไลน์นั้น มีอายุที่น้อยลง จากเหตุผลข้างต้นที่กล่าวไปข้างต้น ซึ่งต่อจากนี้ทางมูลนิธิฯคาดว่า จะพัฒนารูปแบบเพื่อให้คนกลุ่มนี้ มีส่วนในการร่วมแบ่งปันผ่านการบริจาคมากขึ้น ทั้งนี้เราไม่ได้คาดหวังยอดการบริจาคจำนวนมาก แต่ต้องการผลักดันรูปแบบของการทำบุญให้ง่ายยิ่งขึ้น เช่น การประชาสัมพันธ์การบริจาค ผ่านทางแอพพิเคชั่น TikTok เป็นต้น รวมถึงช่องทางอื่นๆด้วย ที่สำคัญสัดส่วนของคนกลุ่มนี้ ระหว่างการบริจาคเงินผ่านทางออนไลน์ และการช้อปปิ้งสินค้าที่ระลึก คิดเป็นในอัตราส่วนที่เท่ากัน เพราะสินค้าการกุศลบางชิ้น มาจากการที่คนกลุ่มนี้เป็นแฟนคลับ ของศิลปินที่มาร่วมการกุศลกับเราค่ะ”

Related Posts

Send this to a friend