HUMANITY

มูลนิธิรามาธิบดีฯ เร่งระดมทุนสนับสนุนผู้ป่วยกลุ่มโรคซับซ้อน ขาดแคลนทุนทรัพย์

มูลนิธิรามาธิบดีฯ สืบสานพันธกิจแห่ง “การให้” ตลอด 54 ปีที่ผ่านมา ด้วยบทบาทของการเป็นเสมือนที่พึ่งให้กับคนไทย โดยมุ่งมั่นที่จะมอบโอกาส ในการเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี และมีประสิทธิภาพให้กับผู้ป่วย ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ภายใต้ “โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้” เพื่อระดมเงินทุนสนับสนุนงบประมาณท่อค้ำหลอดลม ให้แก่ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ที่ไม่สามารถเบิกจ่าย ได้ตามสิทธิการรักษา จำนวน 1,000,000 บาท และสนับสนุนงบประมาณ ในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคแพ้ภูมิตัวเอง จำนวน 2,000,000 บาท เพื่อต่อชีวิตให้กับผู้ป่วย ที่ยังรอคอยความช่วยเหลือ และส่งเสริมคุณภาพชีวิต และสุขภาวะที่ดีของคนไทย

ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมาประเทศไทย ให้การสนับสนุนประชาชนในการเข้าถึงบริการทางสุขภาพด้วยระบบสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) เพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยสามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้มากขึ้น แต่ไม่อาจสรุปได้ว่าคนไทยเข้าถึง การรักษาพยาบาลได้อย่างทั่วถึง และเท่าเทียม เพราะยังคงมีกลุ่มคนบางกลุ่ม ที่มีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วยยากไร้ ทั้งในแง่ของการเข้าถึงและค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล และแม้ว่าคนไทยจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้มากขึ้น แต่ในบางสถานบริการสุขภาพ ก็ยังคงมีศักยภาพไม่เพียงพอต่อการรักษาที่ครอบคลุม โดยเฉพาะการรักษาในกลุ่มโรคซับซ้อน

ศ.นพ.วิบูลย์ บุญสร้างสุข ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า “ปัจจุบันการพัฒนาเทคโนโลยี ทางการแพทย์ที่ทันสมัยทำให้ แวดวงการแพทย์สามารถก้าวข้ามข้อจำกัดในการรักษา และช่วยยืดระยะเวลาในการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น สำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งปอดในระยะที่ลุกลาม เข้ามาในอวัยวะสำคัญ เช่น บริเวณท่อหลอดลมจนทำให้เส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลมมีขนาดแคบลง ส่งผลให้การหายใจเป็นไปได้ อย่างยากลำบากและมีอาการเหนื่อยหอบ ผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลม (airway stent) เพื่อขยายเส้นผ่านศูนย์กลางของหลอดลม ให้มีขนาดใหญ่เพียงพอสำหรับการหายใจ ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกมากขึ้น หลุดพ้นความทรมานจากอาการเหนื่อยหอบ และมีโอกาสดำเนินการรักษาโรคมะเร็งต่อไป”

“นอกจากนี้ท่อค้ำหลอดลม ยังช่วยป้องกันไม่ให้มะเร็งลุกลาม ไปในบริเวณของหลอดลมได้อีกด้วย ในการใส่ท่อค้ำหลอดลม จะพิจารณาจากบริเวณการลุกลามของมะเร็ง ซึ่งมี 2 รูปแบบ ได้แก่ ท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตรง และท่อค้ำหลอดลมรูปแบบตัว Y ซึ่งราคาของท่อค้ำหลอดลมอยู่ที่ประมาณ 20,000-45,000 บาทต่อชิ้น ขึ้นอยู่กับรูปแบบและความยาว โดยท่อค้ำหลอดลม อยู่นอกเหนือบัญชีการเบิกจ่าย กับสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าหรือบัตรทอง ทั้งผู้ป่วยของโรงพยาบาลรามาฯ เอง หรือผู้ป่วยที่ถูกส่งต่อมารับการรักษา ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ไม่สามารถเบิกค่าท่อค้ำหลอดลมได้ ส่งผลให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยลดลง”

