HUMANITY

แรงงานพม่าในไทย เรียกร้องคุ้มครองแรงงาน ข้ามชาติ ขอภาครัฐไทย ดูแลสวัสดิการแรงงานพม่า

กลุ่มแรงงานพม่าในไทย รวมตัวหน้าสถานทูตเมียนมา เนื่องใน “วันแรงงานข้ามชาติสากล” เรียกร้องสิทธิตามอนุสัญญาคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ขอภาครัฐไทย ดูแลสวัสดิการแรงงานพม่า – ดำเนินคดีกับนายหน้าที่ลวงไปค้ามนุษย์

วันนี้ (19 ธ.ค. 65) เวลา 14.00 น. บริเวณด้านหน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา กลุ่ม Bright Future หรือ กลุ่มแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย รวมตัวกัน เนื่องในโอกาสวันแรงงานข้ามชาติสากล (International Migrants Day) ซึ่งเป็นวันที่องค์การสหประชาชาติได้จัดทำอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990 ประกาศให้ทุกวันที่ 18 ธันวาคม เป็นวันแรงงานข้ามชาติสากล เพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่าง ๆ ได้รับการคุ้มครองทั้งสิทธิมนุษยชน และสิทธิแรงงาน รวมถึงได้รับการปฏิบัติที่ดีจากรัฐบาล และภาคส่วนภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งประเทศต้นทาง และประเทศปลายทาง โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ

โดย กลุ่มแรงงานชาวพม่าในประเทศไทย มีการร้องเพลงปลุกใจ พร้อมกับตะโกนชื่อพรรค NLD และชูรูปของ ออง ซาน ซูจี ประธานพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (NLD) กับนายพล ออง ซาน บิดาของนางอองซานซูจี

นอกจากนี้ ยังมีการตะโกนขับไล่ พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พร้อมคืนประชาธิปไตยให้กับประชาชนชาวพม่า และปล่อยตัวนักโทษทางการเมืองที่ถูกจับกุม

ทั้งนี้ กลุ่มแรงงานเมียนมาในประเทศไทย ได้อ่านแถลงการณ์หน้าสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา โดยมีข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้

1.ให้ตำรวจไทยดำเนินคดีกับบริษัทนายหน้าผู้ทุจริตหลอกลวงตามกฎหมายอาญามาตรา 344 อย่างตรงไปตรงมา และกระทรวงแรงงานต้องเข้าช่วยเหลือเยียวยาแรงงานที่ตกเป็นเหยื่อโดยเร็ว รวมถึงสำนักงานตำรวจแห่งชาติจะต้องไม่ปล่อยให้มีขบวนการข่มขู่แรงงานด้วยกฎหมายเพื่อทำการเก็บสวย หรือกระทำการนอกเหนือจากหน้าที่ และทำความถูกต้องในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งอยู่ได้ความรับผิดชอบของเจ้าหน้าที่

2.กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานต้องมีการช่วยเหลือทางกฎหมาย จัดหาทนายให้ในการฟ้องร้อง พนักงานตรวจแรงงานต้องให้ข้อมูลกับแรงงาน อย่างครบถ้วนเพื่อให้แรงงานสามารถเรียกสิทธิประโยชน์ได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ รวมไปถึงการจัดให้มีการช่วยเหลือค่าเดินทางเพื่อให้คนทำงานได้เข้า ถึงกลไกกฎหมายแรงงานได้ง่ายยิ่งขึ้น และเพื่อให้คนทุกกลุ่มได้รับสิทธิแรงงานกับผลประโยชน์ต่าง ๆ รวมถึงประกันสังคมและเงินบำนาญตามการ คุ้มครองตามกฎหมายไทยอย่างไม่เลือกปฏิบัติ

3.ในระยะยาว กรมจัดหางานต้องแก้ไขปัญหาการหลอกลวงไปค้ามนุษย์ด้วยการทำสัญญาจ้างแบบรัฐต่อรัฐ รวมถึงยกเลิกระบบนายหน้าเอกชนพร้อม จัดหาการช่วยเหลือด้านภาษา และทำระบบการร้องเรียนแบบที่เดียวจบ หรือ One Stop Service โดยไม่ผลักภาระให้ผู้ร้องเรียนต้องเดินเรื่องไปกระทรวงต่างๆ หลายแห่งหรือหลายครั้ง เร่งทำกระบวนการเอกสารให้เรียบง่าย มีค่าธรรมเนียมที่ย่อมเยา และทำบริการของรัฐให้เข้าถึงได้จริง

4.เอกสารที่จำเป็นต่อการจ้างงานแรงงานข้ามชาติไม่ควรต้องรวมกับพาสปอร์ต เนื่องจากการแสดงตนซ้ำซ้อนกับเอกสารอื่น ๆ อย่างใบอนุญาตทำงาน นับเป็นการสร้างอุปสรรคทางเอกสารโดยไม่จำเป็น สถานทูตต่าง ๆ จะต้องมีค่าธรรมเนียมที่โปร่งใส และมีราคาที่ย่อมเยา ช่วยให้แรงงานเข้าถึง และดำรงสถานะถูกต้องตามกฎหมายได้ง่ายยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เข้าถึงการคุ้มครองตามกฎหมายได้อย่างตรงไปตรงมาอีกด้วย

ในช่วงท้ายของแถลงการณ์ ระบุอีกว่า พวกเราจากกลุ่ม Bright Future ขอเรียกร้องให้เราทุกคนตั้งแต่ในภาครัฐ ภาคเอกชน ไปจนถึงเพื่อนประชาชนทุกหนแห่ง ใช้หลักการ สิทธิมนุษยชนเป็นที่ตั้ง มิใช่ความเชื่อในลัทธิชาตินิยม มองคนให้เท่ากับคนและสร้างจิตสำนึกร่วมกันว่าเราถ้วนต่างคือพี่น้องในวังวนการดิ้นรนทำงานหาเงิน มาเลี้ยงชีพเฉกเช่นเดียวกัน และเราจะไม่มีวันหลุดพ้นจากปัญหา หากเราไม่ผนึกกำลังแล้วร่วมมือกันแก้ปัญหาไปด้วยกัน เพื่อที่สักวันหนึ่งพรมแดนจะต้องไม่ขวางกั้นความมั่นคงในปากท้องของคนทำงาน

Related Posts

Send this to a friend