HUMANITY

“กัณวีร์” จี้รัฐไทยทบทวนแนวทางการรับมือกับคลื่นมนุษย์โรฮิงญา

ถึงเวลายกระดับการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยให้ไทยเป็นศูนย์กลางมนุษยธรรมอาเซียน เผยมีเรือโรฮิงญา กว่า 200 ชีวิต ถูกทิ้งกลางทะเลยังไม่รู้ชะตากรรม

นายกัณวีร์ สืบแสง ประธานยุทธศาสตร์และรองหัวหน้าพรรคเป็นธรรม เปิดเผยถึงกรณีปัญหาการอพยพของชาวโรฮิงญา ที่ล่าสุดมีข่าวการพบศพ ของชาวโรฮิงญา 13 ศพ ทางตอนเหนือของเมืองย่างกุ้งเมื่อ 4-5 วันก่อน และต่อมามีข่าวเรือ 3 ลำบรรทุกชาวโรฮิงญามากกว่า 200 คน โดยมีจุดหมายที่มาเลเซีย ทั้งนี้ 1 ลำถูกทางการเมียนมาจับ อีกสองลำมีสัญญาณแถวเกาะนิโคบาร์ ในมหาสมุทรอินเดีย แต่ยังไม่สามารถติดต่อได้ แต่เท่าที่ทราบพบว่ามีคนในเรือเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 20 คน

นายกัณวีร์ ระบุว่า นี่แสดงให้เห็นถึงการดิ้นรนทุกวิถีทางในการหลบหนีออกจากบ้านเกิดเมืองนอนของชาวโรฮิงญา โดยมีจุดหมายปลายทางคือการลี้ภัยออกนอกประเทศเมียนมา

“ยังไงอยู่ก็ตาย หนีออกไปตายเอาดาบหน้าดีกว่า นี่น่าจะเป็นการอุปมาอุปมัยที่ตรงสุดแล้วมั้งครับ ของสถานการณ์ชาวโรฮิงญาในเมียนมา”

นายกัณวีร์ เปิดเผยว่า ชาวโรฮิงญากว่าล้านคนหนีตายโดยลี้ภัยไปเมืองคอกซ์บาซาร์ ประเทศบังคลาเทศ เริ่มตั้งแต่ปี 2017 ซึ่งในปี 2018 ตนเองยังทำงานกับสหประชาชาติในค่ายผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญาที่คอกซ์บาซาร์ ได้ดูแลช่วยเหลือ และสังเกตการณ์การลี้ภัยจากฝั่งเมืองมองดอร์ รัฐยะไข่ ของเมียนมา มายังบังคลาเทศ และได้เฝ้าติดตามผู้ที่ตัดสินใจกระโดดหนีจากค่ายไปขึ้นเรือประมงเพื่อล่องผ่านมหาสมุทรอินเดียผ่านไปยังไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย อยู่อย่างสม่ำเสมอ

“ช่วงปี 2019 – ธันวาคม 2021 ที่ผมทำงานในเมียนมาดูแลชายแดนติดกับไทยทั้งหมดได้ทราบว่า หลายหมื่นคนและอาจถึงแสน เลือกเส้นทางการเดินเรือเพื่อลี้ภัยโดยผ่านมหาสมุทรอินเดีย ผ่านน่านน้ำไทยบ้าง โดยมีจุดหมายปลายทางที่อยากไป คือ มาเลเซียและอินโดนีเซีย และอีกหลายพันคนเลือกที่จะใช้เส้นทางทางบกจากรัฐยะไข่ ผ่านอิรวดี เข้ามายังย่างกุ้ง และพยายามออกจากเมียนมาผ่านรัฐกระเหรี่ยงสู่ไทยผ่านช่องทางเมียวดี-แม่สอด จ.ตาก หรือช่องทางผ่านทางธรรมชาติบริเวณนี้ หากแต่ภายหลังการจับกุมเยอะขึ้น เลยตัดสินใจเบี่ยงเส้นทางลงมายังรัฐตะนาวศรี เพื่อข้ามเรือผ่านเกาะสอง-ระนอง ยังไงก็โดนจับครับ และหลายครา โดนส่งกลับรัฐยะไข่ทางบก และหลายครั้งทางเรือของทหารเรือเมียนมา”

นายกัณวีร์ เห็นว่าการแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืนในเวลาอันสั้น คงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสถานการณ์การเมืองในเมียนมา สิ่งที่ทำได้คือการรับมือกับปัญหาผู้ลี้ภัย

“ยังไงพวกเขาก็มาครับ ไม่ว่าจะเสี่ยงตายจากการเดินทางอย่างไร พวกเขาก็คิดรอบคอบแล้วว่าดีกว่าที่จะอยู่ที่บ้านเกิดเมืองนอนแล้วถูกกระทำชำเราทั้งจิตใจและร่างกาย หากไม่ตาย ก็เหมือนตายทั้งเป็น เป็นใครใครก็ตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้าอย่างน้อยชีวิตนี้เลือกตายเอง ยังดีกว่าถูกบังคับกดขี่ให้ตายอย่างมิใช่มนุษย์”

นายกัณวีร์ ระบุว่าหากปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องรับมือกับคลื่นมนุษย์โรฮิงญาที่จะมาทางเรือไทย จึงควรรีบใช้จังหวะนี้ในการเป็นผู้นำในการรับมือกับโรฮิงญาที่มาทางเรือ โดยใช้กระบวนการที่เรียกว่า regional burden sharing approach หรือกระบวนการแบ่งเบาภาระในภูมิภาค ซึ่งต้องจัดให้เป็นวาระแห่งภูมิภาคอย่างเป็นทางการ มิใช่เป็นแค่การหารือทวิภาคีแบบปิด (low profile bi-lateral discussions) ซึ่งจริงๆ แล้วมีการพูดคุยกันแบบปิดนี้ระหว่างหน่วยราชการระหว่างประเทศที่มีผลกระทบจากปัญหามานานแล้ว

นายกัณวีร์ ย้ำว่าประเทศไทยสามารถนำการสร้าง official dialogue พูดคุยเรื่องนี้ระหว่างประเทศผู้มีส่วนได้เสีย ได้เลยอย่างเป็นทางการ และใช้เพียงสามประเทศ (ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย) ก่อนก็ยังได้ ให้ดูแลตามหลักมนุษยธรรม เพราะมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพเท่ากัน สามารถให้ความช่วยเหลือให้พวกเขามีชีวิตรอด และนำศักยภาพชาวโรฮิงญามาพัฒนาประเทศไปร่วมกันอย่างถูกต้อง รอจนกว่าจะสามารถหาทางแก้ไขปัญหาแบบยั่งยืนและดีที่สุดได้

“ยังไงพวกเขาต้องเดินทางมา ช่วยรักษาชีวิตคนแล้วนำมาพัฒนาประเทศร่วมกัน นำวาระนี้ไปพูดคุยใน regional dialogue ของประเทศผู้มีส่วนได้เสียให้ช่วยกันแบ่งเบาภาระนำคนมาร่วมพัฒนาประเทศไปพร้อมกัน พร้อมกับการให้ชีวิตใหม่กับคนที่หนีตายมา จะทำให้ทั้งงานมนุษยธรรม งานพัฒนา และงานความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของทุกประเทศพัฒนาขึ้นในทางบวก และจะเป็น best practice ต่อไป” นายกัณวีร์ กล่าวย้ำ

Related Posts

Send this to a friend