“แม้การใส่ท่อค้ำหลอดลมจะมีประโยชน์ เพื่อลดอาการเหนื่อยจากหลอดลมตีบ เนื่องจากมะเร็งที่ลุกลาม และยืดอายุของผู้ป่วยได้ แต่ในแง่ของการเข้าถึงของผู้ป่วย ถือว่ายังคงมีอย่างจำกัด ด้วยค่าใช้จ่ายที่สูง อีกทั้งสถานบริการที่มีศักยภาพ ในการใส่ท่อค้ำหลอดลมมักจะเป็นโรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ เหมือนกับโรงพยาบาลรามาธิบดีแห่งนี้ สำหรับเคสตัวอย่างเป็นเคส ที่ถูกส่งต่อการรักษามาจากจังหวัดราชบุรี คือผู้ป่วยโรคมะเร็งหลอดอาหาร ที่ลุกลามไปในบริเวณผนังหลอดลม ไม่สามารถหายใจได้ แม้จะได้รับการใส่ท่อช่วยหายใจแล้ว แพทย์จึงใส่ท่อค้ำหลอดลมร่วมกับการเจาะคอ จึงทำให้ผู้ป่วยสามารถหายใจได้สะดวกยิ่งขึ้น และสามารถส่งตัวกลับไปรักษาโรคมะเร็งต่อที่จังหวัดราชบุรีได้”

ด้าน อ.นพ.ธัช อธิวิทวัส (สาขาวิชามะเร็งวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์) แพทย์ผู้ให้การรักษาผู้ป่วยมะเร็งต่อเนื่องหลังจากการถูกวินิจฉัย ว่าเป็นโรคมะเร็งปอด และมะเร็งหลอดอาหาร เผยว่า “ในอดีตโรคมะเร็งที่พบได้มากที่สุดเป็นอันดับที่ 1 ในกลุ่มชายไทย คือ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี แต่ในปัจจุบันโรคมะเร็งปอด ถือเป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในกลุ่มชายไทย และเริ่มพบมากขึ้นเรื่อยๆ ในเพศหญิง ในปัจจุบันการรักษามะเร็งปอดพัฒนาไปมาก ทั้งยาเคมีบำบัด ยามุ่งเป้า และยากระตุ้นภูมิคุ้มกัน หากร่างกายของผู้ป่วยตอบสนอง ต่อยารักษาอย่างดีและติดตาม การรักษาอย่างต่อเนื่อง จะช่วยยืดระยะเวลาการใช้ชีวิตของผู้ป่วยได้ถึง 2-3 ปี”

“แต่การรักษามะเร็งปอดในกลุ่มผู้ป่วย ระยะลุกลามจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากผู้ป่วยไม่ได้รับการใส่ท่อค้ำหลอดลม เพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยก่อน เพราะช่วงที่ผู้ป่วยไม่สามารถหายใจได้ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตลงภายในไม่กี่นาที ในปี 2565 ที่ผ่านมา มูลนิธิรามาธิบดีฯ ได้ให้การช่วยเหลือผู้ป่วย ที่จำเป็นต้องใส่ท่อค้ำหลอดลมแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์กว่า 10 ราย เชื่อว่ามีผู้ป่วยอีกจำนวนมาก ที่ต้องการเข้ารับการรักษาในการใส่ท่อค้ำหลอดลม เพื่อบรรเทาอาการทรมานจากเหนื่อยหอบ แต่ไม่สามารถเข้าถึงบริการนี้ได้”

ผศ.พญ.พิณทิพย์ งามจรรยาภรณ์ สาขาวิชาโรคภูมิแพ้อิมมูโนวิทยาและโรคข้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า “อีกหนึ่งกลุ่มโรคเรื้อรังที่มีจำนวนผู้ป่วยไทย เพิ่มมากขึ้นในทุกปีนั่นคือโรคแพ้ภูมิตัวเอง โรคแพ้ภูมิตัวเองคือโรคที่ร่างกายของผู้ป่วยมีการทำงาน ของระบบภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ และทำลายอวัยวะภายในร่างกายตนเอง สาเหตุของโรคมาจาก 2 ปัจจัยร่วม ได้แก่”
1.พันธุกรรมเสี่ยง
2.สิ่งแวดล้อมที่เป็นปัจจัยกระตุ้น เช่น พฤติกรรมการสูบบุหรี่ และการติดเชื้อของแบคทีเรียในช่องปาก เป็นต้น
“แต่กลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองนั้น ไม่ได้มีแค่โรคพุ่มพวง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus) อย่างที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ เพราะกลุ่มโรคนี้ยังประกอบไปด้วย โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ (Rheumatoid Arthritis) โรคผิวหนังแข็ง (Scleroderma) และโรคหลอดเลือดอักเสบ (Vasculitis) โดยในแต่ละโรคนั้นผู้ป่วย จะมีช่วงอายุที่หลากหลาย โดยเฉพาะโรคพุ่มพวงที่เมื่อก่อนมักจะพบในกลุ่มผู้หญิงที่อายุน้อย แต่ปัจจุบันก็สามารถพบได้ในกลุ่มผู้ชายมากขึ้น ในระยะหลังมานี้อัตราการรอดชีวิต ของผู้ป่วยกลุ่มโรคแพ้ภูมิตัวเองเพิ่มสูงขึ้น”

“เนื่องจากการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ และแนวทางในการรักษาที่ทันสมัย การเข้าถึงการรักษายังถือว่าค่อนข้างจำกัด เนื่องจากจำนวนของแพทย์เฉพาะทางโรคแพ้ภูมิตัวเอง ยังมีไม่เพียงพอที่จะรองรับการรักษา ของคนไทยทุกพื้นที่ทั่วประเทศ รวมถึงปัจจัยด้านค่าใช้จ่ายที่มีราคาสูง โดยเฉพาะกลุ่มผู้ป่วย ที่ไม่ตอบสนองต่อยา ที่อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติ และจำเป็นต้องใช้สารชีวภาพ (Biologic Agents)”

ขณะที่ พรทิพย์ ผู้ประกอบอาชีพรับเหมาก่อสร้าง หนึ่งในผู้ป่วยโรคหลอดเลือดอักเสบ ที่ได้รับการสนับสนุนด้านค่าใช้จ่าย ในการรักษาพยาบาล จากมูลนิธิรามาธิบดีฯ กล่าวว่า “ในช่วงปี 2553 เริ่มมีอาการปวดตาข้างซ้าย จึงไปหาหมอที่โรงพยาบาลจังหวัดนครสวรรค์ แต่อาการดีขึ้นแค่ช่วงหนึ่งก็กลับมาปวดตาอย่างรุนแรง จึงถูกส่งตัวมารักษาต่อที่ โรงพยาบาลรามาธิบดี คุณหมอวินิจฉัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดอักเสบ ตอนนั้นมีก้อนเนื้อบริเวณหลังตา จึงต้องผ่าตัดเพื่อนำก้อนเนื้อและลูกตาออก หลังจากนั้นก็พบอาการผิดปกติ ที่หลายอวัยวะ”

“จึงทำให้ต้องรักษาอย่างต่อเนื่อง ที่โรงพยาบาลรามาธิบดีตลอด 10 ปี โดยได้เข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 10 ครั้ง ช่วงที่ต้องนอนรักษาตัวที่โรงพยาบาลไม่มีรายได้เลย แต่โชคดีที่ได้รับเงินทุนช่วยเหลือ จากมูลนิธิรามาธิบดีฯ ช่วยแบ่งเบาภาระค่ารักษาพยาบาลเกือบทั้งหมด ภายหลังการรักษารู้สึกเหมือนได้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานของโรคร้าย แม้จะเหลือดวงตาขวาเพียงข้างเดียว แต่ก็ดีใจที่ยังมีชีวิต มีโอกาสได้ใช้เวลากับครอบครัวและหลานรัก ทุกวันนี้ยังคงเดินทางมาติดตามอาการที่โรงพยาบาลรามาฯ ขอขอบคุณคุณหมอและพยาบาลที่โรงพยาบาลรามาฯ ที่ให้ความช่วยเหลือและให้การรักษาอย่างเต็มที่ รวมถึงให้กำลังใจอย่างดีมาโดยตลอด ทำให้รู้สึกว่าไปโรงพยาบาลไหน ก็ยังไม่ดีเท่าโรงพยาบาลรามาธิบดี”

เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ “การให้” ที่ยิ่งใหญ่ ร่วมบริจาคกับมูลนิธิรามาธิบดีฯ

ชื่อบัญชี มูลนิธิรามาธิบดี โครงการเพื่อผู้ป่วยยากไร้

ธนาคารกสิกรไทย เลขที่ 879-200448-3
ธนาคารไทยพาณิชย์ เลขที่ 026-3-05216-3
ธนาคารกรุงเทพ เลขที่ 090-3-50015-5

Related Posts

Send this to a friend